เปิดเทคนิค ‘ปั้นแบรนด์และ Product’ อย่างไรให้ปัง!

เซเว่น อีเลเวฟเว่น ร่วมกับ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และ  สมาคมการค้าปลีกและเอสเอ็มอีทุนไทย  จัดงานสัมมนาพิเศษธุรกิจค้าปลีก และ SME สู่ความยั่งยืน ภายในงาน “วันแห่งโอกาสดี@CP ALL” โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังกว่า 200 คน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว  นายกสมาคมการค้าปลีกและเอสเอ็มอีทุนไทย และที่ปรึกษาอาวุโสคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย กล่าวว่า ซีพี ออลล์ ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการศึกษา พัฒนาองค์ความรู้สู่ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีและร้านค้าปลีก ร่วมกับ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และสมาคมการค้าปลีกและเอสเอ็มอีทุนไทย ด้วยการจัดงานสัมมนาให้ความรู้ในการดำเนินธุรกิจยุคใหม่มาอย่างต่อเนื่องทุกภูมิภาคทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบันรวมเป็นเวลา 12 ปี โดยได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี, เจ้าของร้านค้าปลีกรายย่อยและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมสัมมนาแล้วกว่า 6,300 คนทั่วประเทศ

โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และมีการบรรยายพิเศษหัวข้อ “ปั้นธุรกิจ SME อย่างไรให้โดนใจในยุคดิจิทัล ?””โดย ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์ ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการบรรยายหัวข้อ “ออกแบบ Product อย่างไรให้แบรนด์ปัง” โดย นายพีรวงศ์ จาตุรงคกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์-บรรจุภัณฑ์ และการสร้างแบรนด์ ซึ่งเป็นที่ทราบกับดีว่าธุรกิจ SME ไทยในปัจจุบันผ่านการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปตามทิศทางของการพัฒนาประเทศและกระแสเศรษฐกิจโลก แต่ด้วยการเปลี่ยนการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วภายใต้การสื่อสารยุคดิจิทัลที่กำลังมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคในปัจจุบัน  จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญและร่วมผลักดันให้เกิดการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและเท่าทันปัญหา พร้อมปรับตัวรับมือกับความท้าทายใหม่ๆที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าฟังสัมมนาจะได้รับความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและสามารถนำไปปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจและพัฒนาประเทศชาติของเราสืบไป

Advertisement

​โดยในการบรรยาย ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์ ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายเกี่ยวกับ “ออกแบบ Product อย่างไรให้แบรนด์ปัง” ว่า  “ต้องเน้นเรื่องการใช้ข้อมูล เพื่อให้เกิด ความสะดวก ง่ายรวดเร็ว แก่ลูกค้า และต้องการอัพเดตอยู่เสมอ ทั้งนี้ ปัญหาที่ทำให้องค์กรไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทัน โดยมากมาจากโครงสร้างภายใน เช่นธุรกิจครอบครัวที่ยึดติดแบบแผนเดิมๆ ทำเฉพาะในสิ่งที่คุ้นชิน ซึ่งความจริงแล้ว ต้องมองไปข้างหน้า และต้องมองด้วยความเข้าใจ technology โดยผลวิจัยหลายแห่งชี้ว่า เวลาแก้ปัญหาธุรกิจ ให้ดูโครงสร้างธุรกิจภายในก่อนเป็นอันดับแรกก่อนจะมองปัจจัยภายนอก ว่ามีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวกมากน้อยแค่ไหน และให้ดูแนวคิดขององค์กร รวมถึงวัฒนธรรมองค์กร ว่าเป็นแบบ fixed mindset หรือไม่ ถ้าเป็น ควรปรับอย่างไร ให้เป็น Growth Mindset”

​“ซึ่งหลัก Growth Mindset นั้น จะไม่ได้ ไม่รู้ ไม่ได้อีกต่อไป แต่ต้องคิดว่ายังไม่ได้ ยังไม่รู้ และจะทำให้ได้ ให้รู้ได้อย่างไร ที่สำคัญต้องมีทัศนคติเชิงบวก อย่าเอาอดีตมาเป็นตัวกำหนดอนาคต เช่น เคยทำมาแบบนี้ต้องเป็นแบบนี้ ให้ออกจากความคุ้นเคย อย่าเห็นว่าปัญหาเป็นปัญหา ให้เอามาพัฒนา หาข้อมูล เพื่อหาทางออก และหาโอกาสในการเปรียบเทียบข้อมูลอยู่เสมอ สิ่งสำคัญคือต้องทำให้ Online มีมิติ Offline และทำให้ Offline มีมิติ Online หรือที่เรียกว่า O to O ซึ่งคือหัวใจของโลกธุรกิจทุกวันนี้ที่ทั้ง 2 โลกไม่สามารถแยกออกจากกันได้”

Advertisement

ด้านนายพีรวงศ์ จาตุรงคกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์-บรรจุภัณฑ์ และการสร้างแบรนด์ ได้พูดถึงปัจจัยสำคัญของการสร้างแบรนด์ และหลักการสร้างผลิตภัณฑ์ให้โดดเด่นในสายตาของลูกค้าว่า ลูกค้า ส่วนมากจะคิดถึงราคามาก่อนอันดับแรก ดังนั้น การที่จะเพิ่มมูลค่าได้ ธงรบแรก คือต้องหาวิธีที่ทำให้ดูแตกต่าง ซึ่งหลักของแบรนด์ที่ดีจำเป็นต้องมีคุณสมบัติสำคัญ ได้แก่ แตกต่าง โดดเด่น และโดนใจ ถ้ามีครบตามนี้ จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “ทำน้อยได้มาก” ตามมา

“นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญยังอธิบายถึงหลักความสำเร็จการสร้างแบรนด์สินค้าด้วยว่า จะต้องมี D B M ประกอบด้วย Design & Different หรือการออกแบบให้แตกต่าง โดดเด่น สร้างเสน่ห์ให้กับสินค้า เช่น มีลวดลายเอกลักษณ์ มีคุณสมบัติเตะตา ตามมาด้วย Branding & Benchmark คือ การสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ลูกค้ารู้จักและจดจำง่าย ถือเป็นประสบการณ์รวมของผู้บริโภคเกี่ยวกับสินค้าหรือบริษัท และสุดท้ายคือ Marketing & Management ที่จะต้องบริหารจัดการ และวางแผนการตลาดเป็นอย่างดี รู้ว่ากลุ่มลูกค้าของเราเป็นแบบไหน Premium Niche หรือ Mass เป็นต้น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image