เลขาฯศาลจับมืออสส.อำนวยความสะดวกคดีขอจัดการมรดก

เลขาฯศาลจับมือลงนามเอ็มโอยูอสส. อำนวยความสะดวกประชาชนร้องคดีขอจัดการมรดกพร้อมไต่สวนออนไลน์ไม่ต้องมาศาล

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 10 กันยายน ที่ห้องประชุมใหญ่ชั้น 12 สำนักงานศาลยุติธรรม อาคารศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและให้การช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ในคดีจัดการมรดกระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรมกับสำนักงานอัยการสูงสุด โดยการพัฒนาระบบการพิจารณาคดีแพ่ง (คดีจัดการมรดก) ทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน ในการยื่นคำร้องจัดตั้งผู้จัดการมรดก ตลอดจนเข้าถึงกระบวนการพิจารณาไต่สวนคดีมรดก

นายสราวุธ กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันประชาชนมีการย้ายถิ่นฐานไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้เกิดความยุ่งยากและภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน ในการยื่นคำร้องขอจัดการมรดกต่อศาลที่เจ้าของมรดกมีภูมิลำเนาขณะถึงแก่ความตายหรือที่ตั้งทรัพย์ ซึ่งเดิมทีการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกสามารถยื่นได้ 3 วิธีคือ 1.ตัวความยื่นคำร้องด้วยตนเองโดยตัวความจะต้องเดินทางไปยังศาลที่เจ้าของมรดกถึงแก่ความตายหรือทรัพย์ที่ตั้ง ทั้งในวันที่ยื่นคำร้องและวันที่นัดไต่สวน 2. ตัวความแต่งตั้งทนายความเป็นผู้ดำเนินการยื่นคำร้อง โดยจะให้ทนายความเป็นผู้ยื่นคำร้องแทน ณ ศาลที่มีเขตอำนาจรับคำร้อง 3. ตัวความให้พนักงานอัยการเป็นผู้ยื่นคำร้อง โดยตัวความยื่นคำร้องต่อพนักงานอัยการที่มีเขตอำนาจ จากนั้นพนักงานอัยการจะยื่นคำร้องไปยังศาลที่เจ้าของมรดกถึงแก่ความตายหรือที่ตั้งทรัพย์ และเมื่อถึงวันนัดไต่สวนตัวความจะต้องเดินทางไปยังศาลที่มีเขตอำนาจรับคำร้องนั้น ทั้งนี้ การยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกทั้ง 3 วิธี ไม่ว่าตัวความจะยื่นด้วยวิธีใดก็ตาม ในวันนัดไต่สวนตัวความจะต้องเดินทางมายังศาลที่เจ้าของมรดกถึงแก่ความตายหรือที่ตั้งทรัพย์ ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าใช้จ่ายในการจ้างทนาย

ดังนั้น เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน สำนักงานศาลยุติธรรมและสำนักงานอัยการสูงสุดจึงร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมมือฉบับนี้ขึ้น โดยจะดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงนี้ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีอยู่ในปัจจุบัน และที่จะมีขึ้นในอนาคตมาอำนวยความสะดวกในการยื่นคำร้องและการไต่สวนคำร้องขอจัดการมรดก โดยทายาทสามารถยื่นคำร้องขอจัดการมรดกผ่านพนักงานอัยการ ณ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนและบังคับคดีจังหวัดได้ทุกพื้นที่โดยไม่จำกัดเรื่องเขตอำนาจ และหากมีการร้องขอใช้การไต่สวนผ่านระบบประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) หรือเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นใด ศาลที่เกี่ยวข้องแต่ละพื้นที่จะดำเนินการอำนวยความสะดวกให้ตามคำร้องขอ โดยทางตัวความไม่ต้องเดินทางมายังศาล

Advertisement

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายของประธานศาลฎีกาเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการคดี เพื่อให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมรวดเร็วขึ้น เสียค่าใช้จ่ายน้อยลง มุ่งสู่การบริการในลักษณะระบบศาลดิจิทัล (D-Court) ในปี 2563 ต่อไป

ด้านนายเข็มชัย เปิดเผยว่า คดีจัดการมรดกมีเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปีงบประมาณ 2560 มีประชาชนยื่นร้องต่ออัยการขอจัดการมรดกทั่วประเทศ 11,129 เรื่อง ปีงบประมาณ 2561 มี 14,792 เรื่อง และปีงบประมาณ 2562 ถึงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มีการดำเนินการแล้ว 13,882 เรื่อง เราพยายามอำนวยความสะดวกมากที่สุด ในการดำเนินงานส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการในพื้นที่ที่มีอำนาจเป็นผู้ดำเนินการ และการขอไต่สวนคดีมรดกผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ทำให้ผู้ร้องไม่ต้องเดินทางมาศาลเสียค่าใช้จ่าย ยินดีอย่างยิ่งในความร่วมมือกับสำนักงานศาลยุติธรรม หวังว่าความร่วมมือจะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้นและรวดเร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image