สัมผัสเมอร์ส ตามมากักตัวแล้ว 32 คนขาดอีก 8 เร่งตาม สธ.จ่ายค่ากักตัววันละ 500

เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) แถลงข่าว “ความคืบหน้าอาการผู้ป่วยยืนยันโรคเมอร์ส หรือโรคทางเดินหายในตะวันออกกลาง รายที่ 2 ในประเทศไทย” ว่า หลังจากสถาบันบำราศนราดูร ได้รับผู้ป่วยยืนยันโรคเมอร์สจำนวน 1 ราย ซึ่งเป็นชายชาวโอมาน อายุ 71 ปี อาการโดยรวมคงที่ มีไข้ต่ำๆ ประมาณ 38 องศาเซลเซียส ไอเล็กน้อย ทั้งนี้ ยังหายใจเร็ว จึงยังต้องให้เครื่องช่วยหายใจ แต่อาการโดยรวมสามารถลุกเดินเข้าห้องน้ำได้ รับประทานอาหารเองได้ ที่สำคัญผู้ป่วยยังพักรักษาตัวในห้องแยกโรค เพื่อเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด

นพ.อำนวย กล่าวว่า สำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงนั้น เดิมมีจำนวน 37 คน แต่จากตรวจสอบเพิ่มเติมจากกล้องวงจรปิดพบเพิ่มเป็น 40 คน ประกอบด้วยผู้โดยสาร 22 คน (เป็นคนไทย 4 คน ชาวต่างชาติ 18 คน) คนขับแท็กซี่ 2 คน พนักงานโรงแรม 4 คน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล 11 คน ญาติ 1 คน ติดตามตัวได้แล้ว 32 คน ที่เหลืออีก 8 คนทราบชื่อและมีข้อมูลหมดแล้วอยู่ระหว่างติดตาม

พญ.จริยา แสงสัจจา ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า ผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงจำนวน 32 คนนั้น มี 9 คนได้เข้ารับการดูแลที่สถาบันบำราศฯแล้ว เป็นญาติผู้ป่วย 1 คน คนขับแท็กซี่ ผู้ร่วมเดินทางในเครื่องบินเป็นคนไทย 1 คน และเป็นชาวโอมานอีก 5 คน ขอย้ำว่าทุกคนสบายดี ไม่แสดงอาการใดๆ และยังไม่ใช่ผู้ป่วย เพียงแต่โดยระบบจะต้องมีการเฝ้าระวังโรคจนครบระยะฟักตัว 14 วัน อย่างไรก็ตาม สำหรับญาติผู้ป่วยผลการตรวจเชื้อเป็นลบ ส่วนค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโอมานจะต้องจ่ายเอง แต่สำหรับผู้สัมผัสโรคนั้นที่มาอยู่สถาบันฯ จะมีค่าชดเชยให้วันละ 500 บาท

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีผู้ป่วยรายนี้เข้ามารักษาโรคในไทย ทั้งที่ป่วยเป็นโรคเมอร์ส ถือว่ามีความเสี่ยงสูงในการแพร่กระจายโรคหรือไม่ เพราะขาดกลไกระหว่างประเทศในการควบคุมโรค นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ต้องดูที่เจตนา แต่จากการติดตามพบว่า ผู้ป่วยอาจไม่ทราบว่ามีอาการของโรคเมอร์ส แต่จะมารักษาโรคอื่นๆ ซึ่งผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ส่วนปัญหาที่กังวลนั้น ทางกรมควบคุมโรค และกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำหนังสือถึงองค์การการบินระหว่างประเทศ และสายการบินที่มาจากพื้นที่เสี่ยงโรคเมอร์สทุกสายการบิน ให้คัดกรองผู้โดยสารเบื้องต้นก่อนขึ้นเครื่องทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดโรคติดต่อที่เป็นอันตรายในไทย ขณะเดียวกันยังทำหนังสือถึงสถานทูตโอมานเพื่อเข้มงวดเรื่องนี้ ที่สำคัญยังทำหนังสือเพื่อให้องค์การอนามัยโลกทราบว่ มีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่แต่ละประเทศจำเป็นต้องหามาตรการมาดูแลร่วมกันต่อไป

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีผู้ป่วยที่ทราบว่าป่วยโรคติดต่ออันตราย แต่ปกปิดจะมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2523 ไม่ได้เอาผิดผู้ป่วย แต่จะเอาผิดกับสถานที่ที่ให้ผู้ป่วยพัก สถานพยาบาล และแพทย์ที่ทราบว่าป่วย แต่ไม่แจ้งกับหน่วยงานภาครัฐ แต่กรณีผู้ป่วยรายนี้มองว่า ไม่ทราบว่าป่วยมากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image