มท.ชวนโชว์ฝีมือ ปลื้ม! ช่างทอฯ ส่งผ้าขิดลาย ‘นารีรัตนราชกัญญา’ เข้าประกวดแล้วกว่า 1,000 ผืน

มท.ปลื้ม! ช่างทอฯ ส่งผ้าขิดลายพระราชทาน ‘นารีรัตนราชกัญญา’ เข้าประกวดกว่า 1,000 ผืน ชวนผู้ประกอบการ OTOP โชว์ฝีมือ ถึง 5 ส.ค.นี้

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงยิ่งต่อช่างทอผ้าและผู้ประกอบการ OTOP ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานลายผ้า “ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” ให้แก่ตนในฐานะปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 65 ที่วัดธาตุประสิทธิ์ อ.นาหว้า จ.นครพนม เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้สนองพระดำริฯ ด้วยการจัดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ประจำปี 2565 และได้แจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ “การประกวดผ้าลายพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ไปยังผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP หรือศิลปินช่างทอผ้าทั่วไปที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมัครเข้าประกวดภายในวันที่ 5 สิงหาคมนี้

“ในขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ก.ค. 65) มีกลุ่มทอผ้าและช่างทอผ้า ทุกกลุ่ม/ทุกเทคนิค สมัครเข้าร่วมการประกวดทั่วประเทศแล้ว จำนวน 1,003 กลุ่ม/ราย จำนวนผ้า 1,056 ผืน จำนวนหัตถกรรม 59 ชิ้น โดยแบ่งเป็นภาคเหนือ ผู้สมัคร 77 กลุ่ม/ราย จำนวนผ้า 94 ผืน หัตถกรรม 10 ชิ้น ภาคกลาง ผู้สมัคร 75 กลุ่ม/ราย จำนวนผ้า 69 ผืน หัตถกรรม 17 ชิ้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้สมัคร 774 กลุ่ม/ราย จำนวนผ้า 812 ผืน หัตถกรรม 20 ชิ้น และภาคใต้ ผู้สมัคร 77 กลุ่ม/ราย จำนวนผ้า 81 ผืน และหัตถกรรม 12 ชิ้น” นายสุทธิพงษ์เผย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกรอบแนวทางการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ประจำปี 2565 ผู้ที่สามารถส่งผ้าเข้าประกวด คือ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP หรือศิลปินช่างทอผ้าทั่วไป ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่สมัครเข้าประกวด ซึ่งผ้าที่ส่งเข้าประกวดต้องเป็นผ้าทอมือหรือทำจากมือเท่านั้น (ไม่รับพิจารณาผ้าที่ทอจากกี่กระตุกหรือระบบอุตสาหกรรม) มีขนาดความกว้าง x ยาว ไม่น้อยกว่า 1 x 1.8 เมตร (2 หลา) กรณีผ้าตีนจก ต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 1 x 0.25 เมตร กรณีผ้าปักมือ ต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 30 x 30 เซนติเมตร สำหรับผ้ากลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง ลาวครั่ง หรือชาติพันธุ์ในกลุ่มบริเวณจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี นครปฐม กำแพงเพชร และจังหวัดนครสวรรค์ ต้องมีหน้าผ้าไม่ต่ำกว่า 90 เซนติเมตร

Advertisement

ทั้งนี้ ผ้าทุกผืนต้องเป็นผ้าที่ตัดจากกี่ ไม่ผ่านการซัก อบ รีด หรืออาบน้ำยาเคมีใดๆ ทั้งสิ้น (Authentic) ยกเว้นผ้าบาติก/ผ้าพิมพ์ลาย/ผ้ามัดย้อม และไม่รับพิจารณาผ้าที่เย็บริมผ้าด้วยจักร ยกเว้นการสอยผ้าด้วยมือ โดยเส้นใยที่ใช้ทอหรือผลิตผ้า กรณีเป็นประเภทผ้าบาติก/พิมพ์ลาย/มัดย้อม ต้องเป็นไหมพันธุ์พื้นบ้าน หรือฝ้ายเข็นมือ หรือเส้นใยไหมที่เป็นเส้นใยแท้ (ไหมพันธุ์พื้นเมือง) หรือเส้นใยธรรมชาติอื่นๆ และกรณีภูมิภาคหรือจังหวัดนั้นๆ ไม่สามารถปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้ ให้ระบุแหล่งที่มาของวัตถุดิบอย่างละเอียด และประการสำคัญ คือ ต้องใช้สีธรรมชาติและให้ระบุกระบวนการย้อมสีและสูตรที่ใช้ในการย้อมสีธรรมชาติอย่างละเอียด และผ้าปัก ผ้าพื้นใช้เส้นใยธรรมชาติและเส้นด้ายที่ใช้ปักให้ใช้ไหมธรรมชาติที่ย้อมจากสีธรรมชาติ โดยในการประกวดระดับจังหวัด ให้ผู้สมัครส่งผลงานผ้าพร้อมแนวคิดในการทำบรรจุภัณฑ์ (packaging) และเรื่องเล่า (storytelling) และเมื่อชิ้นงานผ่านเข้ารอบการประกวดระดับประเทศ ผู้สมัครต้องส่งผลงาน พร้อมบรรจุภัณฑ์จริง (packaging) และเรื่องเล่า (storytelling) มาเพิ่มเติม นอกจากนี้ “ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” ได้มีการเว้นช่องว่างไว้ในลวดลาย เพื่อให้ผู้ส่งเข้าประกวดสามารถใส่ลวดลายพื้นถิ่นในช่องว่างดังกล่าว เพื่อส่งเข้าประกวด (ห้ามเว้นช่องว่างไว้)

 

“ประเภทผ้าลายพระราชทานที่ส่งเข้าประกวด แบ่งเป็น 14 ประเภท ตามเทคนิค/เอกลักษณ์ของผ้าประจำถิ่นของแต่ละจังหวัด โดยต้องมีองค์ประกอบหลักของลายพระราชทานครบถ้วน ได้แก่ 1) ผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอ 2) ผ้ามัดหมี่ 3 ตะกอขึ้นไป 3) ผ้าขิด 4) ผ้าจก 5) ผ้ายก/ยกเล็ก (ไหมยกดิ้น) 6) ผ้ายกแบบมีสังเวียน ไหมยกไหม หรือไหมยกดิ้นที่มีสังเวียน 7) หมี่ข้อ/หมี่คั่น 8) ผ้าเกาะ/ล้วง 9) ผ้าบาติก/ผ้ามัดย้อม 10) ผ้าแพรวา 11) ผ้าซิ่นกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง ลาวครั่ง 12) ผ้าเทคนิคสร้างสรรค์ 13) ผ้าปัก 14) ผ้าเทคนิคผสมเทคนิคพื้นเมือง จำแนกเป็น โสร่ง/ผ้าขาวม้า ผ้าลายลูกแก้ว ผ้าหางกระรอก ผ้ากาบบัว เกล็ดเต่า/ราชวัตร และผ้าพื้นเมืองอื่น ๆ และสำหรับประเภทงานหัตถกรรม เช่น งานเซรามิก งานจักสาน ฯลฯ ที่นำลายพระราชทานมาต่อยอดที่มีความโดดเด่นและยอดเยี่ยม ได้แก่ ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ผ้าบาติกลายพระราชทาน และผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” นายสุทธิพงษ์เน้นย้ำ

Advertisement
สุทธิพงษ์ จุลเจริญ

นายสุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า ในการจัดประกวดผ้าลายพระราชทานในครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับภาค และระดับประเทศ โดยทุกจังหวัดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมประกวด ภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2565 แล้วรวบรวมผ้าลายพระราชทานของจังหวัดและงานหัตกรรมที่มีคุณสมบัติครบถ้วนให้กับกรมการพัฒนาชุมชนที่เป็นจุดดำเนินการประกวดระดับภาค เพื่อจัดการประกวดระดับภาค ในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2565 คัดเลือกผ้าให้คงเหลือ 300 ผืน และคงเหลือ 150 ผืน เพื่อบันทึกภาพจัดทำหนังสือตามลำดับ โดยกำหนดช่วงวันประกวดในระดับภาค คือ ภาคใต้ระหว่างวันที่ 26-27 สิงหาคม 2565 ภาคกลาง 2-3 กันยายน 2565 ภาคเหนือ 9-10 กันยายน 2565 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16-18 กันยายน 2565 และจะทำการประกวดในระดับประเทศโดยคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ ช่วงเดือน ตุลาคม 2565 แยกตามประเภทและชนิดของเส้นใยผ้า คัดเลือกให้คงเหลือ จำนวน 50 ผืน เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ (Final)

“เมื่อความทราบถึงฝ่าพระบาท สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระองค์ทรงรับเป็นพระราชภาระในการเสด็จเป็นองค์ประธานการประกวดรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ (Final) ด้วยพระองค์เอง พร้อมทั้งทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานรางวัลการประกวด ‘ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา’ ให้กับกลุ่ม/บุคคลผู้ได้รับรางวัล แบ่งเป็น 2 ประเภทรางวัล คือ ‘ประเภทที่ 1 รางวัลพิเศษ’ ได้แก่

1.Best of the Best รางวัลชนะเลิศรางวัลเดียวจากในแต่ละประเภท นำมาออกแบบตัดเย็บฉลองพระองค์ และรางวัลเหรียญพระราชทานพร้อมสร้อยคอทองคำ 2.สี Trend Book 3.ลวดลายตามแบบพระราชทานยอดเยี่ยม 4.บรรจุภัณฑ์ (Packaging) ยอดเยี่ยม 5. ผ้าไหมพื้นบ้านยอดเยี่ยม (ผ้าที่ใช้ไหมพันธุ์พื้นบ้าน และสาวไหมยอดเยี่ยม) 6. Young OTOP (ผู้ประกวดมีอายุไม่เกิน 30 ปี นับถึงวันที่ปิดรับสมัคร เป็นทายาทของผู้ประกอบการ OTOP และเป็นผู้ที่เข้าร่วมโครงการ Young OTOP ของกรมการพัฒนาชุมชน) 7.งานหัตถกรรมที่นำลายพระราชทานมาต่อยอดที่มีความโดดเด่นและยอดเยี่ยม เช่น งานเซรามิก งานจักสาน ฯลฯ ทั้งผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ผ้าบาติกลายพระราชทาน ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา และ “ประเภทที่ 2 เหรียญรางวัลพระราชทาน’ ได้แก่ เหรียญทองคำ จำนวน 21 รางวัล เหรียญเงิน จำนวน 21 รางวัล และเหรียญทองแดง จำนวน 21 รางวัล” นายสุทธิพงษ์กล่าว

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ

ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า “ผ้าไทย” ถือเป็นมรดกภูมิปัญญา หัตถศิลป์ หัตถกรรม อันล้ำค่าของพวกเราคนไทยทุกคนที่ต้องรักษาไว้ให้คงอยู่คู่กับแผ่นดิน ด้วยการน้อมนำโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” มาเป็นหลักคิดในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้มีความทันสมัย เป็นที่ต้องการของพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ใส่ได้ในทุกโอกาส ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงห่วงใยพี่น้องช่างทอผ้าทั่วประเทศ และพระราชทานพระกำลังใจด้วยการสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนในการเป็นส่วนหนึ่งของ “การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ประจำปี 2565 ในครั้งนี้ จึงขอเชิญชวนพี่น้องช่างทอผ้า และผู้ประกอบการ OTOP ได้ร่วมกันทอผ้าและผลิตชิ้นงานส่งเข้าประกวด เพื่อร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการผ้าไทย ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้สนใจร่วมเยี่ยม ให้กำลังใจ และเลือกซื้อผ้าทุกผืนที่ส่งเข้าประกวด ซึ่งจะเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องช่างทอผ้าและผู้ประกอบการ OTOP ที่ส่งเข้าประกวดทุกคนอีกด้วย

“ขอให้พี่น้องช่างทอผ้าและผู้ประกอบการ OTOP ทุกคนอย่าลังเลและรีบส่งผลงานผ้าและผลิตภัณฑ์ตามหลักเกณฑ์ประกวด ซึ่งเหลือเวลาอีก 20 วัน ให้ทันภายในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ เพื่อร่วมกันถวายพระกำลังใจแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และเพื่อเป็นเกียรติยศ เกียรติศักดิ์ศรี สร้างความภาคภูมิใจ และความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตตนเองและวงศ์ตระกูล ในการประกวดผลงานอันทรงคุณค่าที่เป็นสุดยอดภูมิปัญญาบรรพบุรุษไทย และสุดยอดความภาคภูมิใจที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงยิ่งแก่ช่างทอผ้าและผู้ประกอบการ OTOP ทุกคน” ดร.วันดีระบุ

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อขอรายละเอียดการประกวดและสมัครเข้าประกวดได้ที่ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอที่เป็นภูมิลำเนาของผู้เข้าประกวดทั่วประเทศ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-2141-6075 ในวันและเวลาราชการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image