ม.มหิดล ถกสกอ.ฟ้อง’ล้มละลาย-ยึดทรัพย์’อดีตทพ.หญิงหนีใช้ทุน ชี้ไม่มีสิทธิยับยั้งลาออก

กรณี ทพ.เผด็จ พูลวิทยกิจ ทันตแพทย์คลินิกแห่งหนึ่งในจ.สระบุรี โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีต้องชดใช้เงินค้ำประกันราว 2 ล้านบาท แทนทันตแพทย์หญิงรายหนึ่ง ซึ่งเป็นอดีตอาจารย์คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล(มม.) ที่ขอทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อปริญญาโทและเอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วไม่กลับมาทำงานใช้ทุนตามสัญญา โดยอาจารย์หญิงรายดังกล่าว ใช้เวลาเรียนที่อเมริกาประมาณ 10 ปี ใช้เงินไปราว 10 ล้านบาทซึ่งตามเงื่อนไขสัญญา ถ้าไม่กลับมาทำงานใช้ทุน ก็ต้องชดใช้เงินคืนประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาทพ.เผด็จ และสังคมส่วนหนึ่งตั้งข้อสงสัยว่าทำไม มม.ถึงอนุมัติให้ลาออกและไม่ดำเนินการฟ้องร้องบังคับคดีกับผู้รับทุนก่อนที่จะมาบังคับคดีกับผู้ค้ำประกันนั้น

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง ชั้น 5 สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล(มม.) ศาลายา นพ.บรรจง มไหสวริยะ รองอธิการบดี มม. พร้อมด้วย ทพ.พาสน์ศิริ นิสาลักษณ์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มม. แถลงข่าวว่า ทุนที่อดีตทันตแพทย์ได้รับดังกล่าว เป็นทุนที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐขณะนั้นที่ต้องการเร่งรัดการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพในสาขาที่จำเป็นต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี พัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ รวม 16 สาขาซึ่งตามสัญญาจะต้องกลับมาชดใช้ทุน โดยต้องกลับมารับราชการในส่วนราชการตามที่กำหนดให้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่า ของระยะเวลาที่ได้รับทุนรัฐบาล แต่เมื่อไม่กลับมาชดใช้ทุน ทางมม.โดยได้รับอำนาจจากสกอ. ให้ดำเนินการติดตาม ก็ได้พยายามติดตามและทวงถามตามขั้นตอนมาโดยตลอด การดำเนินการในส่วนของเรียกให้ชดใช้ทุนนั้น เป็นการดำเนินการตามที่สกอ.ได้มอบอำนาจให้มม.ลงนามในสัญญาผูกพันและชดใช้ทุน และติดตามเรียกให้ชดใช้ทุน

“ขั้นตอนแรก คือ การเรียกให้ชดใช้เงินจากผู้ผิดสัญญาและผู้ค้ำ ทั้งนี้ เนื่องจากการค้ำประกันในสัญญาดังกล่าวยังเป็นไปตามหลักการเดิม คือผู้ทำสัญญาและผู้ค้ำประกันรับผิดร่วมกันในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม มม.จึงได้มีหนังสือแจ้งให้อดีตทันตแพทย์และผู้ค้ำ ทุกคนนำเงินจำนวนที่ต้องรับผิดตามสัญญามาชดใช้ให้แก่มม.ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ และปรากฏว่าทั้งอดีตทันตแพทย์และผู้ค้ำทุกราย มิได้มาชดใช้ภายในเวลาที่กำหนด มม.จึงต้องดำเนินการตามกฎหมาย คือ ขั้นของการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อใช้สิทธิเรียกให้อดีตทันตแพทย์และผู้ค้ำแต่ละรายมาชดใช้ มม.และสกอ.จึงได้นำคดีขขึ้นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้อดีตทันตแพทย์และผู้ค้ำ ชดใช้เงินให้แก่ทางราชการโดยให้อดีตทันตแพทย์และผู้ค้ำ ร่วมกันหรือแทนกันต้องชดใช้เงินให้แก่ สกอ. จำนวน 196,637.49 บาท กับอีก 666,131.73 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้อดีตทันตแพทย์และผู้ค้ำ รับผิดชดใช้เงินตามฟ้อง และเมื่อคดีถึงที่สุด มม.ได้มีหนังสือแจ้งให้อดีตทันตแพทย์และผู้ค้ำ มาชำระตามคำพิพากษา แต่อดีตทันตแพทย์มิได้นำเงินมาชำระ ส่วนผู้ค้ำ ก็รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงขอหารือเรื่องการผ่อนผันต่อไป” นพ.บรรจง กล่าว

นพ.บรรจง กล่าวต่อว่า มม.ได้ติดตามให้อดีตทันตแพทย์และผู้ค้ำ 4 รายนำเงินมาชำระตามคำพิพากษา โดยส่งหนังสือไปยังอดีตทันตแพทย์ที่อยู่ต่างประเทศตามขั้นตอนการติดตามทวงหนี้ ในส่วนของผู้ค้ำ 4 ราย มม.ได้มีโอกาสพูดคุยและหารือเกี่ยวกับขั้นตอนการชำระหนี้ ซึ่งในขั้นต้น มม.ได้ชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้ค้ำแล้วว่า ความรับผิดตามคำพิพากษาที่ต้องชดใช้ระหว่างอดีตทันตแพทย์และผู้ค้ำนั้นเสมอกันตามคำพิพากษาของศาล ระบุว่า “ร่วมกันหรือแทนกัน” ซึ่งผู้ค้ำทุกรายก็เข้าใจสถานะดังกล่าว และยังขอความเห็นใจว่าผู้ค้ำแต่ละรายเจตนาดีต่ออดีตทันตแพทย์ ซึ่งมม.เข้าใจดีและจากผลการหารือตลอดเวลาที่ผ่านมา เป็นผลให้ผู้ค้ำ 4 รายได้ยื่นคำร้องขอผ่อนผันการชำระหนี้ผ่านมม. โดยมม.ได้เสนอความเห็นสนับสนุนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาผ่อนผัน โดยเฉพาะสกอ.ซึ่งเป็นผู้พิจารณาให้ทุน) เป็นผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยตามความเห็นของมม.อนุมัติให้ผู้ค้ำ 4 รายได้รับการลดหย่อนภาระหนี้และผ่อนชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย

Advertisement

นพ.บรรจง กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยเคารพต่อการแสดงความคิดเห็นที่มีกรณีนี้และเรียนว่า 1.สำหรับคำถามว่าเพราะเหตุใดมหาวิทยาลัยจึงอนุญาตให้อดีตทันตแพทย์รายนี้ลาออกจากราชการ การขอลาออกจากราชการกับการชดใช้เงินทุน เป็นคนละกรณีกัน เพราะการให้ข้าราชการลาออกและยังต้องชดใช้ทุนไม่เป็นเหตุให้ยับยั้งการลาออกตามระเบียบ ก.พ.ว่าด้วยการลาออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ.2551 2.ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นต้นมา ผู้ค้ำได้นำเงินมาชดใช้เสร็จสิ้นทุกคนแล้วสำหรับยอดชดใช้ที่ได้รับการผ่อนผันจากสกอ.ถือว่าผู้ค้ำ ทุกรายได้พ้นความรับผิดชอบทั้งหมดแล้วและ 3.สำหรับกรณีการสอบถามถึงการติดตามบังคับทรัพย์สินของอดีตทันตแพทย์รายนี้ ณ ต่างประเทศ ขอเรียนว่าการดำเนินการเรื่องนี้เป็นการดำเนินในคดีแพ่ง และมีมูลกรณีเกิดขึ้นในประเทศไทย บรรดาเจ้าหนี้จึงไม่สามารถติดตามบังคับคดีนอกอาณาจักรได้ สำหรับในการตรวจสอบและขอความร่วมมือจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) จะตรวจสอบได้ก็ต่อเมื่อมีการดำเนินการให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายและเรื่องนี้อยู่ระหว่างการหารือกับสกอ. ทั้งนี้กรณีดังกล่าวจะเป็นกรณีศึกษาสำหรับการให้ทุนศึกษาต่างประเทศต่อไป

“กรณีที่มีข่าวว่าอดีตทันตแพทย์หญิงคนดังกล่าวได้เดินทางกลับมาประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2558 แต่ทาง มม.กลับไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้นนั้น เนื่องจากเรื่องนี้เป็นคดีแพ่งและมีมูลกรณีเกิดขึ้นในประเทศไทย เจ้าหนี้จึงไม่สามารถติดตามบังคับคดีนอกอาณาจักรได้ โดยขณะนี้ มม.อยู่ในระหว่างการหารือร่วมกับ สกอ.เพื่อดำเนินการให้อดีตทันตแพทย์หญิงคนดังกล่าวเป็นบุคคลล้มละลาย ทั้งนี้เรื่องที่เกิดขึ้นจะถูกนำมาเป็นกรณีศึกษาสำหรับการให้ทุนศึกษาต่าง ประเทศต่อไป เพราะรู้สึกเห็นใจผู้ที่มาเกี่ยวข้องด้วยความปรารถนาดี แต่กลับต้องมาได้รับความเดือดร้อน” นพ.บรรจง กล่าว

 

Advertisement

 

แถลงการณ์มม.

แถลงการณ์มม

แถลงการณ์มม.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image