นักวิชาการ คำนวณ วันจดจาร จารึกวัดอินฯ ‘กดสะง้าเดือนสิบออกใหม่’ คือวันไหนเมื่อ 594 ปีก่อน
สืบเนื่องกรณีวัดอินทารามวรวิหาร แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ มีการค้นพบจารึกบนฐานพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในเก๋งจีน ศาลารายของพระอุโบสถ โดยปรากฏคำสำคัญว่า ‘ศรีอโยธยา’ รวมถึงนามบุคคลในพงศาวดาร ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ.1974 ในรัชกาลเจ้าสามพระยา แห่งกรุงศรีอยุธยา โดยมีการเผยแพร่คำอ่านอย่างไม่เป็นทางการโดย รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล และ ผศ.ธนโชติ เกียรติณภัทร อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อ 10 เมษายนที่ผ่านมา
ดร.ตรงใจ หุตางกูร นักวิจัย ฝ่ายคลังข้อมูลวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 เมษาที่ผ่านมา ตนได้รับความอนุเคราะห์นายเอนก สีหามาตย์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ชวนไปดูจารึกพบใหม่ที่วัดอินทารามวรวิหาร พบความโดดเด่นของจารึกหลักนี้ที่มีวันเดือนปีครบถ้วนสมบูรณ์พร้อมวัน ‘หนไท’ ทำให้สามารถตรวจสอบความเที่ยงตรงได้ โดยตนตั้งวันเถลิงศกของปีนี้
จากนั้นจึงเทียบวันเดือนปีของจารึก กับวันเดือนปีตามสุริยคติของระบบปฏิทินจูเลียนก่อน ได้ตรงกับ “วันพุธที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1431 และแปลงเป็นระบบปฏิทินเกรกอเรียนแบบสืบย้อน (proleptic) ได้ตรงกับ วันพุธที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1431 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 1974 ไทยสากล อันเป็นปฏิทินที่เราใช้กันทุกวันนี้ จากนั้น จึงใช้วันหนไท ที่ตรงกับวันเถลิงศกตั้งต้น นั่นคือ ‘วันรวงไค้’ แล้วจึงนับมาจนถึงวันที่ระบุ ก็ได้ตรงกับ ‘วันกดสง้า’ พอดี เบื้องต้น เชื่อว่าวันเดือนปีนี้ถูกต้องตามจันทรคติ และหนไท
ทั้งนี้ คำอ่านจารึกอย่างไม่เป็นทางการ โดย รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล และผศ.ธนโชติ เกียรติณภัทร คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง ในส่วนที่ระบุวันเดือนปี อยู่บนบรรทัดที่ 1
ดังนี้
สกราชได้ ๗๙๓ กุรนกัสตรเดิอนสิบออกใหมแปดคำวนนพุทธไทภาสากตสทงาขาพระเจ้าพระองคนีชีเจานคอรยศเปนขาพระบาททาวศริปศราช..นคอรผูเปนเจาทรง
(ศักราชได้ 793 กุนนักษัตร เดือนสิบออกใหม่แปดค่ำ วันพุธ ไทภาษา กดสะง้า ข้าพระเจ้าพระองค์นี้ชื่อเจ้านครยศเป็นข้าพระบาทท้าวศริปศราช..นครผู้เป็นเจ้าทรง)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง