โพลเผย ปชช.หวัง ‘ตำรวจ-ดีอีเอส’ แก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ บี้กวาดล้างให้สิ้นซากด่วน

Photo by Christina Morillo from Pexels

โพลชี้ ปชช.หวังพึ่ง ‘ตำรวจ-ดีอีเอส’ แก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,221 คน ระหว่างวันที่ 21-24 กุมภาพันธ์ พบว่า การพบเจอมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ส่วนใหญ่พบเห็นจากข่าวทางสื่อต่างๆ ร้อยละ 40.19 รองลงมาคือญาติพี่น้อง/คนรู้จักเคยพบ ร้อยละ 32.87 เคยพบด้วยตัวเอง ร้อยละ 21.02 ไม่เคยพบ ร้อยละ 5.92 โดยคิดว่าเป็นภัยต่อสังคมอย่างมาก ร้อยละ 86.90 สาเหตุที่ระบาดหนักและแก้ไขยากคือมีวิธีการหลอกลวงที่ทันสมัย ไม่ต้องแสดงตัวตน ร้อยละ 76.09 รองลงมาคือมีเครือข่ายรายใหญ่ข้ามชาติ ร้อยละ 69.04

ส่วนวิธีป้องกันแก้ไขปัญหาคือเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องจัดการกับต้นตอ กวาดล้างให้สิ้นซาก ร้อยละ 84.58 รองลงมาคือประชาชนต้องมีสติ ไม่หลงเชื่อ ไม่บอกข้อมูลส่วนตัว ร้อยละ 82.36 โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ควรเข้ามาแก้ไขปัญหาโดยด่วน ร้อยละ 80.88 รองลงมาคือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร้อยละ 73.79

จากผลโพลจะเห็นได้ว่าประชาชนมีประสบการณ์พบเจอมิจฉาชีพโทรศัพท์เข้ามาหลอกหลวง ทั้งการพบเจอด้วยตนเองและคนรอบตัวพบเจอ และปัญหานี้ก็ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นภัยสังคมที่มีมานานกว่า 10 ปี แต่กลับไม่สามารถแก้ไขได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังขยายวงกว้างและมีวิธีการหลอกลวงใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย ประชาชนจึงหวังพึ่งตำรวจให้จับกุม ทลายแก๊งเครือข่ายและผู้อยู่เบื้องหลัง รวมไปถึงทางดีอีเอสเองก็ควรเร่งทำงานสร้างผลงานให้เห็น ไม่เช่นนั้นนับวันประชาชน ก็ต้องตกเป็นเหยื่อมากขึ้น

น.ส.ศีลสุภา วรรณสุทธิ์ ประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการบริการลูกค้า คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า คอลเซ็นเตอร์ไม่ใช่ภัยสังคม แต่มิจฉาชีพที่แอบอ้างเป็นคอลเซ็นเตอร์คือภัยสังคมที่น่ากลัว คอลเซ็นเตอร์คือภาพลักษณ์และกุญแจสำคัญในการพัฒนาองค์การสู่เป้าหมาย มิจฉาชีพที่แอบอ้างเป็นคอลเซ็นเตอร์มาใน 3 รูปแบบหลักคือ 1.ทวงหนี้นอกระบบ 2.หลอกว่าเป็นบริษัทประกัน และ 3.หลอกว่าเกี่ยวข้องกับคดีต่างๆ ประชาชนต้องตั้งสติ ตระหนักรู้ถึงรูปแบบการทุจริตเมื่อโทรเข้าด้วยวิธีต่างๆ เช่น ผู้โทรพยายามสร้างสายสัมพันธ์ ผู้โทรไม่สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับธุรกิจนั้นๆ ได้

Advertisement

โดยตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนตัว พ.ศ.2562 จะมีผลบังคับใช้ในประเทศไทย เจ้าของข้อมูลควรรู้สิทธิในข้อมูลส่วนตัวของตน องค์การต้องทราบขอบเขตในการนำเสนอข้อมูลรวมถึงความปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องมีแผนการประชาสัมพันธ์กฎหมายฉบับนี้ให้ทั่วถึงคนไทยทุกคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image