หมอผิวหนังเตือนฮิตสัก ระวัง!ติดเชื้อตับอักเสบ/เอชไอวี แนะหากชอบจริงเลือกสีคุณภาพ

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการสักผิวหนังเพื่อความสวยงามกำลังเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย บางคนสักเพื่อลดระยะเวลาการแต่งหน้า เช่น การสักคิ้ว สักปาก สักแก้ม เป็นต้น การสักในบริเวณที่ไม่เหมาะสม อาจส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพในการสมัครทำงานในองค์กรต่างๆ ในอนาคตได้ อีกทั้งขณะนี้เครื่องมือและสีที่ใช้ในการสักยังไม่มีการรับรองความปลอดภัยจากหน่วยงานใด และไม่ได้อยู่ในหลักเกณฑ์ของสถานพยาบาลหรือสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่จะต้องขึ้นทะเบียน และควบคุมมาตรฐานจาก สธ.จึงขอให้ผู้ที่ต้องการสักตระหนักและเลือกใช้สถานบริการที่น่าเชื่อถือ เพื่อความปลอดภัย เพราะหากใช้เครื่องมือที่ไม่สะอาด ไม่เปลี่ยนเข็มสัก หรือใช้สีสักขวดเดียวกันมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อได้

ด้าน นพ.เวสารัช เวสสโกวิท รองผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ สธ.กล่าวถึงรายงานเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการสักว่า พบได้ร้อยละ 75 ของผู้สักทั้งหมด โดยจะมีอาการเจ็บแสบบริเวณแผล มีอาการคัน บวม เป็นหนอง มึนงง ปวดศีรษะ เป็นไข้ สาเหตุจากการแพ้สีสักและเครื่องมือที่ใช้ในการสักมีการปนเปื้อนเชื้อโรคต่างๆ บางรายที่สักมาแล้วเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเป็นรอยแผลเป็นที่เห็นชัดเจนบนใบหน้าและร่างกาย ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล ที่สำคัญคือหากใช้เข็มซ้ำกับคนอื่น หรือนำสีสักที่เหลือมาสักต่อ ก็อาจติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี เชื้อรา หรือเอชไอวีได้

bp9zjobtqqc8

นพ.เวสารัช กล่าวอีกว่า ปัญหาที่พบบ่อยคือ การสักเฮนน่า ซึ่งเป็นสีธรรมชาติที่ทำจากรากไม้ ขณะนี้มีผู้สักบางรายแอบนำสีย้อมผมใช้แทนเฮนน่า เพื่อให้มีสีเข้มและติดทนนานขึ้น นอกจากนี้ สีสักมักใช้สีที่ผลิตมาเพื่ออุตสาหกรรม เช่น สีเคลือบรถยนต์ สีหมึกพิมพ์ สีทาบ้าน ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เนื่องจากจะมีโลหะหนักและสารไฮโดรคาร์บอนก่อมะเร็งผสมอยู่ รวมทั้งหากต้องการลบรอยสักต้องใช้ลำแสงเลเซอร์ ไปทำลายอนุภาคของเม็ดสีให้กระจายตัวออก กลายเป็นสารก่อมะเร็งต่าง ๆ อาจจะทำให้เกิดมะเร็งตามมา หากผู้ที่สักป่วยและต้องเข้ารับตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI) ซึ่งเป็นเครื่องแม่เหล็กไฟฟ้าแรงสูง จะเกิดการดูดกันระหว่างโลหะหนักที่ผสมอยู่ในสีที่สักกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเครื่องตรวจ ผู้ป่วยอาจเกิดอาการแสบร้อนบริเวณรอยสักได้

Advertisement

“ขอแนะนำผู้ที่ต้องการสักลายสวยงามบนผิวหนัง ให้ใช้วิธีติดสติ๊กเกอร์แทททูที่สามารถเปลี่ยนลายได้บ่อยๆ แทนการสัก หากต้องการสักจริง ควรสักบริเวณที่เหมาะสมและเล็กที่สุด ควรใช้สีเดียวในการสัก โดยเฉพาะสีดำเพราะจะแก้ไขรอยสักได้ง่ายกว่าสีอื่น ที่สำคัญควรคำนึงถึงความสะอาดและความปลอดภัยของสถานที่ เครื่องมือ สีที่ใช้ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมา” นพ.เวสารัช กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image