คึกคักต่อเนื่อง! SX 2022 วันที่ 2 นักเรียน-นักศึกษาแห่ร่วม โซนอาหารคนแน่นตลอด

คึกคักต่อเนื่อง! SX 2022 วันที่ 2 นักเรียน-นักศึกษาแห่ร่วม โซนอาหารคนแน่นตลอด

เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีการจัดงาน Sustainability Expo 2022 หรือ SX 2022 มหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่สุดในอาเซียน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 40,000 ตารางเมตรของชั้น G และชั้น LG ศูนย์สิริกิติ์ ซึ่งจัดขึ้นเป็นวันที่ 2

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศว่า ตลอดทั้งวันมีผู้คนทยอยเดินทางเข้างานอย่างคับคั่ง โดยมีทั้งประชาชนทั่วไปและนักเรียน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่สนใจเข้ามาศึกษาเรื่องของความยั่งยืน ซึ่งโซนที่ผู้คนให้ความสนใจมากที่สุดคือโซน Food Festival ที่รวบรวมร้านอาหารชื่อดังจากหลากหลายแห่งมารวมไว้ในงานเดียว นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารจากเชฟผู้เข้าแข่งขันรายการเชฟกระทะเหล็กและมาสเตอร์เชฟไทยแลนด์อีกด้วย

โดยภายในงานจะมีการจัดโซนทั้งหมด 7 โซน 8 ฮอลล์ 2 ชั้น ชั้น G ฮอลล์ 1-4 จะมีทั้งหมด 4 โซน อาทิ โซน Better World โซนเศรษฐกิจพอเพียงและแรงบันดาลใจ นิทรรศการเศรษฐกิจพอเพียงถือเป็นหัวใจของงาน SX2022 สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญ ความเกี่ยวเนื่องระหว่างองค์ประกอบและนโยบายต่างๆ ด้านความยั่งยืน โซน Better Living นำเสนอกิจกรรมและโครงการขององค์กรชั้นนำขนาดใหญ่ที่ดำเนินการเพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการยกระดับคุณภาพชีวิตที่เกิดจากการพัฒนาอย่างยั่งยืน

Advertisement

ส่วนชั้น LG ฮออล์ 5-8 ประกอบไปด้วย 3 โซนที่น่าสนใจ ได้แก่ โซน Food Festival ที่รวมเชฟชั้นนำจากรายการเชฟกะทะเหล็ก และมาสเตอร์เชฟ รวมทั้งร้านอาหารยอดนิยม มานำเสนออาหารแห่งอนาคต อาหารรักษ์โลก และอาหารสุขภาพ ในบรรยากาศของฟู้ดสตรีทจากทั่วโลก

Advertisement

ทั้งนี้ ภายในมีการจัดกิจกรรม Panel Discussion ในหัวข้อ Good Citizen : การเงินชุมชนที่เกื้อกูลกัน โดยพระอาจารย์มนัส ขันติธัมโม เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทอง และประธานกลุ่มเครือข่ายสัจจะสะสมทรัพย์ จ.จันทบุรี ร่วมพูดคุยกับ นายศิวโรฒ จิตนิยม ประธานธนาคารความดีชุมชนตำบลหนองสาหร่าย จ.กาญจนบุรี ในประเด็นเกี่ยวกับการจัดการองค์กรการเงินชุมชน ภาคประชาชน ที่มีการดำเนินการในการส่งเสริมการออมทรัพย์และให้บริการทางการเงินแก่ชุมชน และการจัดสวัสดิการของชุมชนในพื้นที่ โดยอาศัยความสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมภายในชุมชน

โดยพระอาจารย์มนัส กล่าวว่า ตนเองได้ทำการศึกษาระบบการออมทรัพย์และนำมาประยุกต์ใช้ในจังหวัดจันทบุรี โดยบอกให้ชาวบ้านเข้าใจว่าเราต้องรวมตัวกันและทำอย่างไรเราจึงจะออมเงินได้ อย่างน้อยเดือนละ 50-100 บาท จึงได้คิดและทดลองทำที่บ้านเกิดของตนเองที่อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี จากที่ปกติคนในชุมชนจะต้องนำเงินไปฝากธนาคาร จึงได้คุยกับชาวบ้านว่าให้มารวมตัวกันนำเงินมาออม ใครที่เดือดร้อนก็มายืมไปใช้อย่างเป็นระบบ โดยเป้าหมายหลักคือทำอย่างไรถึงจะทำให้คนออมได้และยามเดือดร้อยยืมไปใช้ได้ กำไรที่ได้มาแทนที่จะไปเป็นของนายทุนก็นำมาเป็นกองกลางเอาไว้ช่วยคนเจ็บป่วยในชุมชนของเรากันเอง และได้ความสามัคคีช่วยเหลือกันอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้กลุ่มสัจจะเราใช้วัดเป็นหลักในการเป็นสำนักงาน เราไม่ต้องไปตั้งสำนักงานใหม่ ตนจึงไปคุยให้ชาวบ้านฟังว่าเราไม่ต้องฝากธนาคาร โดยทดลองทำในปี 2539 เมื่อมีผลลัพธ์ที่ดีก็เริ่มมีกาาขยายผลด้วยการไปชวนชาวบ้านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากทำมา 26 ปี มีชาวบ้านเอาเงินมาออมเดือนละ 100 บาท 100,000 คน ตอนนี้ทำให้ชาวบ้านออมเงินได้กว่า 11,000,000 บาท และได้นำมาจัดเป็นระบบการออมและการยืมให้กับชาวบ้าน

ด้านนายศิวโรฒ กล่าวว่า สถาบันการเงินที่ต.หนองสาหร่ายนั้น คนเป็นเจ้าของสถาบันการเงิน ดังนั้นเมื่อทุกคนเป็นเจ้าของทุกคนจะช่วยกันดูแลและแก้ปัญหา คำว่าสถาบันการเงินชุมชนจึงเป็นของชุมชนจริงๆ เวลามีปัญหาหรือความต้องการเราจะรู้ว่าต้องการจริงหรือไม่ ใช้เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งดอกเบี้ยแพงมาก อย่างที่ต.หนองสาหร่ายนั้น ขั้นตอนการเตรียมตัวคือ 1.ได้ออมเงินไว้ที่สถาบันกาาเงินแล้วหรือยัง อย่างน้อยวันละ 3 บาทต้องออมให้ได้ 2.ปลูกผักไว้กินเองแล้วหรือยัง 3.เพื่อให้คนรู้จักตัวเอง ได้จดบันทึกรายรับรายจ่ายแล้วหรือยัง 4.ทุกคนหยอดกระปุกเพื่อเป็นสวัสดิการดูแลกันทั้งตำบลแล้วหรือยัง ปีละ 400 บาท นี่คือรูปแบบที่ให้เขาได้เตรียมตัวเพื่อที่จะเข้าสู่การดูแล ที่ต.หนองสาหร่ายเราบอกว่าคนที่จะคืนเงินกู้ได้ดีเขาจะต้องเป็นคนดีของชุมชน ดังนั้นการขอเข้าถึงแหล่งทุนด้วยการขอกู้เงินที่หนองสาหร่ายจึงใช้ความดีมาค้ำประกันเงินกู้ คือการทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวเองและคนอื่นไม่เดือดร้อนแค่นี้ก็สามารถมาค้ำประกันเงินกู้ได้

“มติของเราคนหนองสาหร่ายต้องออมเงินให้ได้วันละ 3 บาทต่อคนและต่อวัน เนื่องจากเราเก็บข้อมูลเมื่อปี 2545 เราเป็นหนี้อยู่ 80 ล้านบาททั้งตำบล 3,600 คน เรามาคิดว่าถ้าเราจะปลดหนี้ได้ด้วยตนเองเราจะต้องออมเงินอย่างไร ถ้า 1 บาทต่อคนและต่อวัน จะต้องใช้เวลา 80 ปี ชาวบ้านบอกไม่ไหวมันนานเกิน ถ้า 3 บาท ใช้เวลา 20 ปี ทุกคนมีมติเลือกที่ 3 บาท สถาบันการเงินทำกระปุกออมสินแจกทั้งตำบล เมื่อครบ 1 เดือนไปดูปรากฏว่าทำได้ครึ่งหนึ่ง 50 % อีก 50 % บอกว่าออมไม่ได้เขาบอกว่าเขาทำนากว่าจะได้เงินก็อีก 4 เดือน เพราะฉะนั้น เราต้องทำความเข้าใจใหม่ ต่อไปนี้คนหนองสาหร่ายมีรายได้เท่าไรก่อนจะจ่ายต้องออมไว้ก่อนจึงเหลือจ่าย” นายศิวโรฒกล่าว

ทั้งนี้ งาน SX 2022 จะจัดขึ้นในวันที่ 26 กันยายน- 2 ตุลาคม เวลา 10.00-21.00 น. หากใครที่สนใจเข้าร่วมงานสามารถเดินทางมาร่วมงานได้ทั้งรถโดยสารสาธารณะ รถยนต์ส่วนตัว โดยมีที่จอดรถรองรับกว่า 3,000 คัน หรือเดินทางด้วยรถไฟฟ้า MRT ลงสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ใช้ทางออกที่ 3 มีทางเชื่อมเข้าศูนย์สิริกิติ์ได้เลย รวมทั้งเดินทางได้ด้วยรถไฟฟ้า BTS ลงสถานีนานา ซึ่งจะมีรถรับส่งระหว่างสถานีนานา-ศูนย์สิริกิติ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image