‘บิ๊กฉัตร’ เปิดประชุมอาเซียนบวกสาม ยก “ดอยตุง” ต้นแบบการพัฒนายั่งยืน

'บิ๊กฉัตร' เปิดประชุมอาเซียนบวกสาม ยก
'บิ๊กฉัตร' เปิดประชุมอาเซียนบวกสาม ยก "ดอยตุง" ต้นแบบการพัฒนายั่งยืน

‘บิ๊กฉัตร’ เปิดประชุมอาเซียนบวกสาม ยก “ดอยตุง” ต้นแบบการพัฒนายั่งยืน

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ห้องเลอ คองคอร์ดบอลรูม โรงแรมสวิสโซเทล ถนนรัชดา กรุงเทพฯ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมอาเซียนบวกสาม ว่าด้วยกิจการเพื่อสังคม ภายใต้แนวคิด “การขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคม สู่ความสำเร็จของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน” ซึ่งมี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ผู้บริหารกระทรวง พม.  ผู้บริหารสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม ผู้บริหารบริติช เคานซิล ผู้แทนจากคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) ผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมของประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสามจำนวน 13 ประเทศ ได้แก่ 10 ประเทศอาเซียน รวมถึงจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เข้าร่วม จัดโดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ว่า

กิจการเพื่อสังคม หรือเอสอี (Social Enterprise) อาจไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรในสังคมไทย เพราะเป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงปฏิบัติมา 40 ปีที่แล้ว ผ่านโครงการหลวงที่ช่วยพัฒนาราษฎรอย่างยั่งยืน รวมทั้งโครงการพัฒนาพื้นที่ดอยตุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งได้รับการยอมรับและยกย่องในระดับนานาชาติให้เป็นหนึ่งในต้นแบบของกิจการเพื่อสังคม ในการลดการปลูกพืชเสพติด แก้ปัญหาความยากจน สู่การยกคุณภาพชีวิตอของประชาชนควบคู่กับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวอีกว่า ปัจจุบันด้วยความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรและสิ่งแวดล้อมได้ทำให้เกิดปัญหาต่างๆมากขึ้น รัฐบาลจึงผลักดันให้กิจการเพื่อสังคมเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ผ่านร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ….ซึ่งผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว หนึ่งในนั้นคือมาตรการจูงใจทางภาษีที่หวังดึงดูดภาคเอกชนให้มาร่วมทำกิจการเพื่อสังคมมากขึ้น ทั้งนี้ การประชุมนี้หวังว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และขยายผลกิจการเพื่อสังคมของแต่ละประเทศ ในส่วนของประเทศไทยก็จะมอบให้กระทรวงพม.นำไปถอดบทเรียนเพื่อปรับปรุงหรือพัฒนากิจการเพื่อสังคมให้ขยายวงและดียิ่งๆขึ้นไป

Advertisement

ขณะที่ นางสาวเฮเซล แบลร์ ประธานธุรกิจการลงทุนด้านสังคม สหราชอาณาจักร กล่าวในการปาฐกถาพิเศษเรื่องก้าวสำคัญสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ว่า จากประสบการณ์ที่บุกเบิกเรื่องกิจการเพื่อสังคมที่ผ่านมา เชื่อมั่นว่าการดำเนินธุรกิจรูปแบบนี้เป็นวิธีการที่ดีกว่าการดำเนินธุรกิจที่มุ่งหวังแต่เพียงผลกำไรเป็นหลักและไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม เพราะจะเห็นว่าในหลายทศวรรษที่ผ่านมา การดำเนินธุรกิจตามปกติได้ทำให้สถาบันครอบครัวถูกทำลาย ธุรกิจเกิดมาตรการรัดเข็มขัดทั่วโลก ฉะนั้นถึงเวลาจะต้องเปลี่ยนแปลง ซึ่งแนวทางกิจการเพื่อสังคมจะมาสร้างความมั่งคั่ง และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า โดยจะบรรลุเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ไม่เพียงรัฐบาลจะต้องสนับสนุนและสร้างระบบที่ยุติธรรม ก็ต้องอาศัยภาคเอกชน และภาคประชาสังคมมาช่วย

“กระแสของคนรุ่นใหม่ กระแสของผู้บริโภคทั่วโลกวันนี้ เริ่มใส่ใจถึงการเลือกธุรกิจที่จะทำงาน ธุรกิจที่จะซื้อบริการและสินค้าว่าได้สร้างคุณค่าต่อสังคมมากน้อยเพียงใด วัตถุดิบสินค้ามาจากไหน หลายธุรกิจจึงเริ่มปรับตัวตามกระแสดังกล่าว รวมถึงมีการเกิดขึ้นใหม่ๆเพื่อรองรับกิจการเพื่อสังคม อาทิ การลงทุนก่อตั้งสถาบันการเงินเพื่อสังคมแห่งแรกของสหราชอาณาจักร ภายหลังก็มีญี่ปุ่นตั้งเช่นกัน ส่วนบราซิลก็กำหนดประเด็นนี้เป็นวาระแห่งชาติ รวมถึงบริษัทจัดการกองทุนชื่อดังหลายๆแห่งก็เริ่มหันมาสนใจประเด็นนี้” นางสาวเฮเซลกล่าว

นางสาวเฮเซล แบลร์ ประธานธุรกิจการลงทุนด้านสังคม สหราชอาณาจักร

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image