นักสิทธิสตรี วิเคราะห์ ‘อุ๊งอิ๊ง’ 10 นโยบายพลิกฟื้นประเทศ แต่ไม่มีเรื่องผู้หญิง?

นักสิทธิสตรี วิเคราะห์ ‘อุ๊งอิ๊ง’ 10 นโยบายพลิกฟื้นประเทศ แต่ไม่มีเรื่องผู้หญิง?

เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ กรณี ‘อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร’ ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ประกาศ 10 นโยบายพลิกฟื้นประเทศภายในปี 2570 หากได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาล เช่น ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน, ขึ้นเงินเดือนจบปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน, บัตรประชาชนเพียงใบเดียว รับการรักษาได้ทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่าย, สถานที่สาธารณะทุกแห่งมี wifi ฟรี ฯลฯ

ได้เกิดคำถามมากมายว่าจะทำได้จริงตามนโยบายหรือไม่ และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ เธอกำลังตั้งครรภ์อยู่!

อุ๊งอิ๊งตอบคำถามอย่างน่าสนใจ การตั้งครรภ์จะเป็นอุปสรรคต่อการลงพื้นที่หาเสียงไปจนถึงวันเลือกตั้งหรือไม่

“การมีลูกคือพลังบวก สำหรับอุ๊งอิ๊งมองว่าเป็นเรื่องที่ดี ไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่ถือเป็นกำลังใจมากกว่า” 

Advertisement

ก็เรียกได้ว่า อุ๊งอิ๊งออกมาแสดงศักยภาพให้เห็นว่า ผู้หญิงไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพไหนก็สามารถทำงานการเมืองได้

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มของคนทำงานผลักดันผู้หญิงเข้าสู่แวดวงการเมือง มองเรื่องนี้อย่างไร

อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร

 

Advertisement

  10 นโยบายเอาเงินจากไหน หากไม่ปฏิรูปงบ

เรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา (GDRI) และผู้ประสานงานขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (วีมูฟ) เปิดมุมมองถึงปรากฏการณ์นี้ ว่า ในส่วนนโยบาย เชื่อมั่นว่าระดับพรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งมาจากพรรคไทยรักไทยเก่า สร้างนโยบายบางเรื่องที่มีประโยชน์ระยะยาว เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค น่าจะคิดหน้าคิดหลังมาพอสมควร เพราะมีนักการเมืองเก่าแก่มากในนั้น คงไม่ตกม้าตายง่ายๆ

  เรืองรวีตั้งคำถามเหมือนหลายคนว่านโยบายที่สร้างมา เอาเงินมาจากไหน และด้วยทำงานด้านสิทธิเด็ก และสิทธิผู้หญิงมา ทำให้เธออดมองไม่ได้ว่านโยบายข้างต้นเป็นเพียงนโยบายประชานิยม มากกว่ารัฐสวัสดิการ 

  “รู้สึกผิดหวังที่ พท.ไม่ได้แตะ หรือมีความคิดที่จะปฏิรูประบบงบประมาณ หรือการจัดสรรทรัพยากรการคลัง ที่ปัจจุบันใช้งบประมาณไม่ยุติธรรม เราทุ่มงบประมาณกับความมั่นคงของประเทศ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มากกว่างบประมาณบริการสังคม เป็นอย่างนี้มานาน และเวลานี้ควรจะเพลาลงได้แล้ว

   “จะสังเกตว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ดูแลคุณภาพชีวิตคนทุกช่วงวัยทั้งประเทศ ได้งบประมาณต่อปี 1 หมื่นกว่าล้านบาท ส่วนกระทรวงกลาโหม ได้งบประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งหากไม่ทำตรงนี้ นโยบายที่ว่ามาก็คงไม่ต่างจากเดิม ผลกระทบอาจมากกว่าด้วยซ้ำ”

อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร

  “ภาพรวมของนโยบาย มองว่า พท.ยังไม่ได้มีนโยบายส่งเสริมรัฐสวัสดิการ หรือนำไปสู่การเป็นรัฐสวัสดิการ ที่จะสร้างความยั่งยืนการดูแลเด็ก ในสถานการณ์คนท้องไม่พร้อม คนพร้อมไม่ท้อง การดูแลผู้สูงอายุที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย จะเห็นว่าการออกนโยบายนี้ไม่ได้เอาแนวคิดประชากรศาสตร์มาจับเลย ดูเพียงนโยบายที่จะตอบโจทย์โหวตเตอร์พรรค เช่น คนจบปริญญาตรี 7-8 ล้านคน ที่จะได้ขึ้นเงินเดือนเป็น 25,000 บาทต่อเดือน “

  เรืองรวียังผิดหวัง พท.ไม่พูดถึง หรือมีนโยบายที่รองรับวิกฤตและเทรนด์ใหญ่ๆ ที่จะเกิดในอนาคต เช่น ภาวะโลกร้อน จะทำอย่างไร หรือจะรับมือกับภัยธรรมชาติที่เกิดจากภาวะโลกร้อนอย่างไร วิกฤตแรงงานข้ามชาติ ที่เข้ามาทดแทนแรงงานไทย จะมีมาตรการจูงใจ ดูแล ส่งเสริมอย่างไร รวมถึงการจัดการอาวุธ การป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับฝูงชน ทั้งที่มีเหตุการณ์กราดยิงมาหลายครั้ง ตลอดจนการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก็ยังไม่มีพูดถึง

เธอสรุปในส่วนนโยบายว่า “นี่อาจเป็นการคิดเจาะจงฐานเสียงเลือกตั้ง เป็นการเมืองการตลาดชัดเจน”

 

ฝากอุ๊งอิ๊งพัฒนา-ดูแลผู้หญิง

ส่วนเรื่องอุ๊งอิ๊งตอบคำถามเรื่องตั้งครรภ์นั้น เรืองรวียอมรับว่า เป็นการตอบได้ดี

  แต่สำหรับคนทำงานด้านสิทธิผู้หญิง ช่วยเหลือผู้หญิงยากไร้ ช่วยเหลือผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรง เรืองรวีมองว่า นี่อาจเป็นการพูดเยาะเย้ยเล็กน้อย

  “อุ๊งอิ๊งบอกว่าการตั้งครรภ์เป็นพลังบวก ก็ใช่เพราะเธออยู่ในสถานะพร้อม แต่จริงๆ ผู้หญิงตั้งครรภ์อีกมากมายในประเทศไทย พวกเธอไม่เคยสัมผัสพลังบวกนี้ และไม่คิดว่าจะได้รับพลังบวก เพราะ 2-3 ปีที่ผ่านมา โควิด-19 ระบาด แม่หลายคนถูกเลิกจ้าง รายได้ลด ศูนย์เลี้ยงเด็กถูกสั่งปิด ต้องเผชิญกับความยากลำบาก ความรุนแรงในครอบครัว เหล่านี้มีแต่พลังลบหมดเลย”

เรืองรวีฉายภาพให้เห็นถึงข้อมูลเด็กแรกเกิดถึง 6 ขวบ ที่มี 4 ล้านกว่าคนทั่วประเทศไทย ครึ่งหนึ่งเป็นเด็กที่เกิดในครอบครัวยากจน มีรายได้รวมทั้งครัวเรือนไม่ถึง 1 แสนบาทต่อปี ฉะนั้นจะไม่เรียกว่าเป็นการพูดเยาะเย้ยได้อย่างไร

เธอฝากให้อุ๊งอิ๊งนำโอกาสในความเป็นผู้นำหญิง โอกาสความเป็นแม่ มีนโยบายพัฒนาและดูแลผู้หญิง ซึ่งหลายคนกำลังอยู่ในสถานะแย่ ทั้งเป็นมารดาไม่พร้อม ตกงาน เป็นแรงงานไม่ได้รับความคุ้มครอง ได้รับความรุนแรงจากสามี ที่ไม่ได้พูดถึงเลย มาใส่ใจให้ได้รับความคุ้มครอง มีหลักประกันสิทธิประโยชน์แก่ผู้หญิง นี่จะพลิกโฉมประเทศไทย

อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร

 

  เส้นทางการเมืองคล้าย ‘ยิ่งลักษณ์’

เรืองรวีแสดงความเป็นห่วงอุ๊งอิ๊ง มีลักษณะทางการเมืองคล้าย ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี คือการมีกล้ามเนื้อทางการเมืองไม่แข็งแรง

เธอยกตัวอย่างยิ่งลักษณ์สร้างกล้ามเนื้อทางการเมืองเพียง 40-60 วันก่อนการลงเลือกตั้ง ซึ่งกล้ามเนื้อทางการเมืองในที่นี้คือ การมีลูกล่อลูกชน รู้จักบริหาร หรือการมีโปรไฟล์ทางการเมือง หรือทำงานรับใช้สังคมมาก่อน เพราะงานตรงนี้ไม่ใช่งานอาสาสมัคร

“เหมือนกีฬากระโดดค้ำถ่อ ทั้งยิ่งลักษณ์และอุ๊งอิ๊งอาจกระโดดขึ้นข้ามไปได้ โดยมีพี่ชายและพ่อเป็นไม้ค้ำถ่อ แต่เมื่อลงถึงพื้น หากไม่มีเบาะรอง ซึ่งคือฐานเสียงประชาชนที่สนับสนุนเธอและนโยบายของเธอ ก็อาจแย่ได้ เมื่อความวุ่นวายและวิกฤตมาถึง” เรืองรวีกล่าว และว่า

“อุ๊งอิ๊งต้องทำงานและศึกษาการเมืองมากกว่านี้ พร้อมทั้งเห็นหัวคนอื่น อย่างกลุ่มนักการเมืองหญิงใน พท.เก่งและมีประสบการณ์ มีเยอะ เช่น นางมุกดา พงษ์สมบัติ, นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์, นางสาวจิราพร สินธุไพร ฯลฯ ต้องให้โอกาสและโปรโมทพวกเธอ

  “แต่อย่างไรก็ตาม กรณีอุ๊งอิ๊ง ไม่สะท้อนภาพผู้หญิงเข้ามาสู่การเมืองอย่างที่เราต้องการ เพราะเธอเป็นทายาททางการเมือง จริงๆ เราอยากเห็นนักการเมืองหญิงแบบ ‘จาซินดา อาร์เดิร์น’ นายกฯ นิวซีแลนด์ ที่เติบโตจากการต่อสู้ มีอุดมการณ์ของตัวเองมาตั้งแต่เป็นนักการเมืองระดับเล็กๆ ซึ่งในประเทศไทยแทบไม่ค่อยมี ส.ส.หญิงแบบนี้”

เรืองรวี พิชัยกุล

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image