รมว.ยุติธรรรม เร่งแก้ปัญหายาเสพติด ดึงภาคปชช.ช่วย แนะ ป.ป.ส.วัดผลกลางใช้มหาวิทยาลัย

รมว.ยุติธรรรม เร่งแก้ปัญหายาเสพติด ดึงภาคปชช.ช่วย แนะ ป.ป.ส.วัดผลกลางใช้มหาวิทยาลัย คาด “ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ” บังคับใช้ทันภายในปีนี้

เมื่อวันทีี 29 เม.ย. ที่กระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมแนวทางการขับเคลื่อนการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ในห้วง 5 เดือนหลัง ของปีงบประมาณ พ.ศ.2567 และปีงบประมาณ พ.ศ.2568 พร้อมด้วย นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม พลตำรวจโท พัฒนวุธ อังคะนาวิน ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงยุติธรรม นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส.

พ.ต.อ.ทวี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมแนวทางการขับเคลื่อนการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในห้วง 6 เดือนหลัง และปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ว่า วันนี้ถือเป็นการประชุมวาระสำคัญ เรื่องการแก้ปัญหา การป้องกันและปราบปรามปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะการที่มีงบบูรณาการ ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายส่วน จำนวน 28 หน่วยงาน เราจึงอยากให้การบูรณาการครั้งนี้ได้มีการนำเอาปัญหาและผลกระทบมากางให้เห็นชัดเจน เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดให้เกิดผลในทางปฏิบัติ เพราะปกติแล้วงบบูรณาการจะไม่ใช่การปิดงบเหมือนพวกงบก่อสร้าง แต่เป็นงบในการแก้ปัญหา อีกทั้งส่วนใหญ่แล้วจะได้งบบูรณาการดังกล่าวปีละ 4,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้เหลือ 2,000-3,000 ล้านบาท

พ.ต.อ.ทวี ยังกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ผ่านออกมาแล้ว จึงต้องมีการพูดคุยกันเพื่อหวังผล 2 ด้าน คือ 1.ด้านการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยจะต้องมีการประเมินผล และ 2.ด้านการทำให้ประชาชนมีความรู้สึกพึงพอใจ เนื่องจากที่ผ่านมาเราอาจจะพึงพอใจในสถิติการจับกุมที่มันเพิ่มขึ้น หรือมีสถิติการบำบัดรักษาเยอะขึ้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนก็ยังไม่ลดลง นี่จึงเป็นอีก 1 ตัวชี้วัด นอกจากนี้ เราจะได้ดูด้วยว่างบบูรณาการดังกล่าว หน่วยงานใดก็ตามที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหายาเสพติดอาจจะมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ เพื่อให้สอดคล้องกัน เพราะปัญหาใหญ่ คือ ผู้เสพยาเสพติด หรือผู้ติดยาเสพติดยังคงมีจำนวนมาก และที่ผ่านมาหลายหน่วยงานอาจมีปัญหาเรื่องการประสานงานในกระบวนการยุติธรรม

Advertisement

พ.ต.อ.ทวีกล่าวอีกว่า สิ่งที่ตนมองก็คือเรื่องประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ พ.ศ.2564 บังคับให้ผู้เสพต้องมีความสมัครใจที่จะเข้าบำบัดรักษา แต่ถ้าผู้เสพไม่สมัครใจเข้าบำบัดก็จะถูกจับกุมดำเนินคดี และเมื่อไปศาลแขวง ศาลก็จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 48 ชม. ในขณะที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ จะต้องใช้เวลาถึง 45 วัน ศาลก็จะสั่งไปคุมประพฤติ ตามมาตรา 56 และใน 48 ชม.นี้ ก็อาจมีการปล่อยให้ผู้เสพไปคุมประพฤติอยู่ในสังคมหลายแสนราย ตรงนี้จึงทำให้ชุมชนเกิดปัญหาขึ้น เราเองก็ต้องมีคณะกรรมการพัฒนากระบวนการยุติธรรม จะต้องเอาข้อมูลไปประสาน

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ถ้าศาลไม่สั่งให้ผู้เสพได้รับการบำบัด ก็จะทำให้คนกลุ่มนี้กลับไปอยู่ในชุมชน จึงทำให้ผู้คนรู้สึกว่ายาเสพติดไม่ได้ลดลง วันนี้จึงเป็นการเอาปัญหามาพูดคุยกันเพื่อเข้าสู่การแก้ไขอย่างเร่งด่วน อีกทั้งจะช่วยทำให้ทุกหน่วยงานเข้าใจสถานการณ์ยาเสพติดและปัญหาไปพร้อมกัน รวมถึงเป็นโจทย์ว่าจะทำให้ประชาชนมีความพึงพอใจในการแก้ปัญหายาเสพติดของรัฐบาลอย่างไร

พ.ต.อ.ทวีกล่าวต่อว่า รัฐจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหายาเสพติด โดยรัฐจะต้องไปปกป้องคุ้มครองประชาชนที่เป็นอาสาสมัครที่เข้าไปแก้ปัญหายาเสพติด แต่ตอนนี้อยู่ระหว่างลงรายละเอียดกันอยู่ ตนก็ต้องขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขที่ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับนักเสพป่วยจิตเวช หรือรองรับกลุ่มที่เสพติดยาเสพติด และต้องเตรียมพื้นที่สำหรับการบำบัดและฟื้นฟูอีกด้วย เหนือสิ่งอื่นใดเราตั้งใจจะนำผู้เสพยาเสพติดเข้ารับการบำบัดให้มากที่สุด เพราะประชาชนในชุมชนได้รับความเดือดร้อน

อีกทั้งในกระบวนการของกฎหมายยังไม่ชัดเจน เพราะบางราย ศาลได้มีคำสั่งให้กลับไปคุมประพฤติในสังคม ทำให้พวกเขาต้องกลับไปอยู่ในหมู่บ้าน ทราบว่าตัวเลขมีถึง 200,000 ราย โดยเราจะต้องไปแก้ปัญหาตรงนี้ และเหลือเวลาอีกไม่ถึง 6 เดือน ตนก็อยากให้มีการวัดผล และขอให้ ป.ป.ส. มีการวัดผลที่เป็นกลาง โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ มหาวิทยาลัยที่เป็นกลางมาช่วยดู นำเอาเสียงสะท้อนมาแก้ปัญหา

พ.ต.อ.ทวีกล่าวเสริมว่า การทำอะไรก็ตามถ้าได้ทำ? ตนถือว่าไม่ล้มเหลว แต่สิ่งที่ล้มเหลว คือ สิ่งที่ไม่ได้ทำ ส่วนกรณีที่ผู้ต้องขังคดียาเสพติด หรือผู้เสพติดยาเสพติด เมื่อออกมาก็กระทำความผิดเหมือนเดิมนั้น บางส่วนสังคมไม่ยอมรับ เหตุใดไม่มีโทษหนักไปเลย ตนอยากชี้เเจงว่าความยากของการพัฒนาพฤตินิสัย คือ ปัญหานักโทษล้นเรือนจำ

ปัจจุบันเรือนจำรองรับผู้ต้องขังได้ไม่เกิน 200,000 ราย แต่ตอนนี้มีเกือบ 300,000 และความยากอีกอย่างคือผู้ต้องขังในเรือนจำส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำกว่าเกณฑ์ ภาคบังคับ คิดเป็น 75% และความยากสุดท้ายคือการกลับเนื้อกลับใจของผู้ต้องขัง แต่สังคมก็ยังตราหน้า ยังมีอคติ ดังนั้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่กรมราชทัณฑ์จะต้องไปพิสูจน์ เช่น ต้องให้การศึกษาแก่ผู้ต้องขังเมื่ออยู่ในเรือนจำ เพราะเชื่อว่าการได้รับการศึกษาหรือมีวิชาชีพ จะลดโทษยาเสพติดได้มากกว่า 50%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image