อย่ากลัวเกินเหตุ!! ความรุนแรง ‘ไม่ใช่’ แค่เรื่องผัวเมีย ยื่นคำร้อง ‘ขอคุ้มครองสวัสดิภาพ’ ได้

อย่ากลัวเกินเหตุ!! ความรุนแรง ‘ไม่ใช่’ แค่เรื่องผัวเมีย ยื่นคำร้อง ‘ขอคุ้มครองสวัสดิภาพ’ ได้

หลายคนมักเข้าใจว่า “ความรุนแรงในครอบครัว” ที่สามารถเข้าไปขอความช่วยเหลือจากกระบวนการยุติธรรมได้นั้น มีเฉพาะความรุนแรงทาง “ร่างกาย” และเป็นเรื่อง “ผัวเมีย” เท่านั้น

ซึ่งก็เป็นความเข้าใจที่ “ถูกต้อง” แต่ยังไม่ทั้งหมด เพราะความรุนแรงมี “หลายรูปแบบ” ที่สามารถยื่นขอความเป็นธรรมและความคุ้มครองจากกระบวนการยุติธรรมได้

มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม จัดโครงการ การพัฒนากลไกเพื่อจัดบริการที่เป็นมิตรต่อเด็ก ผู้หญิง คนพิการ และผู้ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ให้เข้าถึงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เป็นมิตรและเป็นธรรม พัฒนาเครือข่ายผู้ก้าวข้ามความรุนแรง ทนายอาสา ฯลฯ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาศักยภาพ ผู้ก้าวข้ามความรุนแรง” ที่โรงแรมปริ๊นตัน ดินแดง กรุงเทพฯ

Advertisement

เนตินาฏ ยวงสะอาด ทนายเครือข่าย กล่าวว่า ความรุนแรงที่สามารถฟ้องศาลได้ ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องผัวเมียเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายรูปแบบของความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางกายทางเพศ และทางใจ โดยบุคคลที่กระทำเป็นได้ทั้งพ่อแม่ พี่น้อง ญาติ บุตร รวมไปถึงบุตรบุญธรรม หรือแม้แต่คนรับใช้ที่ถูกกระทำก็ถือเป็นความรุนแรงในครอบครัวได้

“ความรุนแรงที่ฟ้องศาลได้ ไม่ได้มีเฉพาะเหตุสามีทำร้ายภรรยา แต่ยังมีหลายรูปแบบ อย่างเคสบุคคลในครอบครัว เช่น พี่น้องทำร้ายร่างกายกัน หรือทำร้ายจิตใจกัน เรื่องมรดกทรัพย์สิน ถือเป็นความรุนแรงในครอบครัว เพราะมีการกลั่นแกล้งกันในครอบครัว เพื่อผลประโยชน์ในครอบครัว เป็นต้น”

Advertisement

“นอกจากนี้ ยังมีความรุนแรงที่กระทบด้านจิตใจ เช่น ใช้วาจากระแนะกระแหนกัน พูดกระทบหรือพูดเสียดสี ยกตนข่มท่าน สามีข่มภรรยาหรือภรรยาข่มสามี เป็นพฤติการณ์ที่ทำให้กระทบจิตใจ ด้วย สายตา คำพูด กิริยาต่างๆ ไม่ให้เกียรติกันต่อหน้าคนอื่น บางเคสได้รับผลกระทบถึงขั้นต้องกินยา เป็นโรคซึมเศร้าก็มี”

ความรุนแรงลักษณะเหล่านี้ ทนายเนตินาฏเผยว่า สามารถฟ้องร้องได้ หรือขอความคุ้มครองจากศาลได้ ซึ่งในกฎหมายความรุนแรงในครอบครัวฯ มีระบุไว้ว่า ห้ามมีความรุนแรงทางวาจา ทางกิริยาท่าทาง การแต่งกาย สามารถขอสิทธิคุ้มครองสวัสดิภาพได้ โดยยื่นไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วประเทศ

เนตินาฏ ยวงสะอาด

“จุดประสงค์ของการฟ้องร้องลักษณะนี้ เพื่อเยียวยาดูแลครอบครัวให้มีความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ถ้าเป็นความต้องการของครอบครัวภรรยาก็ไปขอได้ สามีก็ขอได้ ขอให้เขาหยุดการกระทำ

แบบนี้ๆ เนื่องจากกระทบกระเทือนทางด้านจิตใจของเรา ก็เป็นช่องทางที่เราสามารถใช้สิทธิได้”

เนตินาฏระบุว่า การใช้สิทธิลักษณะนี้ เป็นการใช้สิทธิ “ขอคุ้มครองสวัสดิภาพ ห้ามกระทำการแบบนี้กับเรา แล้วส่งไปบำบัด หรือฟื้นฟู และจะมีนักจิตวิทยานักสังคมสงเคราะห์ช่วยกันเป็นกระบวนการ

“ซึ่งนี่คือการพัฒนาของกฎหมายที่มีถึงขั้นนี้แล้ว จริงๆ ทำได้ แต่คนไทยไม่รู้ ไม่ใช้สิทธิ ซึ่งถ้าคนมาใช้สิทธิตรงนี้ จะทำให้กฎหมายมีการพัฒนา และพัฒนาครอบครัวให้มีความแข็งแกร่ง และเยียวยากัน อยู่กันได้”

อย่างไรก็ตาม มักมีทัศนคติว่า ถ้าดำเนินการฟ้องร้องถึงขนาดขึ้นโรงขึ้นศาลจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้กระทำมีความต้องการที่จะกระทำมากขึ้น

ต่อประเด็นนี้ ทนายเนตินาฏกล่าวว่า เป็นทัศนคติที่ไม่จริง อย่าไปกลัวเกินเหตุ เพราะมันมีวิธีการฟ้องเพื่อสถานภาพของครอบครัว เพื่อให้คนถูกฟ้องรู้สึกว่า แม้เราจะโกรธเขา เราไม่ต้องการอยู่กับเขา แต่เราต้องการให้เขาปรับปรุงตัวเพื่อสถานภาพครอบครัว เพื่อลูก เพื่อให้เขาเพิ่มความสุขของครอบครัว

“ยกตัวอย่างการคุ้มครองสวัสดิภาพ กรณีทำร้ายร่างกาย ศาลก็จะสั่งห้ามเข้าใกล้ ระยะ 100 เมตร 200 เมตร ถ้าเป็นเรื่องคำพูด ศาลจะห้ามใช้วาจาไม่สุภาพ ห้ามด่าทอ ห้ามโพสต์ข้อความ หรือห้ามไปที่ทำงานของเรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิที่เราขอไปได้ เพราะเรากระทบอยู่ และถ้าผู้กระทำฝ่าฝืนก็จะมีโทษจำคุก เพราะนี่เป็นคดีอาญา” เนตินาฏกล่าว

ด้าน สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่า การกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว มีทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายทุบตี ทางวาจา เช่น ดุด่า กีดกัน เงียบ ไม่พูด ไม่คุย ไม่ให้ไปพบใคร หรือบังคับให้กระทำเรื่องที่ผิดทำนองคลองธรรม

“การยื่นคำร้องคุ้มครองสวัสดิภาพ เพื่อนำไปสู่การที่จะให้ฝ่ายที่กระทำความรุนแรงไม่กระทำอีก และถ้ามีความรุนแรงที่เป็นปัจจัยจากเรื่องของยาเสพติดหรือภาวะอาการด้านจิตใจ ขี้โมโห ก้าวร้าว ก็อาจจะมีคำขอว่า ขอให้ศาลสั่งให้ผู้กระทำเข้ารับการบำบัด ทั้งอาการยาเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรืออารมณ์โมโหก้าวร้าวรุนแรง จากเคสที่มูลนิธิทำ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการไม่ทำร้ายทุบตี การห้ามเข้าใกล้การไม่ก่อเหตุอันตรายซ้ำ หรือการไม่นำบุคคลที่ 3 ทั้งสองฝ่ายจะไม่นำบุคคลที่ 3 เข้าบ้านก็ขึ้นอยู่สภาพของข้อเท็จจริงของแต่ละคนจะเป็นยังไง”

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง

สุเพ็ญศรีแนะนำว่า การยื่นคำร้องคุ้มครองสวัสดิภาพ ให้ไปยื่นที่ศาลเยาวชนและครอบครัวทุกจังหวัด ในท้องที่ที่มีการกระทำความรุนแรงเกิดขึ้น ผู้ถูกกระทำความรุนแรงสามารถไปขอคำปรึกษา และยื่นคำร้องเพื่อขอคุ้มครองสวัสดิภาพได้ โดยขอให้พนักงานอัยการทำคำร้องยื่นต่อศาลให้ ตรงนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ โดยเราไปหาที่สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัว ของแต่ละจังหวัดได้เลย

“การยื่นคำร้อง เราสามารถไปแจ้งเองโดยไม่มีทนายได้เลย โดยไปที่ศาลเยาวชน และเข้าไปที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์แล้วแจ้งว่าถูกทำร้ายมาอย่างไร เจ้าหน้าที่ก็จะสอบข้อเท็จจริง รายละเอียดและพิมพ์ข้อความ ซึ่งเราสามารถขอให้อัยการเขียนให้ได้ การพิจารณา ถ้าเป็นกรณีฉุกเฉิน ยื่นคำร้องวันนั้นปุ๊บ ศาลรับไต่สวน ก็จะมีคำสั่งเลย แต่ถ้าศาลดูแล้วไม่ฉุกเฉิน ศาลจะนัดภายใน 45 วัน แล้วนัดทั้งคู่มาไต่สวน และถ้าเราไม่มีทนาย ศาลก็จะทำหน้าที่ไต่สวน โดยถามรายละเอียด เราก็บอกไปตามเหตุการณ์ พอไต่สวนเสร็จ ศาลก็จะมีคำสั่งออกมา เพื่อระงับเหตุที่จะเกิดขึ้น เช่น ห้ามเข้าใกล้ โดยมีทั้งทางแพ่ง ทางอาญา ซึ่งศาลจะพิจารณาป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายซ้ำและปรับเปลี่ยนไม่ให้เกิดพฤติกรรมรุนแรงขึ้นอีก”

ปิดท้าย ทนายเนตินาฏย้ำว่า “มีหลายเคสที่ได้ช่วยเหลือ หลังศาลออกคำสั่ง พฤติกรรมของผู้กระทำดีขึ้น โดยจะมีหลากหลายพฤติกรรมทั้งผู้ชายหยุดกระทำเลย และก็อยู่กันสมานฉันท์ในครอบครัว แต่บางคู่จะแยกกันอยู่ก็ได้ เพราะมีอาวุธทำร้ายร่างกาย เขาจะก่อให้เกิดอันตราย ศาลก็ห้ามเข้าใกล้ หรือบางคู่ก็เลิกกันโดยดี”

“เคสที่ยังอยู่ด้วยกัน ก็มีความเข้าใจกันมากขึ้น เพราะเขามีการพูดคุยว่า เขามีความต้องการหรือไม่ต้องการอะไร มันต่างจากคดีฟ้องหย่า เพราะจุดประสงค์ของ พ.ร.บ.ความรุนแรงในครอบครัวตรงนี้ ช่วยรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดีขึ้น”

“กรณีแบบนี้ ในสังคมไทยมีปัญหาความรุนแรงเยอะ 70-80 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้คิดว่าเป็นความรุนแรงและไม่อยากฟ้องศาล เพราะกลัวผู้ชายจะโกรธเกลียดจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เพราะศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจะมีผู้พิพากษาสมทบ จะมีผู้พิพากษาพิจารณาคดีที่ให้ความเห็นอะไร ซึ่งเป็นการที่ให้ความรู้ทางด้านครอบครัว และช่วยปรับปรุงความต้องการ คุยกันได้ ครอบครัวดีขึ้นถ้าเราใช้สิทธิกัน เชื่อว่าความรุนแรงจะลดน้อยลง” ทนายเนตินาฏกล่าว

อีกหนึ่งสิทธิที่คนไทยควรรู้ เพื่อครอบครัวที่แข็งแรงและมีความสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image