“วิษณุ” เผย เตรียม ชงนายกฯตั้งสนง.ปฏิรูปกฎหมาย ในระยะเร่งด่วน ออก กม. สำคัญ-กม.สื่อ

เมื่อเวลา 18.40 น. วันที่ 5 มีนาคม ที่ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกต ประตูน้ำ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “ปฏิรูปกฎหมาย จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ในงานสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยครบรอบ 63 ปี ตอนหนึ่งว่า กฎหมายในไทยหลายฉบับเป็นกฎหมายที่เกิดมานาน ซึ่งหากพบไม่ถูกต้องจะต้องแก้ไขจึงเป็นที่มาของการปฏิรูปกฎหมาย หรือ reform โดยการปฏิรูปกฎหมาย เกิดขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งเวลานี้ไทย มีกฎหมายกว่า 20,000 ฉบับ เก่าบ้าง ดีบ้างไม่ดีบ้าง และจะออกมาเรื่อยๆ ซึ่งรัฐบาล คสช. เข้ามาบริหารประเทศ 3 ปีเศษ ออกกฎหมายมาแล้วกว่า 300 ฉบับ ถือว่ามากโขอยู่ เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลสมัยนายกฯสมัคร จนถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เกือบ 7 ปี ออกกฎหมายได้ 120 ฉบับ ถ้าจะคุยทับกัน ก็ต้องบอกว่าเราออกกฎหมายได้มากกว่า แต่ปริมาณไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะรัฐบาลไม่สามารถเข้าสภาได้ ต้องเห็นใจว่า 7 ปีนั้นเป็นรัฐบาลไม่ปกติ ด้วยเหตุนี้เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามา จึงได้ขอให้กระทรวง ทบวง ช่วยยื่นเรื่องมาเพื่อออกกฎหมาย จึงเป็นที่มาว่ามีกฎหมายทยอยออกในรัฐบาลนี้

นายวิษณุ กล่าวว่า วันนี้เราพูดถึงการปฏิรูป 3 เวลาหลังอาหาร จะปฏิรูปก่อนหรือหลังเลือกตั้งก็แล้วแต่ แต่ต้องทำ ไม่ใช่เพราะพล.อ.ประยุทธ์ หรือ กปปส.อยากให้ทำ แต่เพราะรัฐธรรมนูญสั่งให้ทำ ไม่ใช่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อยากให้ทำ แต่เพราะคนทั้งประเทศอยากให้มีการปฏิรูป จึงได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปทั้ง 13 ด้าน รวมถึงการปฏิรูปด้านกฎหมาย ที่ทำแผนเพื่อให้คนอื่นได้ปฏิรูป

นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงกฎหมาย ต้องประกอบด้วย 3 อย่าง คือ1.มีคุณภาพหรือไม่ 2.ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนหรือไม่ และ 3.การบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งสำคัญกว่าปริมาณ ดังนั้นวันนี้เราต้องการการปฏิรูปกฎหมาย โดยการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยจะต้องประกอบด้วย 4 P 1. Purpose 2.Process 3.Personal เละ 4.public เมื่อครบทั้ง 4 P ถึง เรียกว่า reform เหตุที่เราต้องปฏิรูปกฎหมาย

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า เนื่องจาก เรามีกฎหมายเก่าแก่ ล่าสมัย ซ้ำซ้อน ไม่เป็นธรรม และขัดกัน และต้องปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและพันธะระหว่างประเทศ โดยจะต้องทบทวนกฎหมายที่ออกมาทุก 5 ปี ที่สำคัญกฎหมายที่ยังไม่มีก็ควรต้องออกมาสักที เช่น อูเบอร์ บิดคอยน์ ซึ่งหน่วยงานที่ดูและเรื่องการปฏิรูปกฎหมาย นอกเหนือจากคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ในอนาคตตนเตรียมเสนอนายกฯ ตั้งสำนักงานปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน เพื่อที่จะออกกฎหมายสำคัญ รวมถึงกฎหมายสื่อมวลชนด้วย ทั้งนี้หากสามารถปฏิรูปได้ตามนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนประเทศ แต่สิ่งสำคัญจะต้องบังคับใช้ให้เป็นไปตามกฎหมายและทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image