กรมศิลป์ระดมวิศวกรหาแนวทางค้ำเจดีย์ วัดพระยาทำฯ ก่อนปฏิสังขรณ์ไม่ให้พังกว่านี้

จากกรณี หอระฆัง (เจดีย์ยักษ์) เก่าในยุครัชกาลที่ 3 ภายในวัดพระยาทำวรวิหาร ถ.อรุณอัมรินทร์ ทรุดตัวทับคนงานระหว่างงานซ่อมบูรณะจนได้รับบาดเจ็บ 8 ราย อาการสาหัส 3 ราย ก่อนจะพบผู้เสียชีวิตภายหลังอีก 1 ราย เมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่ผ่านมา

เมื่อเวลา 11.00น. วันที่ 26 กันยายน นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อม นายอารักษ์ สังห์ตกุล อดีตอธิบดีกรมศิลป์ ลงพื้นที่ตรวจสอบรอบบริเวณเจดีย์ต่อจากเมื่อวานนี้

โดยนายอนันต์ กล่าวย้ำถึงสั่งการจากที่ประชุมถึงการหาสาเหตุการทรุดตัวของเจดีย์ และ หามาตรการเร่งด่วนที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติม รวมถึงการอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์ โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้หารือกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า จะทำการคุ้มครองอย่างไร พร้อมได้ระดมวิศวกรเพื่อหาแนวทางค้ำยันเจดีย์ไม่ให้เสียหายมากกว่านี้ และจะปฏิสังขรณ์ต่อไป ซึ่งตนได้เร่งให้ดำเนินการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม วิศวกรที่รับงานนี้มีประสบการณ์ด้านการยกสิ่งปลูกสร้างมาแล้ว แต่คงต้องตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้งว่าเหตุเกิดจากความประมาท หรือ เป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งตอนนี้เริ่มเห็นชัดแล้วว่ามีบางอย่างที่ไม่ปกติ

Advertisement

นายอารักษ์ อดีตอธิบดีกรมศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้ตัวฐานที่รองรับองค์เจดีย์มีความลาดเอียง ทำให้มีโอกาสที่จะล้มได้ จึงจะทำการค้ำยันก่อนและค่อยเสริมความแข็งแรง อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถคืนสภาพเจดีย์ดังเดิมได้ทั้งหมดแล้ว ต้องดำเนินการด้านโครงสร้างทั้งหมด รวมถึงจัดทำรูปปูนปั้นใหม่ให้เหมือนเดิมมากที่สุด

นายอารักษ์ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นคาดว่าปัญหาเกิดมาจากอุปกรณ์ในระหว่างทำการยกฐานเจดีย์และเกิดการทรุดตัวในเวลาต่อมา ทั้งนี้ แม้จะมีการตรวจสอบอุปกรณ์ตลอดเวลาแต่ก็ไม่อาจหาข้อสรุปได้แน่ชัดว่าสาเหตุเกิดจากอะไร

“ตอนนี้ต้องแก้ปัญหาความลาดเอียงที่ทรุดตัวอยู่ให้กลับมาตั้งตรงแล้วค่อยยกขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ คาดว่าแม่แรงบางตัวเกิดปัญหา เนื่องจากหายไปและหาไม่พบ” อดีตอธิบดีกรมศิลป์ กล่าว

Advertisement

ขณะที่นายอารักษ์ กล่าวถึงการฟื้นฟูสภาพจิตใจของชาวบ้านว่า กรมศิลป์จะเร่งบูรณะเจดีย์โบราณแห่งนี้ให้กลับมาดั่งเดิมให้เร็วที่สุด โดยจะเข้ามาพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านถึงรายละเอียดขั้นตอนดำเนินการต่างๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวัดพระยาทำวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตังอยู่เลขที่ 47 ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงช่างทองหล่อ
เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เดิมเป็นวัดเก่าแก่ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างมาแต่สมัยใด ได้กำหนดอายุจากหลักฐานคือธรรมาสน์บนศาลาการเปรียญว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย

เดิมมีชื่อว่า วัดนาค เป็นวัดคู่กับ วัดกลาง ตั้งอยู่คนละฝั่งคลองมอญ เขตบางกอกน้อย ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์ โดยแบบสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด แล้วสถาปนา เป็นวัดหลวง และเปลี่ยนชื่อจากวัดนาค เป็น วัดพระยาทำ

สิ่งสำคัญภายในวัดคือ หอระฆัง หรือเรียกกันติดปากว่าเจดีย์ยักษ์ มีลักษณะทางศิลปกรรมแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 คือเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น ประดับกระเบื้องเคลือบ ส่วนฐานเป็นช่องโค้งแหลมทั้ง 4 ด้าน กรอบของช่องโค้งนี้ มีรูปครุฑเหยียบนาคทั้ง 4 ช่อง ตรงมุมล่างติดพื้นดินมีรูปปั้นยักษ์ยืนประจำทั้งตรง 4 มุม มุมละ 4 ตน ชั้นบนมีรูปปั้นยักษ์ทั้ง 4 ทิศ ยอดหอระฆังทำเป็นทรงปราสาท

จากการปฏิสังขรณ์ครั้งแรกเมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หอระฆังแห่งนี้ได้รับการปฏิสังขร์เพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ 3 และ 5 ตามลำดับ ข้อมูลจากเจ้าอาวาสวัดพระยาทำวรวิหาร ได้ความว่าหอระฆังแห่งนี้ได้รับการบูรณะครั้งล่าสุดเมื่อพุทธศักราช2537

เมื่อพุทธศักราช 2555 ทางวัดพระยาทำได้แจ้งมายังกองโบราณคดี ถึงสภาพความชำรุดเสียหายของหอฆัง เมื่อดำเนินการสำรวจสภาพแล้วพบว่า หอระฆังมีความชำรุดเสื่อมสภาพตั้งแต่ชั้นปูนฉาบจนถึงชั้นโครงสร้างอิฐ และได้รับการถมพื้นที่โดยรอบโดยปิดทับองค์ประกอบชั้นฐานหอระฆังบางส่วน ทำให้ โบราณสถานสูญเสียคุณค่าในด้านสถาปัตยกรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image