ขบคิดผู้หญิง ‘โนบรา’ การแต่งกายมีปัญหา? หรือ ‘ปิตาธิปไตยฝังรากลึก’!

ขบคิดผู้หญิง 'โนบรา' การแต่งกายมีปัญหา? หรือ 'ปิตาธิปไตยฝังรากลึก'!

ขบคิดผู้หญิง ‘โนบรา’ การแต่งกายมีปัญหา? หรือ ‘ปิตาธิปไตยฝังรากลึก’!

แม้โลกจะเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าไปอย่างไร แต่แนวคิด ‘ปิตาธิปไตย’ หรือ ‘ชายเป็นใหญ่’ ก็ยังทรงอิทธิพลมาก ได้ครอบงำ แทรกซึม เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในแทบจะทุกมิติในชีวิตเรา เช่น การเมือง กฏหมาย ศาสนา ค่านิยม หรือแม้แต่ ‘วิธีคิด’ ของทั้งเพศชายเพศหญิง และเพศอื่นๆ เป็นต้น

เมื่อผู้ชายเปรียบได้ดั่งจุดศูนย์กลางของโลก เป็นผู้กุมอำนาจ กำหนดโครงสร้างทางสังคม และจำกัดสิทธิพิเศษต่างๆ ในขณะที่ผู้หญิง คือ ผู้ที่ตกอยู่ใต้อำนาจ ทว่าได้นำไปสู่ความขัดแย้งทางความคิดในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในคนรุ่นใหม่ที่มักตั้งคำถามถึงจารีต ประเพณี หรือวัฒนธรรม ที่ถูกส่งต่อกันมาว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วจริงหรือ?

 

สังคมตีตรา ‘โนบรา’ ต่อสู้เชิงวัฒนธรรม

Advertisement

หนึ่งในนั้นคือ ‘การแต่งกายของเพศหญิง’ เกี่ยวกับประเด็น ‘โนบรา’

ด้านหนึ่งมองว่าเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล การไม่สวมบรา ทำให้ผู้หญิงรู้สึกสบาย หรือดูดีมากกว่าเมื่อไม่ต้องสวมใส่กับบรา ทั้งที่ ‘หัวนม’ คือส่วนหนึ่งของร่างกายมีทั้งชายและหญิง ทำไมหัวนมของผู้ชายถึงเป็นที่ยอมรับได้ในสังคม แต่ผู้หญิงต้องปกปิดไม่ให้ใครเห็น

แต่อีกด้านมองว่าอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวผู้หญิง และยังขัดกับจารีตประเพณี ที่สอนผู้หญิงไทย “ต้องรักนวลสงวนตัว”

Advertisement
ภาพประกอบ

ทั้งนี้ ย้อนดูประวัติศาสตร์ ช่วงต้นของยุครัตนโกสินทร์ ผู้คนในสมัยนั้น ทั้งชาย-หญิง นิยมเปลือยท่อนบน หรือสวมเสื้อผ้าน้อยชิ้น มีหลักฐานปรากฏผ่านภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง และจดหมายเหตุลาลูแบร์

“นอกจากผ้านุ่งแล้ว ผู้หญิงก็ปล่อยตัวล่อนจ้อน มิได้สวมเสื้อชั้นในมัสลิม เพียงแต่คนมั่งมีจะใช้สไบห่ม ปัดชายสไบเฉียงไปคลุมต้นแขน แต่ลักษณะที่สุภาพคือใช้ตอนกลางของผืนคาดขนอง แล้วสอดรักแร้ปกถันเข้าไว้ แล้วตลบชายสไบทั้งสองด้านสพักไพล่ไปทั้งชายอยู่ทางเบื้องหลัง” พระนิพนธ์ฉบับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการปรับปรุงภาพลักษณ์ต่อสายตาชาติมหาอำนาจในยุคนั้น การแต่งกายของคนในสังคม จึงค่อยๆ แปรเปลี่ยนไปเป็นแบบตะวันตกมากยิ่งขึ้น อย่างการแต่งกายของผู้หญิงไทยในช่วงเวลาดังกล่าว ได้รับอิทธิพลมาจากสุภาพสตรีชนชั้นสูงในวัฒนธรรมอังกฤษ ‘วิคตอเรียน’ ที่นิยมสวมเสื้อมิดชิด แน่นรัดตัว จับคู่กับกระโปรงยาว ทำให้ผู้หญิงต้องหาผ้ามาปิดเรือนร่าง โดยเฉพาะบริเวณหน้าอก ก่อนที่ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ออกกฏหมายควบคุมการแต่งกายโดยเฉพาะ เชิงบังคับให้ไทยมีความเป็นสากลนิยมมากยิ่งขึ้น

นับแต่นั้น หน้าอกของผู้หญิงจึงเป็นของสงวนเรื่อยมา ฝังลึกเป็นค่านิยมและความเชื่อมาจนถึงคนในยุคปัจจุบัน

วิถีชีวิต
ภาพวาดในหอไตร วัดระฆัง สมัยรัชกาลที่ 1 (ภาพจาก “การแต่งกายของไทย”, 2532)
การแต่งกายแบบวิคตอเรียน
(ซ้าย) ผู้หญิงสยามกับบุตร (ขวา) ขุนนางสยาม จาก จดหมายเหตุลาลูแบร์

 

ทัศนะคนรุ่นใหม่ เข้าใจผู้ใส่จริง

ปัจจุบันผู้หญิงที่เป็นคนรุ่นใหม่หลายคน ยอมรับว่าโนบรามาได้สักพักแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่พื้นที่ปลอดภัย (Comfort Zone) เช่น ในห้องนอน ในบ้าน แทบจะโนบรา 100 เปอร์เซ็นต์ ทุกคนให้ความเห็นตรงกันถึงความโล่งสบาย ไม่อึดอัด และไม่รู้สึกเจ็บเวลาใส่นานๆ จนบางคนติดใจเริ่มกล้าโนบราออกนอกบ้าน

อย่าง เอ นักศึกษาสาว วัย 21 ปี เธอโนบราตลอดตอนอยู่บ้าน แต่เวลาออกจากบ้านจะใส่ตลอด เพราะเป็นคนมีหน้าอก เออยากให้การโนบราในผู้หญิงถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ เหมือนกับการที่ผู้ชายสามารถไม่ใส่เสื้อได้

เอ เล่าว่า จริงๆ ก็ยอมรับเหมือนกันว่า ตัวเองก็คล้อยตามไปกับความคิดที่ผู้หญิงควรใส่บรา ไม่ควรให้เห็นจุก เพราะรู้สึกไม่เซลฟ์และไม่ได้มั่นใจถ้าต้องออกไปข้างนอก

“มูฟเม้นท์นี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก และคงต้องใช้เวลา กับการทำให้ผู้หญิงรู้สึกสบายใจที่จะโนบราออกจากบ้าน ทั้งในเชิงของความปลอดภัย และความมั่นใจในรูปลักษณ์ของตนเอง อีกทั้ง ผู้ชายก็คงต้องใช้เวลาในการที่จะไม่แสดงท่าทีคุกคามทางเพศเช่นกัน ไม่ว่าจะผ่านทางการกระทำ หรือคำพูดเมื่อเห็นผู้หญิงโนบรา”

เอทิ้งท้ายว่า ทุกคนควรรู้สึกสบายใจ ไม่ว่าจะสวมใส่เสื้อผ้าอะไร และสังคมต้องไม่ตีตรา และตัดสินคนอื่นจากการแต่งตัว

ส่วนบี นักศึกษาสาว วัย 21 ปีอีกคน ก็โนบราเวลาอยู่บ้านเช่นกัน ยิ่งปีหลังๆ ที่มีโควิด-19 ชีวิตอยู่ติดบ้าน ทำให้เธอติดใจและเริ่มโนบราออกจากบ้านเป็นต้นมา

บี เล่าว่า ปกติก็ไม่ได้ชอบใส่บราอยู่แล้ว แต่ยังไม่กล้าที่จะไม่ใส่ พอมีกระแสบนโลกออนไลน์ที่พยายามจะทำให้เป็นเรื่องปกติในเรื่องนี้ มันทำให้เรารู้สึกมั่นใจขึ้น และกล้าที่จะโนบราออกจากบ้าน

“แต่ด้วยความที่ผู้หญิงทุกคนโตมาแบบที่ต้องใส่เสื้อใน ถ้าจะให้ชินกับเรื่องนี้ทันทีคงเป็นเรื่องยาก ส่วนตัวคิดว่า ยังไงผู้หญิงก็ควรจะปิดจุกเป็นอย่างน้อย มันไม่ได้ลำบากจนเกินไป อาจมีค่าใช้จ่ายนิดหน่อย แต่มันรู้สึกปลอดภัยกว่า และไม่โจ่งแจ้งจนเกินไป เพราะขนาดตัวเองที่ไม่ได้ชอบใส่บรา แต่พอเวลาเห็นจุกของคนอื่น เช่น ชาวต่างชาติ ก็ยังรู้สึกว่ามันโป๊เหมือนกัน เหมือนว่ามันถูกฝังในความคิดไปแล้ว”

“ชีวิตนี้ถ้าเลือกได้คงไม่อยากกลับไปใส่บราอีกแล้ว แต่ก็พยายามจะหยิบมาสลับใส่บ้าง เพราะเป็นห่วงเรื่องรูปทรงของหน้าอก แต่อย่างไรก็ตาม คิดว่าการแต่งตัวเป็นสิทธิของเรา แค่รู้กาลเทศะ และให้เกียรติสถานที่ก็พอแล้ว” บีกล่าวทิ้งท้าย

ภาพประกอบ

 

สังคมต้องเปิดใจ ร่วมกันแก้ไขปัญหา

ขณะที่ ซินดี้-สิรินยา เบอร์บริดจ์ บิชอพ นางแบบ และนักแสดง ในฐานะผู้ก่อตั้งนิทรรศการพลังสังคม “Don’t Tell Me How to Dress” แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า “ตั้งแต่อดีต แฟชั่นการแต่งกาย โดยเฉพาะของผู้หญิง ถูกวิวัฒนาการผ่านยุคสมัยต่างๆ มามากมาย ซึ่งผู้หญิงเป็นเพศที่ต้องคอยปรับตัวเองให้เข้ากับสังคมมาโดยตลอด การแต่งตัวของผู้หญิงเพิ่งเริ่มมามีอิสระก็ช่วงปี 1970s หรือยุคฮิปปี้ ที่ใครจะแต่งตัวยังไงก็ได้

“การโนบราอาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยแต่ในต่างประเทศมีมานานแล้ว ซินดี้มองว่ามันเป็นสิทธิของผู้หญิง ร่างกายของเขา ถ้าเราไม่ได้มองคนแค่ว่าบรากับโนบรา มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการที่เรายอมรับความแตกต่าง และยอมรับว่าคนทุกคนในสังคมไม่ว่าเพศอะไรก็ตาม ต่างก็มีสิทธิเป็นของตนเอง”

“เรื่องของการโนบราอาจต้องดูความเหมาะสม ถึงแม้ซินดี้จะทำแคมเปญ #DontTellMeHowToDress แต่ก็ให้ความสำคัญกับกาลเทศะในสถานที่ต่างๆ เช่น สถานที่ทางศาสนา และสถานศึกษา เป็นต้น  แต่สำหรับในชีวิตประจำวัน คิดว่าขึ้นอยู่กับตัวผู้หญิงมากกว่า คนอื่นจะมีปัญหากับมันยังไงก็เรื่องของเขา เป็นหน้าที่ของพวกเขาที่จะต้องจัดการกับความรู้สึกของตัวเองให้ได้ แต่สุดท้าย อย่าเอาการแต่งตัวของผู้หญิงมาเป็นข้ออ้างในการล่วงละเมิดทางเพศ”

ซินดี้มอง ‘การต่อสู้กับวัฒนธรรม’ ว่า การรณรงค์กับเรื่องที่เป็นความคิดแบบรุ่นต่อรุ่นเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะขนาดแคมเปญที่ทำขึ้น ยังโดนคนเข้าใจผิดว่าเรารณรงค์ให้ผู้หญิงแต่งตัวโป๊ ซึ่งความจริงไม่ใช่

  “ไม่ว่าผู้หญิงจะแต่งตัวแบบไหนมันก็เป็นสิทธิของเขา แม้ว่าคุณไม่ชอบ หรือมันอาจไม่ใช่รสนิยมของคุณ แต่สุดท้ายแล้วมันไม่ใช่เรื่องของคุณอยู่ดี ในการที่จะอยู่ร่วมกันในสังคม ยังไงเราก็ต้องอาศัยความใจเย็น อาศัยการให้ความรู้ บอกสิ่งที่เราอยากจะเปลี่ยน ไม่ใช่การที่จะไปโจมตีใคร ไม่ว่าจะกลุ่มอะไร คิดแบบไหน คุณก็ต้องที่จะเปิดใจรับฟังทุกๆฝ่าย อาจดูเป็นคำตอบที่โลกสวย แต่มันก็แค่นี้จริงๆ”

ซินดี้-สิรินยา เบอร์บริดจ์ บิชอพ นางแบบ และนักแสดง ในฐานะผู้ก่อตั้งนิทรรศการพลังสังคม “Don’t Tell Me How to Dress”

ซินดี้มองว่าเรื่องนี้อาจต้องใช้เวลาสักหน่อย ตัวผู้หญิงเองต้องรู้ว่าเรากำลังตัดสินใจทำอะไรอยู่ ต้องพร้อมที่จะเผชิญกับมัน พร้อมที่จะมีจุดยืนอะไรบางอย่าง และอาจต้องพึ่งความแข็งแกร่งของผู้หญิงเองด้วย เพราะมันเปลี่ยนแปลงภายในชั่วข้ามคืนไม่ได้ เรื่องของทัศนะคติมันใช้เวลานานในการเปลี่ยน แต่พอเราพูดถึงมันในวงกว้างมากขึ้น บางทีความเปลี่ยนแปลงมันก็เร็วมากขึ้น”

  “เราต้องเปลี่ยนความคิดที่มองผู้หญิงว่าเป็น sexual object for men ให้ได้ก่อน แล้วเรื่องอื่นๆ เช่น โนบรา จะตามมาเอง” ซินดี้ กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image