สนพ.โชว์ศักยภาพการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย

สนพ.โชว์นวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะ ในงาน “ASEAN Smart Cities Network Conference & Exhibition 2019” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในเมือง

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน โชว์นวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะ ผ่านนิทรรศการ Smart Energy ในงาน “ASEAN Smart Cities Network Conference & Exhibition 2019” หรือ การจัดประชุมเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน ครั้งที่ 2 พร้อมกระตุ้นทุกภาคส่วนยกระดับประสิทธิภาพของระบบพลังงาน มุ่งสู่เป้าหมายการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในเมือง

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นส่งเสริมด้านการพัฒนาพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทยในเวทีอาเซียนและนานาชาติ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืนในอนาคต ตามแนวทางเครือข่ายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart City Network) ที่ประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นชอบร่วมกัน

Advertisement

ทั้งนี้ ประเทศไทยเสนอกรุงเทพมหานคร เป็นโมเดลการพัฒนาด้านการคมนาคมอัจฉริยะ ภูเก็ต เป็นโมเดลการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวอัจฉริยะ และ ชลบุรี เป็นโมเดลการพัฒนาด้านพลังงานอัจฉริยะ จากจำนวนเมืองอัจฉริยะนำร่องทั้งหมด 26 เมือง ของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมี กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงพลังงาน เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะของไทย

สำหรับ เมืองอัจฉริยะ (Smart City) คือ เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งหนึ่งใน 7 องค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาเมืองอัจฉริยะคือ พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) โดยเมืองดังกล่าวต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในกลุ่มของอาคาร บ้านเรือน และโรงงาน โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผสมผสานการใช้พลังงานทางเลือก

Advertisement

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาความเป็นเมืองพลังงานอัจฉริยะต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารให้มีค่าดัชนี้ชี้วัดการใช้พลังงานต่อพื้นที่เป็นไปตามค่ามาตรฐาน มีการผลิตพลังงานจากพลังงานหมุนเวียน การผลิตพลังงานในพื้นที่เพื่อลดการพึ่งพาจากแหล่งภายนอก มีระบบผลิตและส่งความเย็นหรือความร้อนจากส่วนกลางของเมือง (District cooling/District heating) มีระบบจัดเก็บพลังงาน (energy storage) ส่งเสริมและมีการใช้ยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีระบบโครงข่ายอัจฉริยะเพื่อการบริหารจัดการพลังงานเชิงพื้นที่มีประสิทธิภาพมีการใช้มิเตอร์อัจฉริยะ ระบบไมโครกริด ระบบการใช้พลังงานในบ้านและอาคารแบบอัจฉริยะ เป็นต้น

การเป็นเมืองพลังงานอัจฉริยะจะทำให้มีการบริหารจัดการพลังงานในเมืองได้อย่างชาญฉลาด มีพลังงานใช้อย่างพอเพียง มีแหล่งผลิตพลังงานทำให้ลดการพึ่งพาพลังงานจากแหล่งภายนอก มีการผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ลดมลพิษจากการจราจร เป็นการยกระดับเมืองไปสู่การใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และจะส่งผลดีต่อภาวะโลกร้อนด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image