‘แอฟริกา’ สมรภูมิใหม่ เฟซบุ๊ก VS กูเกิล

Courtesy Loon/Handout via REUTERS.

“ลูน” บริษัทย่อยในเมาเทน วิว ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่แยกตัวออกมาจากการเป็นแผนกหนึ่งของ อัลฟาเบท อิงค์. เจ้าของกูเกิลและอีกสารพัดบริษัทย่อย เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2018 และในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ก็จะเริ่มต้นการให้บริการในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในประเทศเคนยา ด้วยการจับมือเป็นหุ้นส่วนกับ เทลคอม เคนยา ผู้ให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศมีการเปิดตัวกันอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมานี่เอง

“ลูน” นั้นเดิมเป็นโครงการหนึ่งสำหรับแก้ปัญหาการให้บริการอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ซึ่ง “ยาก” หรือ “ไม่สามารถ” เข้าไปตั้งเสาสัญญาณ หรือเซลล์ทาวเวอร์ หรือลากสายเคเบิลเข้าไปได้ เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2011 โน่น

การแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น ทำได้หลายอย่างด้วยกัน ตั้งแต่การใช้ดาวเทียม, ใช้โดรน, บลิมป์ (เรือเหาะ) หรือแม้กระทั่งการใช้เลเซอร์ แต่ ลูน เชื่อว่าหนทางเป็นไปได้ที่ง่ายที่สุด ต้นทุนต่ำที่สุดก็คือการใช้ บัลลูน ทำหน้าที่แทนเซลล์ทาวเวอร์นั่นเอง

ในทางเทคนิค ลูน จัดการออกแบบเซลล์ทาวเวอร์เสียใหม่ให้เหลือเฉพาะส่วนที่จำเป็นจริงๆ ติดตั้งไว้กับบัลลูนขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถลอยอยู่เหนือพื้นดินที่ความสูงราวๆ 20 กิโลเมตรได้ ใช้แผงโซลาร์เซลล์เป็นตัวให้พลังงานในการขับเคลื่อน เมื่อใช้บัลลูนที่ติดตั้งอุปกรณ์เครือข่ายดังกล่าวนี้เชื่อมต่อกันหลายๆ ลูก ในตำแหน่งที่เหมาะสม ก็สามารถสร้างเครือข่ายเมช (mesh) ที่สามารถใช้สื่อสารได้ผ่านเสาอากาศรับสัญญาณที่ติดตั้งไว้กับสถานีรับสัญญาณภาคพื้นดินก็ได้ หรือจะเชื่อมต่อกับดาวเทียมก็ได้อีกเช่นกัน

Advertisement

ตัวบัลลูนทำจากพลาสติกบาง เมื่ออัดอากาศเข้าไปเต็มจะมีน้ำหนักรวมราว 75 กิโลกรัม สัมภาระหลักของบอลลูนนี้คือแผงโซลาร์เซลล์, เสาส่งสัญญาณ และอุปกรณ์อื่นๆ น้ำหนักรวมอีกราว 75 กิโลกรัม ถูกออกแบบมาให้ลงสู่พื้นได้ที่ความเร็วราว 19.3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีร่มชูชีพพยุง อัตราความเร็วนี้พอๆ กับความเร็วในการลงสู่พื้นของนักดิ่งพสุธาทั้งหลายนั้นเอง บอลลูนแต่ละลูกจะสามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่ได้ราว 5,180 ตารางกิโลเมตร สามารถถ่ายทอดสัญญาณการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตระหว่างกันได้ ทำให้สามารถขยายพื้นที่ครอบคลุมออกไปได้โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์ภาคพื้นดินเพิ่มเติม

Courtesy Loon/Handout via REUTERS.

บริการบัลลูนอินเตอร์เน็ตของลูนนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือมันสามารถติดตั้งเพื่อให้บริการตรงจุดไหนก็ได้แทบทั่วทั้งโลก ภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือต่ำกว่านั้นหลังจากส่งขึ้นสู่ท้องฟ้าจากฐานปล่อยที่เนวาดา หรือไม่ก็ที่เปอร์โตริโก โดยจะเปลี่ยนระดับความสูงและทิศทางตามการบังคับจากระยะไกลและอัลกอริธึมจากศูนย์ควบคุมที่จะปฏิบัติงาน 24 ชั่วโมงทุกวัน สามารถติดตั้งเพิ่มเติมหรือลดจำนวนได้ตามความต้องการเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่บริการ

แต่จุดอ่อนที่สำคัญก็คือ มันมีอายุการใช้งานเพียงแค่ราวๆ 5 เดือน เพราะพลาสติกจะเสื่อมสภาพ และยังจะเจอกับปัญหากระแสลมที่ทำให้บัลลูนหลุดจากตำแหน่ง นอกจากนั้นยังต้องพึ่งพาแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานสำหรับอุปกรณ์ จึงอาจมีปัญหาอยู่บ้างหากไม่ได้อยู่ในพื้นที่ซึ่งมีแดดจัดตลอดเวลา

Advertisement

พูดถึงลูนมามาก เพราะเป็นบริการใหม่ที่จำเป็นต้องพิสูจน์คุณค่าในเชิงพาณิชย์กันต่อไป เพราะว่ากันว่า ลูน เคยขายความคิดทำนองเดียวกันนี้เสนอต่อทางการอินโดนีเซีย (ที่มีเกาะใหญ่น้อยกว่า 7 พันเกาะ) แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในช่วงที่ผ่านมามีข่าวคราวบัลลูนของลูนตกลงสู่พื้นกลายเป็นข่าวอยู่หลายครั้ง ทั้งยังมีปัญหาถูกกระแสลมพัดออกจากตำแหน่ง สร้างปัญหาในการให้บริการ เป็นต้น

แต่อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การไปเริ่มต้นให้บริการที่แอฟริกา ทำให้ภูมิภาคนี้ของโลกนับได้ว่าเป็นสมรภูมิใหม่ของ อัลฟาเบท กับ เฟซบุ๊ก ไปอย่างชัดเจน

บัลลูนอินเตอร์เน็ต ไม่ใช่หนทางเดียวที่อัลฟาเบท ใช้เพื่อให้ผู้คนในแอฟริกาสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น และอัลฟาเบทก็ไม่ใช่ยักษ์ใหญ่รายเดียวที่ลงทุนเพื่อการนี้ เฟซบุ๊ก เองก็เช่นเดียวกัน

ใกล้เคียงกับที่อัลฟาเบท ประกาศการให้บริการบัลลูนอินเตอร์เน็ตในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก ก็มีรายงานข่าวระบุว่า เฟซบุ๊กกำลังขะมักเขม้นกับ “ซิมบา” (ตัวเอกจากการ์ตูน ไลอ้อน คิง) โครงการยักษ์วางเคเบิลใต้น้ำโอบล้อมรอบทวีปแอฟริกา พร้อมจุดขึ้นฝั่งมากมายหลายจุดโดยรอบ ขณะที่ กูเกิล เองก็มีโครงการเชื่อมต่อเคเบิลใต้น้ำจากฝั่งโปรตุเกสไปยังแอฟริกาใต้ (เรียกว่า อีควิอาโน ที่เป็นชื่อนักเขียนไนจีเรียในศตวรรษที่ 18) ซึ่งระยะแรกจะแล้วเสร็จในปี 2021 โดยมีจะศักยภาพสูงกว่าที่มีอยู่เดิม 20 เท่าตัว

ที่สำคัญก่อนหน้าโปรเจ็กต์ลูน เฟซบุ๊กก็เคยพยายามพัฒนาเครือข่ายฟรีอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่า “ฟรีเบสิกส์” ซึ่งจำกัดการใช้งานเฉพาะบางเว็บไซต์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แน่นอนย่อมเป็นเว็บไซต์ของเฟซบุ๊กเป็นหลัก

ส่วนการให้บริการทางอากาศแบบเดียวกับของลูนนั้น เฟซบุ๊กก็กำลังพัฒนาเครือข่ายที่ใช้โดรนขึ้นมาเช่นกัน เรียกว่า “อากีลา” แต่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างแต่อย่างใด

ทำไมต้องเป็นแอฟริกา คำตอบง่ายมากครับ แอฟริกาคือภูมิภาคที่การใช้งานอินเตอร์เน็ตเติบโตสูงที่สุดของโลกในช่วงระหว่างปี 2005-2018 ทั้งๆ ที่การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของทั้งทวีปยังต่ำอยู่มากเพียงแต่ 24 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง และเป็นเพียงทวีปเดียวบนโลกใบนี้ ที่มีประชากรแอฟริกาอีกกว่าครึ่งไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้

ทั้งเฟซบุ๊ก ทั้งอัลฟาเบท และกูเกิล ต้องการให้แน่ใจว่าการขยายตัวของอินเตอร์เน็ตในแอฟริกายังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องต่อไป และการปรับปรุงการเชื่อมต่อให้ดีขึ้น ถูกสตางค์ลง ก็จะช่วยให้แอฟริกันทั้งหลายสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น และเชื่อมต่ออยู่ได้นานขึ้น

และหมายถึงตลาดสำหรับสร้างรายได้จากการโฆษณาและผลิตภัณฑ์หลากหลายของทั้งสองบริษัทจะขยายใหญ่ขึ้นอีกมหาศาลนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image