ทฤษฎีใหม่ว่าด้วยที่มา ‘วงกลมนางฟ้า’

ภาพ-Dr. Stephan Getzin

“แฟรี่เซอร์เคิล” หรือ “วงกลมนางฟ้า” เป็นปรากฏการณ์ลึกลับที่ยังหาข้อสรุปที่แน่ชัดไม่ได้ ปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้เคยได้รับความสนใจและกลายเป็นเรื่องร่ำลือกันอย่างมากเมื่อครั้งที่เกิดขึ้นกับท้องทุ่งกว้างใหญ่ในประเทศนามิเบียบนภาคพื้นทวีปแอฟริกาก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการที่เข้าไปตรวจสอบสันนิษฐานสาเหตุกันไปต่างๆ นานา มีบางคนเชื่อว่าเกิดจากมดหรือปลวกในดินที่กัดแทะรากของหญ้าออกไปเป็นวงกลมทำให้หญ้าตายจนเหลือเพียงพื้นดินโล้นๆ บางทฤษฎีระบุว่าเกิดขึ้นสืบเนื่องจากก๊าซพิษใต้พื้นดิน หรือสภาพขาดสารอาหารของพืชในดินที่เป็นสาเหตุให้เกิดวงกลมนางฟ้าขึ้น

แต่ข้อสรุปจากนักวิชาการทั้งหลายล้วนมีข้อโต้แย้งให้ถกเถียงกันตลอดมา

ดังนั้น เมื่อเกิดปรากฏการณ์วงกลมนางฟ้าขึ้นที่เมืองนิวแมน เมืองเล็กๆ ในเขตพิลบาราทางตะวันตกของประเทศออสเตรเลียเมื่อปี 2014 ที่ผ่านมา ดร.สเตฟาน เกตซิน ผู้เชี่ยวชาญด้านแบบจำลองทางนิเวศวิทยาจากศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อม เฮล์มโฮลทซ์ในประเทศเยอรมนี จึงได้รับเชิญจากท็อดด์ อีริคสัน และบราววิน เบลล์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมจากสำนักงานริเริ่มเพื่อฟื้นฟูธนาคารเมล็ดพันธุ์แห่งออสเตรเลียให้เข้ามาร่วมตรวจสอบและทำวิจัยอย่างละเอียด ผลของการศึกษาวิจัยครั้งนั้นเพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการของสมาคมเพื่อกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกาเมื่อเร็วๆ นี้

“วงกลมนางฟ้า” คือปรากฏการณ์ที่เกิดสภาพโล่งเตียนของผืนหญ้าเป็นวงกลมขนาดใหญ่จำนวนมากกระจายไปทั่วท้องทุ่ง อย่างไรก็ตาม การกระจายตัวดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นโดยไร้ระเบียบ แต่เรียงตัวกันในลักษณะรูปหกเหลี่ยมอย่างน่าทึ่ง ลักษณะการเรียงตัวแบบพิเศษดังกล่าวนั้นมองไม่เห็นจากพื้นดิน แต่พบเห็นได้ทันทีหากตรวจสอบจากระดับสูงด้วยเครื่องบิน ผืนดินที่แห้งผากไร้ต้นไม้ใบหญ้าขึ้นแม้แต่ต้นเดียวเหล่านั้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 4 เมตรไปจนถึง 7 เมตร แต่ละวงอยู่ห่างจากกันราว 10 เมตร

Advertisement

นำ1

ดร.เกตซินกับทีมวิจัยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ตรวจสอบพื้นที่ 3 จุดใกล้กับเมืองนิวแมนอย่างละเอียด มีการเก็บตัวอย่างดิน วัดอุณหภูมิ และตรวจสอบแนวการซึมของน้ำใต้ดิน นอกจากนั้นยังวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศและสร้างแบบจำลองในคอมพิวเตอร์ขึ้นเพื่อตรวจสอบภูมิทัศน์โดยรอบ

ข้อสรุปที่ได้กลายเป็นทฤษฎีที่มาของ “วงกลมนางฟ้า” ที่เป็นทฤษฎีใหม่โดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ทีมวิจัยเชื่อว่ารูปแบบของวงกลมและการจัดเรียงตัวเป็นรูปหกเหลี่ยมดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นจากการปรับตัวของพืชที่มีสาเหตุมาจากการแย่งน้ำที่ขาดแคลนอย่างหนักนั่นเอง

Advertisement

ทีมวิจัยพบว่าวงกลมนางฟ้าที่ออสเตรเลียเกิดขึ้นในดินที่มีสภาพเป็นทรายร่วน ซึ่งปกคลุมอยู่บนแผ่นดินเหนียวแน่นแข็งที่น้ำซึมผ่านได้ยากมาก ดังนั้นจึงไหลแผ่ไปรวมตัวกันอยู่ในจุดที่พืชสามารถหยั่งรากได้ ที่ต่อมากลายสภาพเป็นวงกลมเพราะได้ประโยชน์จากรากพืชที่ดักเก็บน้ำฝนเอาไว้ ส่วนใจกลางยังคงเป็นผืนดินแห้งโล้นเพราะเมล็ดพืชไม่มีโอกาสงอกในบริเวณดังกล่าวเนื่องจากร้อนจัดเกินไปและแน่นแข็งเกินไป บางครั้งอุณหภูมิสามารถสูงถึง 75 องศาเซลเซียส

ทีมวิจัยเชื่อว่าสภาพแบบเดียวกันเกิดขึ้นที่นามิเบีย แม้ว่าดินที่นั่นจะซึมน้ำได้ดีกว่า แต่ลักษณะการซึมแผ่เป็นวงกลมเช่นเดียวกันนี้เกิดขึ้นที่ใต้ดิน แทนที่จะเป็นผิวดินเหมือนที่ออสเตรเลีย

ทีมวิจัยตัดประเด็นเรื่องปลวกและมดออกไป เพราะที่ออสเตรเลียไม่พบปลวกและมดในวงกลม จอมปลวกมีบ้างแต่กระจายไม่เป็นรูปแบบเหมือนกับการกระจายตัวของวงกลมนางฟ้า

และแน่นอน ไม่พบการเกิดก๊าซพิษหรือสภาวะสารอาหารพืชกระจุกตัวแต่อย่างใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image