นักวิชาการแจงภาพสุริยุปราคา 8 เม.ย. อันไหนจริง อันไหนเท็จ 

นักวิชาการแจงภาพสุริยุปราคา 8 เม.ย. อันไหนจริง อันไหนเท็จ 

วันที่ 12 เมษายน นายวิมุติ วสะหลาย ฝ่ายวิชาการ สมาคมดาราศาสตร์ไทย เผยแพร่บทความ ระบุว่า สุริยุปราคาเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2567 ที่ผ่านมาเป็นสุริยุปราคาที่สร้างกระแสตื่นตัวได้มากที่สุดครั้งหนึ่ง สาเหตุสำคัญเนื่องจากเส้นทางคราสพาดผ่านสหรัฐอเมริกา สื่อต่าง ๆ ในอเมริกาจึงประโคมข่าวกันอย่างหนักหน่วง สื่อในไทยก็พลอยเล่นตามเขาไปด้วยแม้จะมองไม่เห็นจากเมืองไทยก็ตาม

และก็เป็นปกติของยุคโซเชียล หลังจากปรากฏการณ์ผ่านพ้นไป มีภาพสุริยุปราคาแสนงดงามเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก และก็มีการส่งต่อกันอย่างแพร่หลาย

เป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ยากที่นับวันภาพถ่ายทางดาราศาสตร์จะสวยขึ้น มีจำนวนมากขึ้น เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการถ่ายภาพ เรามีกล้องโทรทรรศน์คุณภาพสูงมากขึ้น เทคโนโลยีการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าและการประมวลผลภาพที่ทันสมัย เราจึงได้มีโอกาสเห็นภาพถ่ายจากท้องฟ้าสวยงามมากขึ้น

Advertisement

ภาพเหตุการณ์สุริยุปราคาเมื่อวันที่ 8 เม.ย.

แต่ขณะที่เรากำลังดื่มด่ำกับความงามจากสรวงสวรรค์ผ่านปรากฏการณ์สุริยุปราคา สิ่งหนึ่งที่ควรตระหนักทราบด้วยก็คือเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมา ยังมีมากกว่าเทคโนโลยีการถ่ายภาพและประมวลผลภาพแต่ยังมีเทคโนโลยีกราฟิกคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยเฉพาะอย่างหลังที่กระโดดเข้ามาในชีวิตประจำวันของทุกคนจนแทบจะตั้งตัวไม่ทัน

Advertisement

จึงไม่แปลกที่จะพบว่า ในบรรดาภาพ “สุริยุปราคา” ที่มีการเผยแพร่กันนั้น มีบางภาพไม่ใช่ภาพจริง แต่เป็นภาพที่สร้างที่สร้างจากกราฟิกคอมพิวเตอร์ บางภาพก็สร้างขึ้นจากเอไอล้วน ๆ และผู้ชมก็ไม่ทันสังเกต เข้าใจว่าเป็นภาพจริง แล้วก็ชื่นชม กดไลค์ คอมเมนต์สดุดี แล้วก็กดแชร์

ตัวอย่างภาพเหล่านี้เช่น

หนึ่งในภาพที่มีการเผยแพร่กันมากที่สุดหลังจากสุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2567 ภาพนี้เป็นภาพสวยงามมากอย่างไม่ต้องสงสัย แต่คนที่เคยดูสุริยุปราคามาก่อนจะเข้าใจได้ทันที่า นี่ไม่มีทางเป็นภาพจริงได้ โดยเฉพาะภาพคอโรนาแบบหางปลากัดเช่นนี้

total solar eclipse from Ohio, real photography –ar 4:5 Job ID: 6e4fa7b2-65fc-45ed-8ef4-cba4153e3235

ภาพนี้มีการเผยแพร่มาหลายปีแล้ว และหลังวันที่ 8 เมษายน ก็มาเผยแพร่ซ้ำอีก เป็นไปไม่ได้ที่จะเห็นทางช้างเผือกคู่กับสุริยุปราคา (จาก https://www.facebook.com/groups/233319002904356/permalink/383268551242733/)

การที่ใครสักคนจะสร้างผลงานภาพสวย ๆ จากกราฟิกคอมพิวเตอร์ หรือออกคำสั่งให้ปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ภาพให้จนได้ผลงานออกมาที่สวยงามตระการตายิ่งกว่าภาพจริงคงไม่ใช่ความผิดร้ายแรงอะไร หากผลงานนั้นหรือการเผยแพร่ผลงานนั้นไม่ได้สื่อให้ผู้ชมเข้าใจไปว่าเป็นภาพจริง แต่ตามที่ปรากฏ ภาพสุริยุปราคาสุดชดช้อยที่เผยแพร่กันมิได้แสดงความรับผิดชอบดังกล่าว ทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่ซึ่งไม่ได้มีความเข้าใจในเรื่องดาราศาสตร์มากพอเข้าใจผิดไปว่าเป็นภาพจริง ยิ่งกว่านั้นบางภาพถึงกับระบุว่าเป็นภาพที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่กล้องเจมส์เวบบ์จะมาถ่ายสุริยุปราคา

ดังนั้น หากใครจะสร้างภาพสุริยุปราคา จะด้วยเทคนิคใดก็ตาม เมื่อมีการเผยแพร่สู่สาธารณะ ก็ควรให้ข้อมูลในส่วนนี้ตามสมควรด้วย เพื่อมิให้เกิดการรับรู้และความเข้าใจผิด ๆ

และในฐานะผู้ชมสื่อ เมื่อพบเห็นโพสภาพในลักษณะดังกล่าว ก็ไม่ควรส่งต่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image