“วิษณุ”ปาฐกถา”16ปีศาลปกครอง”ฝากแก้ปัญหาคำวินิจฉัยไม่ชัดเจน ขาดการตีความ หน่วยงานรัฐสับสน

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 9 มีนาคม ที่ชั้น 9 อาคารศาลปกครอง ถนนเเจ้งวัฒนะ ศาลปกครองจัดปาฐกถาเกียรติยศ”ใต้ร่มพระบารมี…16ปี ศาลปกครอง”โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

นายวิษณุ ปาฐกถาสรุปว่า เเนวคิดการจัดตั้งศาลปกครองมีมาตั้งเเต่สมัยเปลี่ยนเเปลงระบอบการปกครองสมัยรัชกาลที่ 7 เเต่สามารถจัดตั้งได้ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช(รัชกาล9) ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นรัชสมัยของรัชกาล9 เคยจะเสนอให้จัดตั้งศาลปกครอง เป็น3ระลอก โดยมีเหตุผลเป็นขั้นตอนว่ามีศาลยุติธรรมไปเเล้ว ทำไมถึงต้องมีศาลปกครองอีก การตั้งเกิดหลายศาลทำให้เกิดปัญหา เเละหากตั้งศาลปกครองขึ้นมาจะต้องสังกัดขึ้นกับหน่วยงานใด ที่ไหน เเละสุดท้ายอำนาจควรจะมีเเค่ไหน เเละใครชี้ขาดอำนาจศาล ก่อนหน้านี้ตนเสนอในรัฐธรรมนูญฉบับปี34 เเต่ติดข้อขัดข้องตามคำถามในสภามากมาย พอกาลเวลาผ่านมาได้ตอบคำถามหลายคำถามดังที่กล่าวมา จนกระทั่งมีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นมาได้จากรัฐธรรมนูญ40 เรียกกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยที่มีศาลปกครองที่เป็นอิสระไม่ได้ขึ้นสังกัดหน่วยงานใดในรัฐบาล

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ศาลปกครองก่อตั้งมาจนวันนี้16ปี เเละคำว่าศาลปกครอง “ใต้ร่มพระบารมี” เเปลว่าการมีชีวิตภายใต้การปกครองดูเเลของรัชกาลที่9 เเละเกิดขึ้นในสมัยของพระองค์ เเละปีที่16เป็นปีสุดท้ายของรัชสมัย ศาลปกครองจึงมีความผูกพันธ์กับพระองค์ท่าน อย่างตราสัญลักษณ์เป็นตราที่รัชกาลที่9พระราชทานให้ เเละสัญลักษณ์ที่พระราชทานนั้นเป็นคทาจอมทัพ มาประกอบเป็นก้านของตราสัญลักษณ์ศาลปกครอง โดยสัญลักษณ์คทาจอมพลนี้พระองค์ไม่เคยที่จะพระราชทานให้ใครมาก่อนทั้งที่มีหน่วยงานสังกัดทหารเคยมาขอพระราชทานเ เต่ก็ไม่ได้อย่างที่ศาลปกครองได้

“ผมถือว่าศาลปกครองที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ ได้สืบสานปณิธานเเละมีส่วนในการเเก้ปัญหาบ้านเมืองที่จะรักษาความสงบร่มเย็นเป็นสุขให้กับประชาชน”นายวิษณุกล่าว

Advertisement

นายวิษณุกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา16ปีศาลปกครองมีการดำเนินงานที่มีปัญหาตกค้างที่เกิดขึ้นในใจของคน2กลุ่มนี้ คือ ฝ่ายประชาชนจะคิดว่าเมื่อศาลปกครองมีคำตัดสินแล้ว การบังคับคดียังไม่สามารถเยียวยาได้สมกับสิทธิ์หรือสมกับสิ่งที่ศาลพิพากษาเอาไว้ เช่น ศาลปกครองตัดสินว่าการมีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายไม่ถูกต้องให้มีการเพิกถอน แต่มีคำถามที่ตามมาว่าจะจัดการอย่างไร ในเมื่อคำสั่งย้ายนั้นเกิดเมื่อหลายปีก่อน ผู้ฟ้องคดีเกษียณอายุไปแล้ว หลายคดีผู้ฟ้องคดีให้สัมภาษณ์ว่าแค่นี้ก็ชื่นใจไม่ต้องให้กลับคืนสู่ตำแหน่ง แต่อยากให้เป็นบรรทัดฐานรุ่นน้องในการทำงานต่อไป หรืออย่างกรณีศาลมีคำพิพากษาให้หน่วยงานไปแก้ไข แต่หน่วยงานกลับไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาจะทำอย่างไร แต่ทราบว่าศาลแก้ไขกฎหมายและระเบียบเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวไปบ้างแล้ว ปัญหาเหล่านี้ศาลจะแก้ไขอย่างไรก็ต้องคิด เพราะถ้าไม่เช่นนั้น ถ้าไม่ทำอะไรปีที่17-18ของศาลปกครอง อาจต้องเผชิญกับปัญหาความเชื่อมั่นที่มีของประชาชน ในส่วนที่กระทบต่อหน่วยงานรัฐอยู่ ตนถือว่าอยู่ในหน่วยงานรัฐเคยประชุมวันละ3เวลา เปิดตำราเเทบไม่ทันเนื่องจากปัญหาคำพิพากษาของศาลปกครอง โดยปัญหาที่ว่านั้้นต้องเรียนว่ารัฐไม่ได้ขัดข้องเลย หากศาลมีคำพิพากษาให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติอย่างไร เเต่ปัญหาคือเรื่องความไม่เข้าใจคำพิพากษาว่าศาลสั่งให้ทำอย่างไร ทำให้เราปฏิบัติไม่ถูก ไม่ว่าเราจะไม่เข้าใจจริงหรือเเกล้งไม่เข้าใจจริงก็เเล้วเเต่ อย่างคดีที่ผ่านมา เช่นคดีท่อก๊าซของ ปตท. คดีตั้งกังหันลม ที่ดิน สปก. บางครั้งหากเราไม่เข้าใจเราก็ใช้การยื่นคำร้องตีความคำวินิจฉัย เเต่สุดท้ายศาลไม่ได้ตีความให้

“หากฟังเเบบไม่อคติผมเคยสงสัยว่าเวลาศาลยุติธรรมตัดสิน คนไม่เคยสงสัยคำพิพากษาเเละก้มหน้าก้มตาปฎิบัติตาม เพราะอะไรที่ศาลยุติธรรมไม่ได้สั่งไว้เราก็สามารถปฏิบัติได้ เเต่คำวินิจฉัยของศาลปกครองนั้นไม่เหมือนกัน คำพิพากษาของ ศาลยุติธรรมจะใช้เฉพาะคู่กรณี ส่วนคำพิพากษาของศาลปกครองจะเป็นการวางหลัก เเละมีคำวินิจฉัยที่เป็นการวางหลักต่างๆเช่น คำว่าขาดเหตุผลอันสมควร ,กรณีเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือคำว่า ขัดหลักนิติธรรม การวางหลักดังกล่าวย่อมมีมุมมองที่ไม่เหมือนกัน เช่น ฝ่ายบริหารมองว่าคำสั่งไม่ขัดหลักนิติธรรม เเต่ก็ต้องมาดูอีกว่า ศาลจะเชื่อหรือไม่ ทั้งที่เราก็ไม่รู้ว่าอะไร คือหลักนิติธรรมกันเเน่ ทำให้เราย้อนกลับไปสมัยก่อนก่อตั้งศาลปกครองที่มีคำถามว่าอะไรควรเกิดก่อนระหว่างกฎหมายปกครอง หรือศาลปกครอง ตอนนั้นมีข้อถกเถียงกัน จนได้ข้อสรุปว่าให้ศาลปกครองเกิดก่อนมิเช่นนั้นกว่าจะร่างกฎหมายปกครองเสร็จจะต้องรอหลายสิบปี ต่อมาคำพิพากษาของศาลปกครองที่ผ่านมาจึงเป็นการสร้างหลักกฎหมาย

“ผมขอใช้คำว่าสับสน หรือเเกล้งสับสนก็ได้ เพราะที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาเเละหน่วยงานรัฐไม่ปฏิบัติตามเพราะไม่ค่อยเเน่ใจ หรือหาเรื่องไม่ปฏิบัติตามกันเเน่ อย่างถ้าวางหลักไว้ว่าเรื่องเเบบนี้ขัดหลักนิติธรรม ต่อไปถ้าเป็นเเบบนี้ก็ต้องขัดตามคำพิพากษาของศาลปกครองต่อไป คำวินิจฉัยบางเรื่องเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ หรือทำให้การพัฒนาบริหารราชการเเผ่นดินสะดุดได้ คำกล่าวนี้อาจดูรุนเเรงเเต่ผมไม่ได้เป็นคนพูดเอง เเต่เเค่เอามาเรียนให้ทราบ”นายวิษณุกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image