‘ผสานวัฒนธรรม’ ห่วงปม จนท.บุกค้นปอเนาะปัตตานี หนุนใช้พลเรือนแทนทหาร สร้างความเชื่อมั่น

เมื่อวันที่ 31 มกราคม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ “หยุดการใช้มาตรการทหารทุกรูปแบบในโรงเรียน แนะให้ใช้หน่วยงานพลเรือน” ภายหลังชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 4 ต.ถนน อ.มายอ จ.ปัตตานี แจ้งข้อมูลเบาะแสพบเห็นกลุ่มชายฉกรรจ์วัยรุ่นประมาณ 5-6 คน มีพฤติกรรมน่าสงสัยในเวลากลางดึก รวมตัวกันทำการฝึกฝนร่างกายคล้ายการฝึกทางยุทธวิธีทางทหาร จึงได้มีการสนธิกำลังร่วม 3 ฝ่าย ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองเข้าตรวจสอบพิสูจน์ทราบตามข้อมูลดังกล่าว พบกลุ่มวัยรุ่นอายุ 20-25 ปี จำนวนกว่าสิบคน กำลังใช้บริเวณสนามด้านหลังสถาบันศึกษาปอเนาะมัดรอสาตูลฟาละห์ ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 4 ต.ถนน อ.มายอ จ.ปัตตานี ฝึกท่ายุทธวีการต่อสู้ จึงได้ควบคุมตัวซักถาม พร้อมเชิญตัวเจ้าของปอเนาะให้ข้อมูล

ด่วน!! มทภ.4ส่งกำลังสอบ 5วัยรุ่นลอบฝึกยุทธวิธีทหารหลังปอเนาะมายอ เร่งขยายผล หวั่นโยงแนวร่วมป่วนใต้
ผบ.ฉก.ปัตตานีติดตามกลุ่มผู้ต้องสงสัยฝึกยุทธวิธี พบ 5 น.ร.ปอเนาะเป็นชาวเขมร
กอ.รมน.ภาค 4 ยันไม่มีเจตนากลั่นแกล้งสถาบันการศึกษาปอเนาะ

แถลงการณ์ระบุว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2562 ช่วงเวลาประมาณเวลา 22.30 น. ณ สถาบันศึกษาปอเนาะมัดรอสาตูลฟาละห์ เลขที่ 4 หมู่ 4 ตำบลถนน อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี เจ้าหน้าที่ได้ปิดล้อมตรวจค้นและจับกุมบุคคลกว่าสิบคน หนึ่งในผู้ถูกจับกุมคือ นายสะอูดี เลาะแม็ง อายุ 50 ปี เจ้าของสถาบันศึกษาฯ ซึ่งต่อมาได้รับการปล่อยตัวแล้ว โดยมีรายงานว่ามีการตรวจดีเอ็นเอบุคคลทั้งสิ้นจำนวนรวมกว่า 30 คน นอกจากนี้ยังมีนักเรียนชาวกัมพูชาอายุ 18-40 ปีที่ไม่มีหนังสือเดินทางหรือหนังสือเดินทางหมดอายุอีกเป็นจำนวน 11 คน

ในช่วงเวลาดังกล่าว เจ้าหน้าที่ทหารติดอาวุธอย่างน้อย 6 คนจากหน่วยเฉพาะกิจทหารพราน 42 บุกเข้ามาในบริเวณสถาบันศึกษาฯโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า และบังคับให้เจ้าของโรงเรียนค้นห้องพักของนักเรียนทุกห้องแต่ไม่ได้พบสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้ารายงานว่า การตรวจค้นและจับกุมเกิดจากเบาะแสในพื้นที่ว่ามีบุคคลต้องสงสัยฝึกฝนการ “ต่อสู้ด้วยมือเปล่า” ติดต่อกันหลายวันในเวลากลางคืน ณ สถาบันศึกษาปอเนาะแห่งนี้ ซึ่งภายหลังนายอับดุลอาซิส ยานยา นายกสมาคมสถาบันการศึกษาปอเนาะ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ออกมายืนยันว่า กิจกรรมต้องสงสัยนี้เป็นเพียงการละเล่นพื้นบ้านของชาวกัมพูชาเท่านั้น อย่างไรก็ดีขณะนี้นักเรียนชาวกัมพูชาทั้ง 11 คนยังคงถูกควบคุมตัวเพื่อการสืบสวนอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

Advertisement

ทั้งนี้ ภาพถ่ายที่ปรากฏตามข่าวแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่บางคนปฏิบัติต่อผู้ถูกจับกุมอย่างรุนแรงและใช้กำลังเกินกว่าเหตุ อันถือเป็นการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวในสถานศึกษาซึ่งควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพลเรือนในทุกสถานการณ์ แม้กระทั่งในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางอาวุธ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอชื่นชมเจตนารมณ์อันดีของหน่วยเฉพาะกิจทหารพราน 42 ที่ต้องการรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ทำให้ทางมูลนิธิฯ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้ปฏิบัติการทางทหารในการควบคุมจัดการโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของการรักษาความปลอดภัยแต่สาธารณะชน ดังนี้

Advertisement

1.แม้เจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลที่เป็นเหตุให้สงสัยกิจกรรมยามกลางคืนของนักเรียนสถาบันศึกษาปอเนาะมัดรอสาตูลฟาละห์ เจ้าหน้าที่ก็ควรดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากบุคคลต่างๆ รวมทั้งเจ้าของหรือผู้ดูแลโรงเรียนโยวิธีที่ละมุนละม่อมและได้ผลเพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่ชุมชนรอบข้างโดยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการทางทหารตามอำนาจกฎอัยการศึกดังที่เกิดขึ้น

2.การติดตามจับกุมบุคคลย่อมกระทำได้หากเกิดการกระทำความผิดซึ่งหน้าและผู้ต้องสงสัยพยายามหลบหนี อย่างไรก็ดี จากข้อมูลของพยานที่มูลนิธิฯได้รับมา แม้ว่าเด็กนักเรียนกำลังเล่นกันในโรงเรียนเป็นปกติ เจ้าหน้าที่กลับสั่งให้นักเรียนคว่ำหน้าและเอามือไขว้หลัง รวมทั้งการใช้ปืนยิงแบบแห่ในการควบคุมตัวนักเรียน การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ

3.การเผยแพร่ภาพถ่ายเหตุการณ์ที่น่าจะเป็นภาพถ่ายการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ต่อสื่อมวลชนในทางสาธารณะ ควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ หากรูปภาพและข้อมูลได้รับการเผยแพร่โดยยังไม่มีการตรวจสอบจากหน่วยงานอย่างละเอียดถี่ถ้วน อาจเป็นก่อให้เกิดการตีตราผู้ที่ปรากฏอยู่ในภาพได้และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนคนเหล่านั้นได้

4.การควบคุมตัวเด็กไม่ว่าชนชาติใดที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี แม้เป็นการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ก็ควรดำเนินการโดยอิงจากพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ปัจจุบันเด็กนักเรียนทั้งหมดยังคงอยู่ในการควบคุมตัวของหน่วยทหารที่ค่ายอิงคยุทธบริหารโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา มูลนิธิฯจึงมีความกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเด็กอย่างเหมาะสมตามตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิที่เด็ก และสิทธิที่พึงมีในกระบวนการยุติธรรม

5.นอกจากนี้ ที่ผ่านมาหน่วยงานทหารพยายามดำเนินการหลายมาตรการเพื่อควบคุมโรงเรียนปอเนาะและโรงเรียนตาฎีกาจำนวนมากโดยการตรวจตราและตรวจค้น บางกรณีถึงหน่วยงานความมั่นคงขอชั่วโมงการเรียนการสอนในชั้นเรียน หรือการจับกุมครูโรงเรียนตาฎีกา หลายโรงเรียนไม่มีครูตาฎีกาผู้ชาย หรือกรณีล่าสุดมีการจับกุมครูตาฎีกาหญิง เป็นต้น มาตรการดังกล่าวสร้างความหวาดกลัวไม่ไว้เนื้อเชื่อใจและความขัดแย้งต่อรัฐมาโดยตลอด

มูลนิธิฯ จึงขอเสนอว่าควรเปลี่ยนมาตรการในการตรวจสอบ และควบคุมโดยใช้หน่วยงานพลเรือนแทนกำลังทหาร และเข้ามารับบทบาทหลักในการพัฒนาการศึกษาระดับท้องถิ่นให้ได้คุณภาพมาตรฐานเพื่อผลประโยชน์เด็กและเยาวชนและจะมีผลในการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างประชาชน ชุมชนกับเจ้าหน้าที่รัฐในระยะยาว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image