ทวิดา ย้ำผ่านซูม ผู้ป่วยโควิดเพิ่ม ศักยภาพระบบก็ต้องเพิ่ม เตรียมสรุปประเด็นเน้นแก้ตรงจุด แนะรับบริการตามสิทธิ ลดความหนาแน่น

กทม. แนะผู้ป่วยโควิด-19 รับบริการตามสิทธิของ ลดความหนาแน่น พร้อมปรับปรุงระบบการรักษาให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น

เมื่อ 19 กรกฎาคม ที่ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19 กทม. ครั้งที่ 26/2565 โดยมีคณะกรรมการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจพบปัญหาเรื่องระบบการให้บริการบ้าง เช่น ผู้ป่วยจำนวนมากอาจทำให้ต้องใช้เวลาในการรอคิวเข้ารับรักษาเพิ่มขึ้น การจ่ายยา การส่งต่อผู้ป่วย ปัญหาของการสื่อสารการตอบคำถาม เป็นต้น ทั้งนี้ จะได้รวบรวมข้อมูลและสรุปประเด็นปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้ทราบว่าต้องแก้ปัญหานั้น ๆ อย่างไรให้ตรงจุด และช่วยในการบริหารจัดการระบบในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 ให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น

สำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ได้รายงานข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. วันนี้ มีผู้ป่วยจากการตรวจ RT-PCR จำนวน 1,584 ราย และมีผู้เสียชีวิต 7 ราย โดยมีจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการ ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ สะสมตั้งแต่วันที่ 1-18 ก.ค. 65 ประกอบด้วย ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการจากสำนักอนามัย (เฉพาะ ATK) 16,608 ราย และผู้ป่วยที่เข้ารับบริการจากสำนักการแพทย์ (ATK และ RT-PCR) จำนวน 18,937 ราย ทั้งหมด 35,545 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 80 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 และได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์

Advertisement

สำหรับการให้บริการคลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ (ARI) ของศูนย์บริการสาธารณสุข เปิดให้บริการคลินิก เจอ แจก จบ โดยรักษาผู้ป่วย ทุกสิทธิการรักษา ให้บริการวันราชการ ในเวลา 08.00 – 16.00 น. และทุกวันเสาร์ 08.00 – 12.00 น. ในกรณีผู้ป่วยกลุ่ม 608 และผู้ป่วยสิทธิประกันสังคม จะมีการติดตามผู้ป่วยที่ 48 ชั่วโมง หากผู้ติดเชื้อโควิด-19 มารับบริการแบบผู้ป่วยนอก (OPD) เจ้าหน้าที่จะทำการซักประวัติและประเมินอาการ โดยแบ่งเป็น 1. ผู้ป่วยสีเขียว ที่ไม่ใช่กลุ่ม 608 ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก 2. ผู้ป่วยสีเขียว กลุ่ม 608 ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยขอความร่วมมือให้ติดตามอาการ 1 ครั้ง ที่ 48 ชั่วโมง และแนะนำให้ผู้ป่วยสังเกตอาการ ถ้ามีอาการแย่ลง จะทำการส่งต่อตามสิทธิ หรือศูนย์เอราวัณ โทร. 1669 และ 3. ผู้ป่วยสีเหลือง/แดง จะทำการส่งต่อตามสิทธิ หรือศูนย์เอราวัณ โทร. 1669 ซึ่งรักษาตามแนวทางการใช้ยาของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยการเบิก-จ่ายค่ารักษาแบบผู้ป่วยนอกจะเป็นไปตามสิทธิ อย่างไรก็ตาม ในการเข้ารับรักษาพยาบาลของผู้ป่วยโควิด-19 ขอให้ผู้ป่วยใช้บริการในสถานพยาบาลตามสิทธิของตนเอง เพื่อลดความหนาแน่นแออัดในการให้บริการ และเพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาเป็นไปอย่างทั่วถึง

ในส่วนของสถานการณ์เตียงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ของโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ โรงพยาบาลรัฐนอกสังกัดสำนักการแพทย์ และโรงพยาบาลเอกชน ข้อมูล ณ วันที่ 19 ก.ค. 65 เวลา 12.00 น. มีเตียงทั้งหมด 5,760 เตียง ครองเตียง 3,432 เตียง คิดเป็นร้อยละ 59.58 โดยมีอัตราการครองเตียงสำนักการแพทย์ รวมทั้งโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนาม ข้อมูล ณ วันที่ 12 ก.ค. 65 เวลา 08.00 น. มีเตียงทั้งหมด 790 เตียง ครองเตียง 417 (52.78%) เตียงว่าง 373 (47.22%) แบ่งเป็นโรงพยาบาลหลัก 346 เตียง ครองเตียง 286 (73.33%) เตียงว่าง 104 (26.67%) และรพ.สนาม 400 เตียง ครองเตียง 131 (32.75%) เตียงว่าง 269 (67.25%) โดยมีการขยายศักยภาพเตียงของโรงพยาบาลเอราวัณ 1 (บางบอน) กลับมาเปิดดำเนินการ จำนวน 100 เตียง และโรงพยาบาลเอราวัณ 2 (หนองจอก) ขยายศักยภาพจากเดิม 200 เตียง เพิ่มเป็น 400 เตียง เพื่อเตรียมรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image