พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เผย ส.ต.อ.โหด ใช้เวลาแค่ 4 นาทีลงมือ วิเคราะห์ปัจจัยก่อเหตุสลด

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เผย ส.ต.อ.โหด ใช้เวลาแค่ 4 นาที วิเคราะห์ปัจจัยก่อเหตุสลด

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ให้สัมภาษณ์รายการ เจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์ ถึงกรณีอดีตตำรวจก่อเหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่ จ.หนองบัวลำภูว่า สาเหตุหรือแรงจูงใจคงไม่ได้คิดเอง เราได้รับการอบรมจาก FBI สหรัฐอเมริกา เขารวบรวมสถิติและทำการวิจัยออกมาว่า สาเหตุของการก่อเหตุมี 3 ปัจจัย คือ

1.ปัจจัยในตัวของผู้ก่อเหตุ คือ ความผิดปกติทางจิต ความเปราะบางทางอารมณ์ หงุดหงิด หดหู่ สิ้นหวัง อิจฉา กลัว โกรธ อารมณ์ อาการคลุ้มคลั่งจากยาเสพติด ความต้องการเรียกร้องความสนใจจากสังคม และความต้องการสร้างบาดแผลความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นให้สังคมมากที่สุด

2.ปัจจัยภายนอก หรือแรงกระตุ้นอื่นๆ จากสังคม องค์กร แรงกดดันต่างๆ ทั้งทางครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ การถูกเอารัดเอาเปรียบ การหวาดระแวง

3.สถานการณ์ที่ทำให้เกิดคิดจะตอบโต้ในทันท่วงที

Advertisement

เมื่อ 3 ปัจจัยมารวมกัน ก็คือการตัดสินใจก่อเหตุ ความเครียด ที่คิดใช้ความรุนแรง นี่คือที่ฝรั่งทำวิจัยมา

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนของ ส.ต.อ.ปัญญานั้น ผู้ก่อเหตุ ให้ 2 ปัจจัยหลัก คือปัจจัยจากผู้ก่อเหตุ ความเปราะบางทางอารมณ์ โกรธ อิจฉา วิตกกังวล หงุดหงิด และความคลุ้มคลั่งจากยาเสพติด และการเรียกร้องความสนใจจากสังคม รวมถึงแรงปัจจัยภายนอกที่เป็นแรงกระตุ้น คือแรงกดดันจากครอบครัว สังคม การถูกเอารัดเอาเปรียบ หวาดระแวงจากสังคม เลียนแบบอิทธิพลต่างๆ ซึ่งเคยพูดมาหลายครั้งแล้ว พฤติกรรมการเลียนแบบนี้ ก็ไม่ได้คิดเอาเอง แต่ตอนไปอบรบที่ FBI เขาให้โควต้าเราไปเรียน เพราะเขาคิดแล้วว่าประเทศไทยจะเกิดสิ่งเหล่านี้ เพราะมีสื่อโซเชียล ดูหนัง เด็กติดเกม เด็กที่เอาปืนอาก้ามายิง เป็นพฤติกรรมการเลียนแบบ มองข้ามไม่ได้

Advertisement

“ได้ดูคลิปเหตุการณ์เมื่อเช้า เส้นทางผ่านของคนร้ายที่จะไปศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก แล้ววนรถกลับมา ใช้เวลาแค่ 4 นาที ผมให้เพื่อนเช็กไทม์ไลน์ออกมา การจะไปก่อเหตุเขาต้องตัดสินใจมาแล้ว 3 ห่วงปัจจัยครบหมดแล้ว แล้วเขาตัดสินใจไปก่อเหตุที่ Soft Target คือเป้าหมายที่อ่อนแอที่สุด แล้วมีเหตุจูงใจอะไรที่เขาต้องไป ต้องศึกษาอีกว่า มีอะไรที่กดดันหรือเปล่า ทำไมเขาถึงเลือกเป้าหมายที่อ่อนแอ เด็กน่าสงสาร ในฐานะที่ผมเป็นตำรวจ เป็นพ่อคน เห็นแล้วหดหู่ ซึ่งทุกคนมีความรู้สึกอย่างนี้” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าว

“ที่ไม่ได้ไปที่เกิดเหตุ เพราะเข้าเวรราชองครักษ์อยู่ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณมาก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านก็เสียพระทัย มันเพราะเป็นแผลในใจ ไม่เฉพาะของผู้สูญเสีย ทุกคนไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ สังคมเจ็บไปด้วย”

เมื่อถามว่า ทำไมจึงได้เลือกศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า ขออนุญาตให้เก็บข้อมูลก่อน เพราะยังไม่รู้ว่าทำไมเขาเลือกตรงนี้ และหลายครั้งที่ FBI พยายามนำตัวคนร้ายมาศึกษาวิจัย แต่ยังไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่ถูกวิสามัญฆาตกรรมในที่เกิดเหตุ ว่าในเชิงจิตวิทยา จะนำคนร้ายมาศึกษาวิจัยว่าตอนเกิดเหตุทำไมตอนลงมือทำร้ายสมองไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

“เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมี Active Shooter ที่ชิคาโก สหรัฐอเมริกา ทีมศึกษาดูงานไปอยู่ที่นั่นพอดี และจับตัวคนร้ายได้ ตอนนี้กำลังศึกษาจัยว่าเหตุผล และช่วงที่การยิงทำไมเลือกคนที่ไม่มีทางสู้ ไม่เลือก เด็ก ผู้ใหญ่ ซึ่งในกรณีของ ส.ต.อ.ปัญญาถึงเลือก Soft Target ที่นี่ เราต้องไปดูว่ามีอะไรหรือเปล่า ส่วนขากลับยังมีการไล่ชน และยิงด้วย แต่ทำไมตอนขามาเขาถึงไม่ชน ไปที่นั่นเลย มีอะไรหรือเปล่า จึงต้องศึกษา ได้นำเรียน ผบ.ตร.แล้ว ว่าควรศึกษา และเรื่องชุมชนเข้มแข็ง ต้านภัยยาเสพติด”

“4 นาที ต้องเข้าใจว่าเวลาเกิดเหตุ คนร้ายก่อเหตุแล้วคนถึงแจ้งตำรวจ ระยะทางจาก 191 รับแจ้งเหตุเวลาอะไร สถานีตำรวจห่างจากที่เกิดเหตุ 15 กิโลเมตร ใช้เวลาเท่าไหร่ ผมให้เวลาขับรถกันเร็วๆ เต็มที่ไม่เกิน 10 นาที แต่เกิดเหตุ 4 นาทีเท่านั้น จะทำอย่างไร”

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวต่อว่า ต้องให้องค์ความรู้กับเด็ก ตั้งแต่ ผอ.กอล์ฟยิง ว่าจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ ได้ประสาน FBI ส่งคนมาสอนครู ยังไม่ทันก็เกิดเหตุที่เทอร์มินอล เป็นองค์ประกอบครบ 3 ห่วงเหมือนกัน ก็พยายามสอนวิ่ง ซ่อน สู้ เราเข้าหลายโรงเรียนแล้ว แต่ยังไม่ทั่วถึง ทุกวินาทีคือชีวิตของผู้บริสุทธิ์ เกิดเหตุแล้วจะเตือนภัยอย่างไร

และเมื่อถามว่า มีการเชื่อมโยงกับลูกชายของ ส.ต.อ.ปัญญา ที่ไม่ได้ไปที่ศูนย์เด็กเล็กกว่า 1 เดือน หรือไม่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า อันนี้ ตั้งประเด็นไว้ให้พนักงานสอบสวนดูประเด็นนี้ด้วย

สำหรับปัญหา ส่งฟ้องศาล ผลักกองไฟ เป็นวิธีการที่โยนปัญหาใส่สังคมหรือไม่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า ผมเข้าใจ เพราะมีคำถามเกิดขึ้นในโลกโซเชียล คือเรามีระเบียบวินัยต่างๆ ซึ่งเป็นข้อกฎหมาย แต่ต่อไปเราต้องมานั่งคิด ไม่เฉพาะตำรวจหรือทหาร แต่หน่วยงานอื่นๆ ก็เช่นกัน การจะผลักเขากลับสู่ธรรมชาติจะต้องปรับทัศนคติก่อนหรือไม่ บางหน่วยงานจะปรับทัศนคติเขาก่อน ส่วนการเฝ้าระวังเราได้ทำบุคคลเฝ้าระวังไว้ อยู่ในโครงการบุคคลเฝ้าระวัง ไม่ได้ปล่อยปละละเลย”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image