บริษัทอิสราเอล เปลี่ยนขยะเป็น เม็ดพลาสติก

(AP Photo/Ariel Schalit)

ยูบีคิว” บริษัทเอกชนอิสราเอล ประสบผลสำเร็จในการทดลองเดินเครื่องโรงงานเปลี่ยนขยะให้เป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพสำหรับนำไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติก แทนที่เม็ดพลาสติกที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำมันดิบเพื่อช่วยลดการใช้น้ำมันและสามารถลดก๊าซเรือนกระจกจากกองขยะไปได้พร้อมกันในคราวเดียว

แอลเบิร์ต ดูเออร์ ประธานกรรมการบริหารของยูบีคิว ระบุว่า ความสำเร็จของยูบีคิวก็คือการเปลี่ยนสิ่งที่ไม่เพียงไม่มีประโยชน์ แต่ยังเป็นโทษและเป็นอันตรายต่อมนุษย์ ให้กลายเป็นสิ่งของที่มีประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวันของคนเราอีกครั้งหนึ่ง ดูเออร์เป็นหนึ่งในผู้ลงทุนเบื้องต้นของยูบีคิวที่สามารถระดมทุนเบื้องต้นจากภาคเอกชนได้สูงถึง 30 ล้านดอลลาร์

เนื่องจากบริษัทมีกรรมการที่ปรึกษาระดับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำ รวมทั้งนักเคมีรางวัลนโนเบลอย่าง โรเจอร์ คอร์นเบิร์ก และ โอเดด โชเซยอฟ นักชีวเคมีจากมหาวิทยาลัยฮิบรู เป็นต้น

กระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพจากขยะนี้ เริ่มต้นจากการคัดแยกขยะ เพื่อนำเอาวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ อย่างเช่น โลหะ, แก้ว และแร่ต่างๆ ออกมาเพื่อนำไปใช้สำหรับกระบวนการรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ ส่วนที่เหลืออย่างเช่น เปลือกกล้วย, กระดูกไก่ หรือเศษแฮมเบอร์เกอร์, เศษพลาสติกสกปรก, กล่องกระดาษ และกระดาษสกปรกที่ถูกทิ้งเป็นขยะ จะถูกนำมาตากให้แห้ง ส่งเข้าโรงบดเพื่อป่นจนเป็นผงสีเทา ซึ่งจะถูกป้อนต่อเข้าสู่ห้องปฏิกิริยา เพื่อแยกสลายโมเลกุลของผงขยะที่ได้ดังกล่าวแล้วเปลี่ยนองค์ประกอบทางเคมีเสียใหม่ให้เป็นเม็ดวัสดุที่มีคุณลักษณะเหมือนพลาสติก อันเป็นกระบวนการที่จดทะเบียนสิทธิบัตรไว้แล้วและถูกรักษาเป็นความลับอย่างเข้มงวด

Advertisement

ยูบีคิวระบุว่า กระบวนการทั้งหมดในการเปลี่ยนวัสดุชีวภาพให้กลาย

เป็นเม็ดพลาสติกนั้น เป็นกระบวนการสะอาด เพราะไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่มีของเสียหลงเหลือจากกระบวนการ และใช้พลังงานน้อย นอกจากนั้นยังไม่ใช้น้ำในกระบวนการดังกล่าวนี้เลย

ตามข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นอีพี) ก๊าซเรือนกระจกที่ก่อปัญหาโรคร้อนราว 5 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลมาจากการเน่าเปื่อยของขยะชีวภาพในลานทิ้งขยะ ดังนั้น ทุกๆ 1 ตันของขยะที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตพลาสติกชีวภาพนี้ จะช่วยลดการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศได้ราวๆ 3-5 ตัน

Advertisement

ที่สำคัญก็คือ เม็ดพลาสติกชีวภาพที่ได้ เมื่อนำมาผลิตเป็นพลาสติกแล้วสามารถนำไปรีไซเคิลได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งโดยไม่เสื่อมคุณภาพอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image