องค์การเภสัชกรรม เดินหน้าผลิต “ยากำพร้า” เซรุ่มพิษงู ลดคนตายประหยัดได้ปีละ 200 ล้าน

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวภายในงานสัมมนาวิชาการ “ยา สารเคมีและพิษจากธรรมชาติ” ว่า ยากำพร้าคือยาที่มีอัตราการใช้น้อยแต่มีความจำเป็น และเนื่องจากมีการใช้น้อยทำให้มีผู้ผลิตน้อยรายตามมา ส่งผลให้เกิดการเข้าไม่ถึงยารักษา อาทิ เซรุ่มรักษาพิษงู ยารักษาพิษจากสารตะกั่ว สารหนู ไซยาไนด์ ยารักษาภาวะที่เม็ดเลือดแดงของร่างกายลดความสามารถในการขนส่งออกซิเจน จากการที่มีเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ เป็นต้น อย่าง สถานเสาวภาเป็นหน่วยงานผลิตเซรุ่มแก้พิษงู ปีละประมาณ 8 หมื่นขวด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยงานสนับสนุนงบประมาณ และศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนทางด้านความรู้ ขณะที่อภ. ทำหน้าที่ในการจัดหายาต้านพิษ ทั้งที่ผลิตภายในประเทศ และต่างประเทศเข้ามาและบริหารจัดการ เบื้องต้นมีการสำรองไว้ใช้ประมาณปีละ 50-60 ล้านบาทต่อปี แม้จะไม่มากแต่ก็ลดอัตราการเสียชีวิตได้ แต่หากไม่มีการบริหารจัดการจะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า หรือประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี

“ยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษถือว่ามีความสำคัญมากเพราะถ้าผู้ป่วยได้รับยาอย่างทันท่วงทีจะสามารถหายขาดจากโรคได้ แต่หากไม่ได้รับยาก็จะทำให้ร่างกายเสียการทำงาน พิการ หรือถึงขั้นเสียชีวิต อย่างยารักษาอาการจากพิษโบทูลินัมราคาสูงถึงโดสละ 400,000 บาท โรงพยาบาลสำรองเองอาจจะมีความเสี่ยงทางด้านการเงินการคลังมากกว่า ดังนั้น อภ.จึงทำหน้าที่ในการบริหารจัดการตรงนี้ และบางตัวจะมีการสำรองไว้ที่โรงพยาบาล บางตัวสำรองไว้ที่คลังอภ.ตามภูมิภาคซึ่งยืนยันว่าสามารถจัดส่งยาเหล่านี้ให้ถึงมือผู้ป่วยได้ภายใน 24 ชั่วโมงแน่นอน” นพ.นพพร กล่าว

เภสัชกร(ภก.)คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ สปสช. กล่าวว่า เนื่องจากยากำพร้ามีราคาแพงมาก โดยเฉพาะกลุ่มยาต้านพิษจึงต้องมีการสำรองและจัดระบบบริหารจัดการยาที่ดี โดยมีอภ.เป็นผู้ดำเนินการ จนสามารถลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ลงได้อย่างมาก ล่าสุดมีการบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ 17รายการ โดยหลักการกระจายยา คือเมื่อไหร่ก็ตามที่มีผู้ป่วยได้รับอันตรายจากพิษสามารถ ประสานมาที่ศูนย์พิษวิทยาของโรงพยาบาลรามาฯ หรือโรงพยาบาลศิริราชได้ เมื่อทราบชนิดของพิษและยาต้านพิษแล้วหากมียาในโรงพยาบาลของตัวเองก็สามารถสั่งจ่ายได้เลย ถ้าไม่มีก็สามารถขอรับยาได้ที่โรงพยาบาลเครือข่ายที่ใกล้ที่สุด

นพ.วินัย วนานุกูล ผู้อำนวยการศูนย์พิษวิทยาคลินิก โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ในปี 2558 มีการขอรับคำปรึกษาการใช้ยามายังศูนย์ฯมากกว่า20,000 เหตุการณ์ จำนวนผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 19,500 ราย ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านพิษมีอัตราการรอดชีวิตร้อยละ 95 และร้อยละ 90 ของผู้รอดชีวิตสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image