อธิบดีศาลอาญา ตั้งกก.กำหนดโทษยาเสพติดวางเกณฑ์”ยี่ต๊อก”-เป้าปี60ไกล่เกลี่ยลดขัดแย้ง

นายสุภัทร์ สุทธิมนัส อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา

เมื่อวันที่ 2 มกราคม นายสุภัทร์ สุทธิมนัส อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เปิดเผยถึงการตั้งคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานอัตราโทษจำคุกในคดียาเสพติดว่า ศาลอาญาเป็นศาลหลัก และมีคดียาเสพติดเข้าสู่การพิจารณาของศาลจำนวนมาก ปัญหายาเสพติดแก้ไขยาก เพราะยังหาซื้อง่าย ผู้จำหน่ายต้นทุนน้อย การปราบปรามถึงผู้ผลิตยาก ขณะที่ในปีนี้กำลังจะมีพ.ร.บ.ยาเสพติดแก้ไขใหม่ที่ผ่านสภา กำลังจะมีผลบังคับใช้ มีหลักการสำคัญเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เดิมมีบทบังคับให้ศาลลงโทษจำเลยที่มียาบ้าเกิน15เม็ดให้ถือว่าเป็นผู้จำหน่าย ทั้งที่ความเป็นจริงจำเลยอาจมีเจตนาซื้อยาบ้าคราวละมากๆเพื่อเสพ เนื่องจากหากซื้อบ่อยๆกลัวจะถูกจับ กฎหมายใหม่จึงแก้ไขให้เปลี่ยนจากคำว่า “ให้ถือว่า ” เปลี่ยนเป็น “ให้สันนิษฐานว่า” เป็นผู้จำหน่าย หมายความว่า กฎหมายใหม่จะเปิดโอกาสให้ศาลได้ใช้ดุลยพินิจในการกำหนดโทษให้ถูกต้อง ขณะเดียวกันภาระการพิสูจน์อยู่ที่จำเลย เปิดโอกาสให้จำเลยนำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างพยานโจทก์และเป็นหน้าที่ศาลต้องฟังข้อเท็จจริงให้ยุติและกำหนดโทษถูกต้องเป็นธรรม

นายสุภัทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันศาลอาญาตั้งคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานอัตราโทษจำคุกในคดียาเสพติด ประกอบด้วย ผู้พิพากษาในศาลอาญา เพื่อพิจารณากำหนดอัตราโทษคดีที่มีพฤติการณ์คล้ายๆกันเพื่อลงโทษในอัตราเดียวกัน คณะกรรมการจะพิจารณาจากพยานหลักฐานในคดี จำนวนของกลาง อายุ การศึกษา หรือจำเลยเป็นสตรีมีครรภ์ว่าควรจะลงโทษเท่าใด อาจลงโทษสูงกว่าเดิมหรือน้อยกว่าเดิมก็ได้ แต่คดีลักษณะคล้ายกันจะลงโทษเท่ากัน โดยวิธีนี้จะแก้ปัญหาการใช้ดุลยพินิจลงโทษที่แตกต่างกัน ผู้พิพากษาจะตัดสินแหวกแนวไม่ได้ ถ้ามีคนแหวกแนว อาจถูกศาลสูงพิพากษาแก้ก็เป็นไปได้

นายสุภัทร์ ยังกล่าวถึงข้อมูลคดีทั้งหมดที่เข้าสู่ศาลอาญาด้วยว่า จนถึงวันที่16 ธันวาคม2559 ที่ผ่านมา มีคดีค้างเก่าจากปีก่อน 2,069 คดี มีคดีรับใหม่ 9,533 คดี ขณะที่พิจารณาเสร็จแล้ว 9,390 คดี คิดเป็น 80.93 % คงมีคดีค้าง2,212คดี โดยในปี 2560 ศาลอาญาจะมุ่งพัฒนาการบริหารงานคดี ให้ประชาชนไกล่เกลี่ยเพื่อลดข้อพิพาท ลดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลาและสร้างบรรยากาศที่ดีลดความขัดแย้งในสังคม และการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา จำเลย และพยานให้ได้รับการบริการด้านทนายความขอแรงกับล่าม และการได้พบแพทย์ นอกจากนี้คดีอาญาที่มีมูลความผิดทางแพ่ง สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนโดยไม่ต้องแยกฟ้องเป็นคดีแพ่งอีกสำนวน สำหรับคดีความขัดแย้งทางการเมือง ศาลยุติธรรมจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการเมือง การพิจารณาและตัดสินคดีจะเป็นไปตามข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงในสำนวน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image