เปิดคำวินิจฉัยกก.ชี้ขาดอำนาจศาลกรณีทหารตายในค่าย ต้องส่งสำนวนให้ศาลตามเจตนารมณ์วิ อาญา150

“ธนกฤต”ผอ.นิติวัชร์อัยการ เปิดคำวินิจฉัย กก.ชี้ขาดอำนาจศาลกรณีทหารตายในค่าย ต้องส่งสำนวนให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่ง ตามเจตนารมณ์ วิ อาญา 150 ที่มุ่งให้ศาลเป็นผู้ตรวจสอบการตาย เผย ที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนอ้างแนวฎีกาไม่ส่งสำนวนต่ออัยการคดีไม่ถึงมือศาล แนะหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมร่วมกำหนดรูปแบบวิธีชันสูตรศพทหารตายในค่ายชัดเจนเหมาะสม

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน  ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ให้ความเห็นข้อกฎหมายผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว กรณีปัญหาการไต่สวนชันสูตรพลิกศพทหารที่เสียชีวิตในค่ายทหาร ความว่า

ตามที่มีข่าวปรากฏตามสื่อมวลชนต่าง ๆ ถึงการเสียชีวิตของพลทหารหลายรายในค่ายทหารในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเมื่อเร็ว ๆ นี้ รวมถึงข่าวการเสียชีวิตของทหารอีกหลายรายในค่ายทหารที่ผ่านมานั้น ผมขอให้ความเห็นส่วนตัวทางวิชาการในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายกรณีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพทหารที่เสียชีวิตโดยการกระทำของเจ้าพนักงานฝ่ายทหารหรือที่ตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานฝ่ายทหาร ดังนี้

ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ เมื่อได้มีการชันสูตรพลิกศพแล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 150 กำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปยังพนักงานอัยการ และให้พนักงานอัยการทำคำร้องขอต่อศาลยุติธรรมที่เป็นศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้ทำร้ายเท่าที่จะทราบได้

Advertisement

พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ไม่ได้บัญญัติเรื่องวิธีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพไว้ ทำให้ในทางปฏิบัติมีปัญหาข้อกฎหมายว่า หากทหารตายโดยการกระทำของเจ้าพนักงานฝ่ายทหารหรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานฝ่ายทหารซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ จะต้องนำเอาบทบัญญัติเรื่องวิธีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพตาม ป.วิ.อ. มาตรา 150 มาบังคับใช้โดยอนุโลมหรือไม่ ด้วยการส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่ง ตามที่ พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 45 กำหนดให้นำ ป.วิ.อ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม หากเรื่องใดไม่มีในกฎหมาย กฎและข้อบังคับฝ่ายทหาร และศาลที่ไต่สวนนั้นจะเป็นศาลใด เป็นศาลยุติธรรมที่เป็นศาลพลเรือน หรือเป็นศาลทหาร

ในเรื่องนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาในสมัยที่ ดร.หยุด แสงอุทัย เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีคำวินิจฉัยเรื่องเสร็จที่ 129/2501 ว่า วิธีการชันสูตรพลิกศพและการไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพตาม ป.วิ.อ. มาตรา 150 เป็นส่วนหนึ่งของการสวบสวนเพื่อทราบถึงสาเหตุแห่งความตายเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการให้ศาลพลเรือนพิจารณาพิพากษาคดีแต่อย่างใด ดังนั้น แม้ว่าผู้ตายและเจ้าพนักงานจะเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารก็จะต้องอยู่ในบังคับของ ป.วิ.อ. มาตรา 150 เช่นเดียวกัน คือ จะต้องมีการสอบสวน ชันสูตรพลิกศพ และส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งด้วย นอกจากนี้ คำสั่งของกระทรวงกลาโหมที่ 269/16887 ลงวันที่ 15 กันยายน 2499 ซึ่งได้วางข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ตามที่กระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทยตกลงกันก็สอดคล้องกับบทบัญญัติใน ป.วิ.อ. มาตรา 150 ด้วย ดังนั้น ศาลยุติธรรมที่เป็นศาลพลเรือนย่อมมีอำนาจในการไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพในกรณีที่ผู้ตายเป็นทหารและเจ้าพนักงานที่ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายทหารได้ตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 150

แต่ต่อมาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่า ศาลยุติธรรมที่เป็นศาลพลเรือนจะทำการ ไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพได้ก็เฉพาะแต่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือนเท่านั้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2376/2515 และ 21697/2556) เมื่อผู้กระทำความผิดต่อผู้ตายเป็นพลทหารกองประจำการ ซึ่งต้องถูกฟ้องยังศาลทหารตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 13 และมาตรา 16 (3) คดีของผู้กระทำความผิดดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือนและไม่อาจนำ ป.วิ.อ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 45 ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21697/2556) และเจ้าพนักงาน ผู้มีอำนาจสอบสวนย่อมไม่ต้องดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 150 คือ ไม่ต้องส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่ง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2376/2515)

Advertisement

แนวคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้นส่งผลให้มีการส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งแสดงว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย เจ้าพนักงานผู้ใดเป็นผู้ทำร้ายเท่าที่จะทราบได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 150 เฉพาะกรณีที่ผู้ต้องหาไม่ใช่เจ้าพนักงานฝ่ายทหารเท่านั้น

แต่หากพนักงานสอบสวนชันสูตรพลิกศพแล้วเห็นว่าความตายเกิดจากการกระทำผิดอาญาของเจ้าพนักงานฝ่ายทหาร ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร พนักงานสอบสวนก็ไม่ต้องดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 150 คือ ไม่ต้องส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปให้พนักงานอัยการหรืออัยการทหาร เพื่อดำเนินการให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพ แต่พนักงานสอบสวนจะนำรายงานการชันสูตรพลิกศพรวมเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญากับทหารผู้ต้องหา แล้วส่งสำนวนให้อัยการทหารพิจารณาสั่งคดีเช่นคดีอาญาทั่วไป

ซึ่งหากพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของ ป.วิ.อ. มาตรา 150 ที่ต้องการให้คดีการตายโดยการกระทำของเจ้าพนักงานหรือคดีการตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ จะต้องได้รับการตรวจสอบจากศาลชั้นหนึ่งก่อนว่า ความตายเกิดขึ้นจากการกระทำผิดอาญาหรือไม่ และหากไต่สวนแล้วพบผู้กระทำความผิดก็จะได้มีการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวที่วางแนวคำวินิจฉัยไว้ว่า หากผู้ต้องหาเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายทหาร ไม่ต้องมีการส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่ง จึงน่าจะไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ ป.วิ.อ. มาตรา 150 ดังที่กล่าวมา

อย่างไรก็ตาม ต่อมาได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 92/2558 โดยคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ซึ่งมีประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และหัวหน้าสำนักตุลาการทหาร ร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย วินิจฉัยว่า แม้ผู้ตายเป็นทหารกองประจำการและตายในระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานทหาร แต่ก็ยังไม่อาจทราบแน่ชัดว่า เหตุและพฤติการณ์ที่ตายเป็นอย่างไร ถ้าตายโดยคนทำร้ายแล้วใครเป็นผู้ทำร้ายและผู้ที่ทำร้ายเป็นทหารซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่จริงหรือไม่ หลังจากที่ศาลได้ไต่สวนแล้ว จึงอาจมีกรณีที่ทำให้คดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 14 เช่น การตายของผู้ตายมิได้เกิดจากการถูกเจ้าพนักงานที่เป็นทหารทำร้ายหรือเกิดจากการที่ทหารกับพลเรือนกระทำความผิดด้วยกัน หรือเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน กรณีจึงยังไม่แน่ชัดว่าคดีจะอยู่ในอำนาจศาลใดกันแน่ ดังนั้น การไต่สวนชันสูตรพลิกศพคดีนี้ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรมที่เป็นศาลพลเรือน

ตามแนวคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 92/2558 นี้ เป็นผลให้ต้องมีการส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปให้ศาลยุติธรรมไต่สวนและมีคำสั่ง ถึงแม้ว่าผู้ตายเป็นทหารและผู้ต้องหาเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายทหารก็ตาม เนื่องจากยังไม่อาจกล่าวได้อย่างชัดเจนก่อนที่ศาลจะทำการไต่สวนว่า กรณีนี้คดีจะต้องอยู่ในอำนาจของศาลทหารอย่างแน่นอน โดยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเรื่องนี้ ได้ให้เหตุผลที่น่าสนใจไว้ว่า การไต่สวนชันสูตรพลิกศพตาม ป.วิ.อ. มาตรา 150 เป็นการสอบสวนอย่างหนึ่งเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษด้วยวิธีการพิเศษที่บัญญัติให้ศาลต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในชั้นสอบสวน เพื่อให้ศาลไต่สวนและทำคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งเป็นการให้เหตุผลที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ ป.วิ.อ. มาตรา 150 ที่ต้องการให้ศาลเข้ามาไต่สวนเพื่อตรวจสอบการตายที่เกิดขึ้น

ดังนั้น หากถือเอาตามแนวคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 129/2501 และแนวคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 92/2558 ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ ป.วิ.อ. มาตรา 150 ที่ต้องการให้ศาลเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบการตายด้วยการไต่สวนการตายและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพแล้ว คดีการตายของทหารหลายรายในค่ายทหารในช่วงที่ผ่าน ๆ มาจึงต้องมีการส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปให้ศาลยุติธรรมที่เป็นศาลพลเรือนทำการไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพตาม ป.วิ.อ. มาตรา 150 ด้วย

นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและไม่ให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายเรื่องการไต่สวนชันสูตรพลิกศพกรณีทหารตายโดยการกระทำของเจ้าพนักงานฝ่ายทหารหรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานฝ่ายทหารซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ กระทรวงกลาโหมควรที่จะกำหนดให้มีวิธีพิจารณาความเรื่องการไต่สวนชันสูตรพลิกศพไว้ในข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยระเบียบจัดการทางคดีและระเบียบราชการศาลทหารเป็นการเฉพาะ และหน่วยงานต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง ควรมาร่วมกันพิจารณากำหนดรูปแบบและวิธีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพที่ชัดเจนถูกต้องเหมาะสมกรณีทหารตายโดยการกระทำของเจ้าพนักงานฝ่ายทหารหรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานฝ่ายทหารซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ต่อไปด้วย

หมายเหตุ ในการเขียนบทความนี้ ผู้เขียนได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลเรื่องการไต่สวนชันสูตรพลิกศพกรณีทหารเสียชีวิตในค่ายทหารจากท่านผู้ทรงคุณวุฒิในกระบวนการยุติธรรมทางทหาร ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญกฎหมายทหารอย่างดียิ่งท่านหนึ่ง ซึ่งท่านขอสงวนนามไว้ ผู้เขียนจึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image