ควอลคอมม์ž เปิดโลก5G อนาคตแค่คืบ

“ควอลคอมม์” เป็นบริษัทอเมริกันทำธุรกิจด้านเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์สำหรับโทรคมนาคมและการสื่อสาร ก่อตั้งเมื่อปี 1985 โดยกลุ่มศิษย์เก่าจากคอร์เนลล์และเอ็มไอที สองมหาวิทยาลัยชื่อดังของสหรัฐอเมริกา

ที่ผ่านมาควอลคอมม์ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการผลิตหน่วยประมวลผลสำหรับสมาร์ทโฟน ได้ทั้งชื่อเสียงและรายได้ เมื่อหน่วยประมวลผลแบบ ซิสเต็ม-ออน-ชิปŽ สแนปดราก้อนของควอลคอมม์ครองตลาดสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์จนถือกันว่าเป็นหน่วยประมวลผลที่ยอมรับในทางปฏิบัติให้เป็น มาตรฐานของแอนดรอยด์

ความสำเร็จดังกล่าวทำให้หลายคนลืมคิดถึงไปว่า ควอลคอมม์คือผู้บุกเบิกระบบการสื่อสารไร้สายแบบเซลลูลาร์รายหนึ่ง ถึงขนาดที่เป็นผู้พัฒนามาตรฐานการสื่อสารไร้สาย ทั้งซีดีเอ็มเอวัน (IS-95) ต่อด้วยการพัฒนา CDMA2000 ที่กลายเป็นมาตรฐานของการสื่อสารไร้สายยุค 3 จีช่วงต้นๆ และกลายเป็นผู้นำที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรเทคโนโลยี 3 จียุคก้าวหน้าอีกหลายสิทธิบัตร รวมทั้ง WCDMA และ HSPA อีกด้วย

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ในวิสัยทัศน์ของควอลคอมม์ บริษัทจึงตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็น ผู้บุกเบิกและเป็นผู้นำของระบบโครงข่าย ไร้สายของโลกอีกครั้งหนึ่งในอนาคตอันใกล้ เมื่อเทคโนโลยีที่ใช้กันอยู่ทั้ง 4 จี และ 4 จีแอลทีอี ถูกแทนที่ด้วยระบบการสื่อสารไร้สายใหม่ยุคที่ 5 ยุคที่เรียกกันว่า 5 จี

Advertisement

ระบบการสื่อสารไร้สายใหม่นี้จะใช้ความถี่ในย่านที่ถือว่าเป็นระดับ ซุปเปอร์-ไฮ- ฟรีเควนซีŽ หรือคลื่นวิทยุความถี่สูงมากซึ่งอยู่ในช่วงความถี่ 3-30 GHz ที่มีความยาวคลื่นเพียง 100-10 มม.เท่านั้น (ทำให้ได้ชื่อเรียกว่าเทคโนโลยีมิลลิเมตรเวฟ (Millimeter-Wave) แต่มีความสามารถในการรับ-ส่งข้อมูลเพิ่มขึ้นสู่ระดับมัลติ-กิกะบิตต่อวินาที เพราะมีแบนด์วิธสูงถึง 7 GHz

เชอร์ริฟ แฮนนา ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ของควอลคอมม์ ระบุว่า ภายใต้เทคโนโลยีใหม่นี้ ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดได้เร็วขึ้น ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่าความเร็วของอินเตอร์เน็ตในอนาคตจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป

แต่ประเด็นเรื่อง ”ความเร็ว”Ž ดังกล่าว เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นในแผนงาน ของควอลคอมม์ โครงข่าย 5 จี ในสายตาของควอลคอมม์ในอนาคตยังจำเป็นต้องเชื่อถือได้มากกว่าที่เป็นอยู่ จำเป็นต้องลดอาการหน่วงลงให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งหมายความว่า เราจะไม่รู้สึกถึงความแตกต่างอีกต่อไประหว่างการเล่นไฟล์ภาพยนตร์จากอุปกรณ์ของเราเอง หรือสตรีมผ่านเว็บจากอินเตอร์เน็ต และจะต้องไม่เกิดสภาพ ดาวน์Ž ขึ้นมาไม่ว่าจะในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น

Advertisement

โครงข่ายไร้สายในยุค 5 จี ในทรรศนะของควอลคอมม์ ต้องสามารถเล่นเกมออนไลน์แบบมัลติเพลเยอร์ได้ชนิดสมบูรณ์แบบ ซึ่งหมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องจัดเก็บอะไรอยู่ในอุปกรณ์ของเราอีกต่อไป ทุกๆ อย่างจะไปอยู่บนโลกออนไลน์ และเราในฐานะผู้ใช้งานจะไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง

แฮนนาระบุว่า ความท้าทายของโครงข่าย 5 จีที่ใหญ่หลวงที่สุดที่ควอลคอมม์คำนึงถึงก็คือ ต้องเป็นโครงข่ายที่สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนนับแสนหรือนับล้านชิ้นในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์พื้นที่หนึ่งเข้าด้วยกันในเวลาเดียวกัน และต้องเชื่อมต่ออยู่ตลอดเวลา

ในทรรศนะของควอลคอมม์ 5 จี ”ไม่เพียงเชื่อมต่อคนทุกคนเข้าด้วยกันเท่านั้น แต่ยังเชื่อมต่อโลกทั้งโลกเข้าด้วยกัน ซึ่งนั่นไม่ได้หมายถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพียงแค่หลายล้านชิ้น แต่เป็นหลายล้านล้านชิ้นเลยทีเดียว”Ž

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ควอลคอมม์ ตระหนักดีว่า หากสามารถทำให้โครงข่ายดีขึ้นกว่าเดิมได้ ผู้ใช้หรือยูสเซอร์ก็สามารถค้นพบวิธีการใหม่ๆ และอุปกรณ์ใหม่เพื่อใช้งานบนโครงข่ายดังกล่าวนั้นได้เสมอ ดังนั้น ในขณะที่ควอลคอมม์ช่วยพัฒนาระบบและโปรโตคอลสำหรับเน็ตเวิร์ก 5 จี ก็ตั้งคำถามกับตนเองอยู่เสมอมาว่า โลกยุคใหม่ที่เชื่อมต่อกันอยู่ตลอดเวลาอย่างรวดเร็วนั้นจะเอื้อให้เกิดอะไรขึ้นมาบ้าง

โลกในอนาคตอันใกล้ดังกล่าว อาจไม่ได้มีสมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์หลักของยูสเซอร์อีกต่อไป การเชื่อมต่อที่รวดเร็วและคงที่อยู่ได้ตลอดเวลาดังกล่าว สามารถช่วยให้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์พัฒนาดีขึ้นได้รวดเร็วยิ่งขึ้นกว่า ซึ่งส่งผลกระทบให้อุปกรณ์อีกหลากหลายเปลี่ยนแปลงดีขึ้นตามไปด้วย ตั้งแต่อุปกรณ์ผู้ช่วยอัจฉริยะ, บ้านที่อุปกรณ์เครื่องใช้ทุกอย่างเชื่อมต่อและควบคุมได้ผ่านอินเตอร์เน็ต, รถยนต์ที่ไม่เพียงเรียนรู้การขับเคลื่อนไปยังเป้าหมายได้เองเท่านั้น แต่ยังรู้ว่าเมื่อใดสามารถสตรีมภาพยนตร์มาให้ดูได้ ในเวลาใดที่ควรให้ความบันเทิงทางเสียงเพียงอย่างเดียว, แน่นอน ผู้คนในยุคใหม่นิยมดาวน์โหลดหรือสตรีมวิดีโอมาดูกันมากขึ้น แต่รูปแบบของอุปกรณ์การดูอาจเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในรูปของวีอาร์ ที่ช่วยสร้างโลกเสมือนจริงขึ้นมาได้ เรื่อยไปจนถึงอุปกรณ์เออาร์ ที่หลอมรวมสภาพแวดล้อมจริงเข้ากับวัตถุเสมือนที่เรียกหามาได้จากอินเตอร์เน็ตได้ตลอดเวลา ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพิ่มมากขึ้นได้เช่นเดียวกัน

เป็นไปได้ด้วยว่า อุปกรณ์ในมือของเราอาจเรียบง่ายมากขึ้นกว่าเดิม ด้วยการโยกเอาความสามารถสูงๆ และความอัจฉริยะทั้งหลายไปไว้บนคลาวด์ เพียงเรียกใช้เมื่อต้องการผ่านอินเตอร์เน็ตบนโครงข่าย 5 จี ดังนั้น โทรศัพท์ในมือเราในอนาคต อาจเป็นเพียงแค่หน้าจอ แบตเตอรี่ กับโปรเซสเซอร์เพื่อประมวผลการทำงานธรรมดาทั่วไป หรือสิ่งที่เราไม่ต้องการให้ไปปรากฏบนอินเตอร์เน็ต ส่วนที่เหลือที่ซับซ้อนและต้องการขีดความสามารถมากกว่านั้นสามารถดึงมาได้จาก คลาวด์ ที่จะทำงานซับซ้อนดังกล่าวให้ก่อนที่จะส่งกลับมาในทันทีผ่านเทคโนโลยี 5 จี

ควอลคอมม์ไม่เพียงคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ แต่ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนสำหรับใช้ในผลิตภัณฑ์เหล่านี้อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้แน่ใจว่า เมื่อ 5 จีมาถึง ผลงานของควอลคอมม์ จะสามารถเข้าไปมีบทบาทผลักดันอยู่ในอุปกรณ์ทุกชิ้นในโลกอนาคต ตั้งแต่ระบบ ผู้ช่วยอัจฉริยะ, อุปกรณ์เออาร์, ชิปประมวลผลอัจฉริยะสำหรับเครื่องดูดฝุ่นหุ่นยนต์, โปรเซสเซอร์สำหรับหูฟังไร้สายอัจฉริยะ เรื่อยไปจนถึงหลอดไฟที่จะปิดเองอัตโนมัติเมื่อไม่มีคนอยู่ในห้อง และไมโครเวฟ ที่รู้ด้วยตัวเองว่าอะไรถูกใส่เข้ามาภายในและจัดการปรุงออกมาได้สมบูรณ์แบบ

ควอลคอมม์ทำงานกับพาร์ตเนอร์ใหญ่น้อยทั้งหลาย เพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์สำหรับโลกอนาคตมีความสามารถในการเชื่อมต่อแบบใดแบบหนึ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นโลว์ เพาเวอร์ คอนเน็กทิวิตี้, มัลติ-โหนด คอนเน็กทิวิตี้, ไว-ไฟ หรือไวร์เลส, การใช้งานแบบมัลติมีเดีย, การประมวลผลสำหรับแสดงภาพผ่านดิสเพลย์ เป็นต้น

เมื่อโลกอนาคตในยุค 5 จีมาถึงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ควอลคอมม์จึงแน่ใจได้ว่าจะสามารถก้าวไปรองรับความต้องการใหม่ๆ ได้ทันทีนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image