สำรวจ10ปี ผู้สูงอายุ’หกล้ม’เสียชีวิตกว่า5พันคน แนะวิธีป้องกันง่ายๆ

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่วัดชมภูเวก สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นพ.อัษฎางค์  รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) แถลงข่าว “ก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย ใส่ใจพลัดตกหกล้ม” ว่า สถานการณ์การเสียชีวิตจากการบาดเจ็บในทุกกลุ่มอายุทั่วโลก พบว่ามีการเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มมากถึงร้อยละ 14 สำหรับประเทศไทยมีการเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มร้อยละ 5 ซึ่งในจำนวนนี้เกือบครึ่งเป็นผู้สูงอายุ โดยอัตราการเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุสูงกว่าในทุกกลุ่มอายุเป็น 3 เท่า ทั้งนี้ ในระยะเวลา 10 ปี มีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มมากถึง 5,190 คน โดยปี 2557 มีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้ม 909 คน

นพ.อัษฎางค์กล่าวว่า นอกจากนี้ แนวโน้มอัตราการเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ในขณะที่กลุ่มอายุ 60-69 ปี และอายุ 70-79 ปี อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2 เท่า ภายในระยะเวลา 7 ปี ซึ่งสาเหตุการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุส่วนใหญ่เกิดจากลื่น สะดุด หรือก้าวพลาดบนพื้นระดับเดียวกันมากถึงร้อยละ 60.20 มีเพียงร้อยละ 5.80 เกิดจากการตกหรือล้มจากบันไดและขั้นบันได สาเหตุของการพลัดตกหกล้มส่วนใหญ่เกิดจากตัวผู้สูงอายุ ได้แก่ ร่างกายและความสามารถที่ลดลง เช่น การมองเห็นไม่ชัด สายตาผิดปกติ เดินเซ มีการรับรู้ที่ช้า มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย สวมใส่รองเท้าและเสื้อผ้าที่ไม่พอดี อีกสาเหตุคือเกิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นและบันไดลื่นหรือเปียก พื้นต่างระดับ ไม่เรียบ แสงสว่างไม่พอ ฯลฯ

รองอธิบดี คร.กล่าวว่า สำหรับมาตรการป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ ดังนี้ 1.แนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นรับการประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีประวัติหกล้มมาก่อน รวมถึงรับคำแนะนำเพื่อป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม 2.หมั่นสังเกตอาการและความผิดปกติของการมองเห็น การเดิน การทรงตัว 3.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยฝึกการทรงตัวและการออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เน้นการออกกำลังกายที่ช่วยในการทรงตัวและทักษะการเคลื่อนไหว เช่น โยคะ ไท้เก๊ก เป็นต้น

4.กรณีที่ผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว กินยาหลายชนิดควรจะรู้ผลข้างเคียงของยาที่ใช้ และควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาที่ทำให้เสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม ได้แก่ ยาที่ทำให้ง่วงซึม ยากล่อมประสาท ยาลดความดันโลหิต และยาขับปัสสาวะ 5.การประเมินและปรับสิ่งแวดล้อมทั้งในบ้านและนอกบ้านให้ปลอดภัยต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ เช่น ควรอยู่บ้านชั้นเดียว ในกรณีบ้าน 2 ชั้นควรจัดให้ผู้สูงอายุอยู่ชั้นล่าง หมั่นเก็บบ้านให้เป็นระเบียบ ดูแลให้พื้นไม่ลื่น ไม่เปียก มีแสงสว่างเพียงพอ มีราวจับภายในบ้านและห้องน้ำ มีที่นั่งสำหรับอาบน้ำ และใช้โถส้วมแบบนั่งราบ และไม่ควรล็อกประตูขณะใช้ห้องน้ำ ฯลฯ

Advertisement

4

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image