ทวิดา ฝากอาสาสมัครสาธารณสุขชวนกลุ่ม 608 ฉีดเข็มกระตุ้น ขอประชุมถี่ขึ้น หลังพบทิ้งห่างครั้งละ 6 เดือน

รองฯ ทวิดา ฝาก อสส. สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ชวนชาวชุมชนและกลุ่ม 608 ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2/2565 โดยมี นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักอนามัย ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ถือว่าเป็นกำลังสำคัญที่เชื่อมระหว่างหน่วยงานด้านสาธารณสุขและประชาชนในชุมชน โดยเฉพาะในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการจึงเป็นเรื่องที่ต้องดูแล นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับอาสาสมัครสาธารณสุขที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ ในส่วนของการของบประมาณเพื่อจัดทำโครงการต่างๆนั้น เป็นไปตามกลไกในการบริหารจัดการ มีกระบวนการทำงานที่รัดกุม เพื่อป้องกันการทุจริต ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งทุกท่านทำงานเป็นจิตอาสา การพิจารณางบประมาณที่จัดสรรให้โครงการต่างๆ จึงต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันการผิดพลาด

“ขอให้อาสาสมัครสาธารณสุข ช่วยกันประชาสัมพันธ์เชิญชวนและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่ม 608 มาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ณ ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน รวมถึงหน่วยเชิงรุก CCRT ในชุมชน ซึ่งจะช่วยลดอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ได้มากขึ้น ป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่คนในครอบครัว ทั้งนี้ การประชุมครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 65 ที่ผ่านมา ครั้งนี้เดือนกรกฎาคม 65 ครั้งต่อไปในเดือนมกราคม 66 จะเห็นว่าการประชุมห่างกันถึง 6 เดือน เป็นระยะเวลานานเกินไป อาจจะปรับเปลี่ยนเป็นอย่างช้า 3 เดือน เพื่อให้เรามีเวลาพูดคุยหารือร่วมกันได้มากขึ้น” ผศ.ดร.ทวิดา กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ ในที่ประชุมมีการรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย จากนั้นกองสร้างเสริมสุขภาพ สำนักอนามัย นำเสนอในหัวข้อ 1.บทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ตามมาตรการเตรียมความพร้อมที่จะปรับให้ระยะต่อไปของโรคโควิด-19 เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น

2.การดูแลช่วยเหลืออาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

Advertisement

3.การรับสมัครอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร และบุตรเข้าศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข ประจำปีการศึกษา 2565

4.โครงการอบรมเตรียมความพร้อมในการเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 การขอรับสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานพัฒนาระบบสาธารณสุข สำนักอนามัย เรื่องน่ารู้หลังปลดล็อคกัญชา โดยสำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย

นอกจากนี้ในที่ประชุมได้พิจารณา 2 เรื่อง คือ

1.การเฝ้าระวังและคัดกรองในชุมชน โดยอาสาสมัครสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร กลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน การดูแล ปฐมพยาบาลจิตใจ

2.การพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร การใช้เทคโนโลยีในการปฏิบัติงาน การใช้ Application

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image