สธ.พบชายคูเวตป่วย ‘เมอร์ส’ รีบกักตัวแม้ผลเชื้อ 4แห่งไม่นิ่ง หวั่นแพร่ระบาด!

นพ.อำนวย กาจีนะ

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวพบผู้ป่วยโรคเมอร์สในประเทศไทยว่าขณะนี้กรมควบคมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการรับตัวผู้ต้องสงสัยน่าจะป่วยโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส เป็นชายชาวคูเวต อายุ 18 ปี ซึ่งเดินทางเข้ามาที่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมกับย่า และบิดา โดยวัตถุประสงค์เดิมคือพาย่ามารักษาโรคเข่าเสื่อม แต่ชายอายุ 18 ปี รายดังกล่าวเริ่มมีไข้ในวันที่ 26 กรกฎาคม เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 2 แห่ง โดยวันแรกเป็นเพียงการรักษาอาการไข้ เจ็บคอธรรมดาเท่านั้น แต่พอวันที่ 27 กรกฎาคม ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง จึงได้ไปรักษาที่โรงพยาบาลแห่งที่ 2  ทางโรงพยาบาลตรวจวินิจอาการเบื้องต้นเห็นว่าเข้าได้กับอาการของโรคเมอร์ส จึงได้ส่งสารคัดหลั่งที่เก็บได้ในช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง ซึ่งเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงสูงในการแพร่เชื้อ เพื่อส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ (แล็ป) ของโรงพยาบาล มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งจากการตรวจวิเคราะห์ในระดับยีนส์ผลการตรวจเชื้อไวรัสเมอร์ส 1 จุด แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ดังนั้นจึงมีการส่งสารคัดหลั่งชุดเดียวกันนี้ไปตรวจที่แล็ปที่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งก็ให้ผลบวกอย่างอ่อน ซึ่งแปลความได้ว่าอาจจะเป็นเพราะปริมาณเชื้อน้อย หรืออย่างอื่นซึ่งถือคลุมเครือโดยธรรมชาติของโรคเอง

 

“เราได้แยกตัวผู้ป่วยเอาไว้ในห้องแยกโรคความดันเป็นลบ ตอนนี้ไข้ลดลง ส่วนอาการอื่นๆ ไม่มีอะไร ดังนั้น 14 วันนี้ นับจากวันที่ 26 กรกฎาคมเป็นต้นมา หากผลการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการยืนยันว่าไม่พบเชื้อแล้วก็จะอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลได้ ส่วนญาติอีก 2 คนที่ถือเป็นผู้มีสัมผัสโรคความเสี่ยงสูงนั้นก็รับเข้ามาดแลที่สถาบันบำราศนราดูรเรียบร้อยแล้ว เช่น เดียวกับคนขับแท็กซี่ก็ตามตัวเข้ามาอยู่ในการดูแลที่โรงพยาบาลแล้วเช่นเดียวกัน” นพ.อำนวย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าเนื่องจากพบว่ามีอาการป่วยมา 5 วันแล้วทำไมถึงยังไม่ยืนยันว่าเป็นผู้ป่วย แต่กลับใช้ว่าเป็นผู้ที่น่าจะป่วย นพ.อำนวย กล่าวว่า ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. ผู้ป่วยยืนยัน 2. กลุ่มที่น่าจะป่วยติดเชื้อฯ และ 3. กลุ่มไม่แน่นอน ซึ่งต้องได้รับการดูแลตามมาตรการสูงสุดเท่ากันหมด ซึ่งกรณีของชายคนนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อ เนื่องมีการส่งสารคัดหลั่งตรวจที่ห้องปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์ 4 แห่ง คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ผลยังไม่นิ่ง แต่ในทางการแพทย์จะนับว่ารายนี้เป็นผู้ที่น่าจะป่วย ต้องเข้าสู่ระบบการดูแล ซึ่งถือเป็นรายที่ 2 ของปี 2559 และรายที่ 3 ของประเทศไทยนับจากที่มีการเฝ้าระวังมา

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีผู้ร่วมโดยสารมากับเครื่องบินลำเดียวกันมีกี่คน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกี่คน นพ.อำนวย กล่าวว่า ขณะนี้ทราบชื่อ ทราบจำนวนหมดแล้ว จากนี้จะติดตามเพื่อเข้าสู่ระบบการดูแลตามเกณฑ์ต่อไป ขอให้ประชาชนอย่าแตกตื่น อย่ากังวล ขอให้มั่นใจในระบบการควบคุมป้องกันโรคของกระทรวง ส่วนเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลก็มีการเฝ้าระวังกันตามเกณฑ์ที่เคยปฏิบัติมา ต้องถือว่าเป็นระบบที่มีความเข้มแข็ง เพราะเมื่อทราบว่ามีผู้ป่วย ทางโรงพยาบาลเอกชนก็รีบแจ้งมาทันที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image