ปลัดฯยธ. เผย ปัญหาที่ดิน- มรดก เพิ่มขึ้น ชี้ปมขัดแย้ง ดราม่า “แม่ประนอม” ละเอียดอ่อน

นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม

ปลัดฯยุติธรรม เผย ปัญหาพิพาทที่ดิน- มรดก เพิ่มสูงขึ้น ตามมูลค่าของทรัพย์ ชี้ปม ดราม่าครอบครัว แม่ – ลูก “แม่ประนอม”สังคมไทยมองเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนางประนอม แดงสุภา ผู้ก่อตั้งธุรกิจน้ำพริกเผาแม่ประนอม ในนามบริษัท พิบูลย์ชัยน้ำพริกเผาไทยแม่ประนอม จำกัด เดินทางเข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรม โดยกล่าวอ้างถูกปลอมแปลงเอกสารและโอนที่ดินกองมรดกไปเป็นของลูกสาว ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า สำหรับกรณีข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในสังคมที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์ อีกทั้งกระทรวงยุติธรรม ได้รับเรื่องร้องเรียน ลักษณะเช่นนี้จำนวนมาก ติดอันดับต้นของปัญหา เช่นเรื่องที่ดิน จากมรดก เป็นคดีแพ่ง ควบคู่กับคดีอาญา เป็นเรื่องของการปลอมแปลงเอกสาร ฉ้อโกง จะเกิดขึ้นในครอบครัว ที่มีทรัพย์สินที่ดิน หรือเรียกว่ามีฐานะปานกลางถึงร่ำรวย มีญาติพี่น้องหลายคน เกิดปัญหาระหว่างกัน

นายชาญเชาวน์ ยังกล่าวด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น คือบุคคลในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่ ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก กับการลงนามลายมือชื่อในเอกสารต่าง ว่าเนื้อหาโดยร่วมเป็นอย่างไร อีกทั้งสังคมไทยไว้วางใจคนในครอบครัวเดียวกัน ไม่คิดว่าญาติ พี่น้อง จะมีปัญหาฟ้องร้องต่อกัน แต่ด้วยสภาพสถานะทางสังคม มูลค่าของทรัพย์มีมูลค่ามากขึ้น ความต้องการยากได้มาครอบครองก็เพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นเหตุให้กลายเป็นเรื่องฟ้องและเกิดข้อพิพาทมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่กระทรวงยุติธรรมทำได้ก็คือปรึกษาแนะนำ ความรู้ ความเข้าใจ การจัดการมรดก การทำพินัยกรรมของครอบครัว ให้ชัดเจน ตามข้อกฎหมาย ที่ใช้เป็นหลักสากล ควรบอกให้ชัดว่าให้ใคร อย่างไรบ้าง นอกจากนี้ ควรมีข้อตกลงร่วมกันของทายาทว่ามอบให้ใครเป็นผู้ร้องศาลเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งในทางปฏิบัติ สถาบันการเงิน หรือหน่วยงานในการทำธุรกรรม ต้องการคำสั่งศาลที่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้จัดการมรดก แม้จะมีระบุในพินัยกรรมก็ตาม

นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า ส่วนกรณีของนางประนอม คงยังไม่สามารถให้ความเห็นในเรื่องนี้ได้ เพราะไม่ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด อีกทั้ง เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดนครปฐม เบื้องต้นเท่าที่ตนติดตามข่าวสารนั้น ยังทราบข้อมูลไม่ละเอียด จึงยังไม่ชัดเจน แต่เป็นกรณีเรื่องการจัดการมรดก อีกทั้ง นางประนอมยังมีการกล่าวอ้างว่าถูกหลอกให้เซ็นเอกสารการโอนที่ดิน มรดก และหุ้น ให้กับลูกสาวคนโต รวมถึงมีการปลอมลายเซ็นต์ หรือความจริง อาจะมีการเซ็นจริงแต่เป็นการเข้าใจผิด อย่างไรก็ตาม ทางกฎหมายสามารถพิสูจน์ทราบได้ ทั้งนี้คงต้องรอฟังข้อมูลของลูกสาวคนโตที่นางประนอมกล่าวหาว่าโกงกิจการว่าจะมีข้อมูลอย่างไรบ้าง

Advertisement

นายชาญเชาวน์ ยังระบุว่า ในข้อกฎหมายต้องพิสูจน์ว่าใครเป็นผู้ขอจัดการมรดกบ้าง และอำนาจหน้าที่ในการจัดการมรดกเป็นอย่างไร และหากมีพินัยกรรมก็ต้องดูว่าเนื้อหาในพินัยกรรมเป็นอย่างไร แต่ถ้าไม่มีก็ต้องดูว่าใครเป็นผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก และศาลสั่งให้ใครเป็นผู้จัดการมรดก

“เรื่องราวดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในครอบครัว ของนางประนอม ซึ่งมีกลุ่มลูกๆ ออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นต้องมาจากความขัดแย้ง และมีปัญหา ระหว่างกลุ่มคนทั้งสองกลุ่ม แต่ปัญหาลึกๆ หรือข้อเท็จจริงทั้งหมดไม่มีใครทราบว่าสิ่งที่เกิดขึ้น มากจากสาเหตุใด แต่ที่กลายเป็นประเด็นให้มีการวิพากษ์ วิจารณ์ หรือ ดราม่าในสังคม เพราะผลิตภัณฑ์ของนางประนอมเป็นที่รู้จักแพร่หลาย รวมทั้งเป็นประเด็นอ่อนไหว เพราะมีการระบุว่าถูกลูกไล่ออกจากบ้าน เรื่องแบบนี้สังคมไทยมองว่าเป็นประเด็นละเอียดอ่อน แต่ในทางข้อกฎหมายการไล่ออกบ้าน หมายถึง การฟ้องขับไล่ แม่ตัวเองตามสิทธิ์ ของผู้จัดการทรัพย์ แต่ประเด็นนี้ผมยังไม่แน่ใจว่า ไล่ด้วยอารมณ์ หรือไล่ด้วยกฎหมาย แต่ต้องยอมรับว่าไม่ว่าข้อเท็จจริงเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ลูกสาวคนโตของนางประนอม กำลังถูกสังคมมองในแง่ร้ายไปแล้ว”ปลัดกระทรวงยุติธรรมกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image