“บิ๊กต๊อก” สั่งดีเอสไอ ทบทวน ชงใช้ ม.44 แก้ปมแต่งตั้ง ขรก. 300 คน

(แฟ้มภาพ) พล.อ.ไพบูลย์  คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

“บิ๊กต๊อก” สั่งดีเอสไอ ทบทวน ชงใช้ ม.44 แก้ปมแต่งตั้ง ขรก. 300 คน หลังศาลปกครอง มีคำสั่งไม่ชอบด้วยกม.

จากกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2558 คดีหมายเลขดำที่ อ.305/2553 คดีหมายเลขแดงที่ อ.162/2558 วันที่ 27 มี.ค. 2558 ว่า คำสั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ 254/2549 วันที่ 5 ก.ย.2549 ในการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเพื่อทำหน้าที่คัดเลือกข้าราชการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นตามมติของ อ.ก.พ. ดีเอสไอ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้ข้าราชการดีเอสไอประมาณ 300 ราย ที่ได้รับการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไปแล้ว ต้องกลับสู่สถานะเดิมทั้งหมด จากนั้น พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ จึงทำหนังสือมาที่ปลัดกระทรวงยุติธรรม ขอให้เสนอหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งรับรองคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายฉบับนี้เช่นเดียวกับที่เคยออกคำสั่งฉบับที่ 6/2558 รับรองการสั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจในปี 2557

เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เพิ่งทราบข่าวจากสื่อมวลชน จึงได้เรียกพ.ต.อ.ไพสิฐ มารายงานเรื่องนี้ให้ตนทราบ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลา 7-8 ปีแล้ว เป็นเรื่องของการแต่งตั้ง และเป็นเรื่องที่อยู่ในศาลปกครอง โดยพ.ต.อ.ไพสิฐ ยังชี้แจงด้วยว่าที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ก็เคยใช้วิธีนี้ในการแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องของข้าราชการประจำ ที่ผ่านมา ไม่สามารถปรับตำแหน่งได้ อะไรได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราเข้าใจ ปัญหามันเกิดจากการที่คนเก่าๆเขาสร้างไว้ มันทำให้การทำงานขององค์กรมีปัญหา

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ตนได้ให้แนวความคิดไป 3 ข้อ คือ 1.การออกคำสั่งใช้มาตรา 44 มันเป็นรัฐาธิปัตย์ ซึ่งเราจะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมของคนนั้นด้วย เมื่อเราออกคำสั่งมาแล้ว มันจะเสียความเป็นธรรมกับผู้ร้องหรือไม่ 2.มีหลายเรื่องอยู่ในศาล ซึ่งเป็นเรื่องของตุลาการ ดังนั้น ต้องไปทำความเข้าใจกับเขาด้วย เพื่อจะได้ไม่ไปละเมิดและก้าวก่ายงานที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม และ 3.จะเสียกระบวนการที่เขาร้องหรือไม่ เช่น เขาอาจยอมรับในตำแหน่งที่ดี แต่เขาไม่ได้รับความเป็นธรรมเฉพาะตัวบุคคล เช่น อดีตอธิบดี หรืออดีตผู้บังคับบัญชาของเขา ซึ่งก็มีการฟ้องควบกันไป ดังนั้น ตนจึงมีแนวทางไปให้เขารวบรวมข้อมูลและสรุปมาให้ตนทราบอีกครั้ง

Advertisement

“ผมไม่ทราบ เพราะบางเรื่องเราถามเขา มีบางเรื่องไปอยู่ที่ศาลปกครอง ผมก็เลยเตือนไปว่าต้องทำให้รอบคอบ ต้องคุยกับฝ่ายตุลาการให้ชัดเจน และของเราก็ต้องคุยให้ชัดเจน ว่าทำไปแล้วเด็กของเราเสียความยุติธรรมหรือไม่ เพราะการที่เขาร้องขึ้นมา เนื่องจากเขาคิดว่าไม่ได้รับความยุติธรรม และเรามาออกมาตรา 44 ซึ่งเป็นรัฐาธิปัตย์ มันไปเกิดเช่นนั้น ผมก็ไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ถ้ามันจำเป็น และรองรับกันได้ และไม่มีเรื่องเหล่านี้ได้ มันก็ดี มันจะได้แก้ไขปัญหาไปเลย”พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า นอกจากมาตรา 44 แล้ว จะมีแนวทางอื่นในการแก้ปัญหาหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ไม่มี เพราะเรื่องนี้เป็นการร้องไปที่ศาลปกครอง จึงต้องรอกระบวนการยุติธรรม แต่วันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจคนร้องที่ร้องไปตั้งแต่ 7-8 ปีที่แล้ว ซึ่งปัจจุบันคนร้องก็จากระดับ 5 เป็นระดับ 7 ดังนั้น เราก็คงให้แต่แนวความคิดไป เนื่องจากเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องในกระบวนการองข้าราชการประจำ แต่เมื่อต้องผ่านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงต้องเรียกมาหารือกัน เพราะการที่จะเสนอใช้มาตรา 44 นั้น เมื่อทางอธิบดีดีเอสไอเสนอผ่านมายังปลัดกระทรวงยุติธรรมแล้ว ทางปลัดก็ต้องเสนอผ่านมายังตน เพื่อเสนอหัวหน้า คสช. ต่อไป

ด้าน พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวต้องรอปลัดกระทรวงยุติธรรมเรียกประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา ส่วนการเสนอให้ใช้มาตรา 44 นั้น เป็นเพียงข้อเสนอแนะ ยังไม่ใช่แนวทางสุดท้าย ทั้งนี้ ต้องรอการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงยุติธรรมและกรมสอบสวนคดีพิเศษ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image