นับวันยิ่งแรง!! ‘ศาลเตี้ย’ ในบ้าน ‘ฝันร้าย’ ของ ‘ผู้หญิง’

เป็นเรื่องที่ “สะเทือนใจ” เป็นอย่างมาก กับกรณี “หนุ่มไลฟ์สดซ้อมแฟนสาว” ที่แสนทารุณโหดร้าย สุดท้าย ตำรวจจะสามารถช่วยสาวผู้เคราะห์ร้ายได้ และจับกุมแฟนหนุ่ม จนนำมาสู่การดำเนินคดีในที่สุด

นับเป็น “ความรุนแรง” ที่หลายคนถึงกับบอกว่า “รับไม่ได้”

ดังเช่น ป้ามล-ทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก เยาวชน สตรี ที่ถึงกับเอ่ยปากว่า “ทนดูคลิปวิดีโอได้เพียงบางส่วน” เท่านั้น

“มันป่าเถื่อน” ป้ามลระบุ และว่า

Advertisement

“เรื่องแบบนี้ในความศิวิไลซ์ของบ้านเมือง มันมีได้อย่างไร ที่สำคัญคือเขากล้าที่จะให้ผู้อื่นรับรู้ ไม่ได้ทำในที่มิดชิดเป็นส่วนตัว แต่กล้าที่จะประกาศ ก็เหมือนว่าชุดความคิดของเขาอันตรายมาก แน่นอนว่าเขาอาจถูกกระทำด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ประเทศและสังคมก็มีกติกาการอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่มาเลือกที่จะพรากชีวิตหรือทำร้ายเขา ที่สำคัญเลือกที่จะให้สาธารณะรับรู้ ซึ่งเป็นเพาเวอร์ฟูลอย่างมาก”

จากกรณีดังกล่าว ป้ามลสะท้อนว่า จริงๆ เราต้องเข้าใจว่าการมีความสัมพันธ์กับใครสักคนหนึ่ง มันก็เป็นเส้นของความสัมพันธ์เท่านั้น ไม่ใช่เส้นของการเป็น “เจ้าของชีวิต” ดังนั้น หากมีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาในชีวิตของผู้ชายคนหนึ่ง เราก็ต้องยอมรับว่าในวันที่เขาจะเดินไปจากชีวิตของเรา เขาก็ย่อมทำได้เหมือนกัน ส่วนจะมีอะไรที่มันติดค้างกัน ที่เรารู้สึกว่ามันไม่แฟร์กับเรา เราก็ต้องใช้กฎหมาย ใช้การเจรจา ใช้ผู้ใหญ่ของแต่ละฝ่าย ไม่ใช่การทำร้ายชีวิตของเขา ทำแบบ “ศาลเตี้ย” ในยุคที่เรามีกระบวนการยุติธรรมแบบนี้

“ดิฉันไม่เคยเชื่อว่าความรุนแรงสามารถแก้ปัญหาได้ ยิ่งมาเจอคลิปนี้ ไม่ได้ดูจบหรอก ดูแค่เห็นน้องผู้หญิงแล้วรู้สึกว่า ตายแล้ว มันเกิดขึ้นได้ยังไง ซึ่งเธอต้องถูกเยียวยาอย่างหนัก เพราะมันน่ากลัวมาก เป็นฝันร้ายที่ต้องช่วยกันจากนี้ เพราะไม่ใช่แผลกายเท่านั้นที่จะรักษาให้หาย แต่ยังมีแผลใจที่ต้องฝันร้ายไปอีกนานมากจากเหตุการณ์นี้” ป้ามลทิ้งท้าย

Advertisement
ทิชา ณ นคร

ด้าน อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Angkhana Neelapaijit” ว่า สะเทือนใจกับข่าวความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ล่าสุดกรณีการ live การทำร้ายผู้หญิงเผยแพร่ทางสื่อสังคม ทำให้เห็นว่าปัญหาความรุนแรงทางเพศสภาพ (Gender Based Violence- GBV) ในสังคมไทยไม่มีทีท่าจะลดลง แต่ดูเหมือนจะร้ายแรงมากขึ้น

“ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ การทำให้ผู้เสียหายเกิดความหวาดกลัว ความอับอาย หรือถูกทำให้เป็นคนผิด”

อังคณาระบุว่า ที่ผ่านมาความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) หรือความรุนแรงทางเพศสภาพ (GBV) มักถูกมองเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องครอบครัว เป็นปัญหา “ลิ้นกับฟัน” ไม่ใช่เป็นปัญหาสังคม ทั้งที่เรื่องนี้เป็นปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่สังคมต้องรับผิดชอบและร่วมกันแก้ไข ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้หญิงเผชิญกับความรุนแรงโดยลำพัง หรือถูกทำให้เป็นคนผิดเพราะ “นอกใจผัว” “ไม่เชื่อฟังผัว” หรือ “ไม่รักผัว” ยืนยันว่า “การรัก หรือเลิกรัก” ไม่สามารถใช้เพื่อความชอบธรรมในการทำร้ายผู้หญิงได้ ผู้หญิงมีสิทธิรัก และเลิกรัก มีสิทธิในเนื้อตัวและร่างกายของตัวเอง ไม่สามารถอ้างเหตุผลใดเพื่อความชอบธรรมในการทำร้ายผู้หญิง

อังคณายืนยันว่า ความรุนแรงทางเพศสภาพไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ เรื่องนี้พนักงานสอบสวนต้องดำเนินคดีเพื่อนำคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย (ทั้งความผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯ และการทำร้ายร่างกายและจิตใจ) การเสพสารเสพติดไม่ใช่เหตุผลที่จะอ้างในการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง สิทธิที่จะรักและเลิกรัก เป็นสิทธิของผู้หญิง

“อยากเห็นรัฐบาลและสังคมไทยไม่อดทนกับความรุนแรงที่เกี่ยวกับเพศสภาพทุกรูปแบบอีกต่อไป อยากเห็นผู้เสียหายได้รับการเยียวยาและฟื้นฟูอย่างเหมาะสม อยากเห็นสังคมพร้อมยืนเคียงข้างผู้เสียหาย”

อังคณา นีละไพจิตร

ขณะที่ สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม เผยถึงสถานการณ์ความรุนแรงที่ผู้ชายหึงหวงและทำร้ายผู้หญิงอย่างทารุณมีมากมายในสังคมไทย ที่เป็นข่าวก็มาก ที่ไม่เป็นข่าวก็เยอะ มีทุกสาขาอาชีพ รวมถึงคนจนคนรวย ที่ผ่านมา รูปแบบการทำร้ายมีทั้งต่อว่าให้อับอาย ประจานให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ไปจนถึงทุบตี สาดน้ำกรด ทำให้เสียโฉม เผาทั้งเป็น และร้ายแรงที่สุดคือทำให้เสียชีวิต

“ความรุนแรงในลักษณะนี้ นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ยิ่งมีปัจจัยกระตุ้น ยิ่งน่าเป็นห่วง

“นอกจากนี้สังคมยังตัดสินผู้หญิงจากคำพูดของผู้ชาย อยากให้สังคมมีสติในการรับข้อมูล อย่าเพิ่งตัดสินไปก่อน เพราะเรายังไม่ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด เหตุการณ์นี้ สะท้อนให้เห็นว่า การเคารพต่อสิทธิความเป็นเพศ หรือสิทธิสตรียังมีน้อย

“แม้โซเชียลจะมีประโยชน์ในการช่วยทำให้ผู้หญิงได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที แต่ภาพที่เผยแพร่ออกไปทางโซเชียลถือว่าเกินไป ถือเป็นการซ้ำเติมเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า”

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง

ปิดท้าย จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ปกติเวลาผู้ชายทำร้ายผู้หญิง ส่วนใหญ่จะไม่เปิดเผย จะเลือกทำให้พื้นที่อำนาจของเขาที่สามารถทำอะไรก็ได้ อาทิ บ้านของตัวเอง อย่างเคสนี้ที่มีความหึงหวง พูดด่า และความโกรธ ก็จะคล้ายกันกับเคสอื่นๆ ที่เริ่มจากความหึงหวง แต่ด้วยปัจจัยร่วมอย่างการเสพยาและดื่มแอลกอฮอล์ ก็อาจยิ่งทำให้เขาควบคุมอารมณ์ความโกรธไม่ได้ จึงไลฟ์สดทำร้ายร่างกายแฟนออกมาดังกล่าว

“ผู้กระทำมีความหึงหวง พูดด่า และโกรธ ซึ่งเป็นสิ่งผู้ชายทุกคนที่มีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ก็ฝากให้เป็นอุทาหรณ์ว่าความรุนแรงไม่ดีหรอก”

นายจะเด็จกล่าวอีกว่า เคสนี้ดีอย่างหนึ่งคือ มีการแจ้งเบาะแสและเข้าไปจัดการอย่างรวดเร็ว แต่ก็อยากให้เข้าใจว่า ความรุนแรงในครอบครัวทั่วไป ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หนักขึ้น และอาจนำไปสู่การฆ่ากันจริงๆ ตรงนี้ตนกังวลกว่า จึงอยากฝากคนในสังคมหากพบเห็นการทะเลาะและทำร้ายกันในครอบครัว ต้องรีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องรีบเข้าไปแทรกแซง ช่วยเหลือทันที

“อย่าเพียงดูแล้วจบกันไปเท่านั้น” จะเด็จทิ้งท้าย

จะเด็จ เชาวน์วิไล
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image