ชัชชาติ วาร์ปฟังกลุ่ม ‘รักษ์ตึกหุ่นยนต์’ แนะทำ Inventory list นักอนุรักษ์เผย เคยยื่นแล้ว แต่ไม่ได้ผล

ชัชชาติ ร่วมฟังแถลงกลุ่มรักษ์ตึกหุ่นยนต์ แนะ ทำ Inventory list – อุปนายกสมาคมอนุรักษ์ฯ ตอบ เคยยื่นแล้วแต่ไม่เกิดผล เพราะไม่ครอบคลุมถึงเอกชน

สืบเนื่องกรณี ธนาคารยูโอบี (UOB) เจ้าของตึกหุ่นยนต์ (Robot Building) กำลังรีโนเวตอาคารสำนักงานดังกล่าว ซึ่งเป็นฝีมือการออกแบบของ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม พ.ศ. 2541 ที่ได้รับการขนานนามว่าทันสมัย แปลกไม่เหมือนใคร ทั้งยังอยู่คู่ย่านสาทรมานานกว่า 3 ทศวรรษ ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์ผ่านทางโซเชียล ด้วยความเสียดายสถาปัตยกรรมโมเดิร์นที่ถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของคนไทยนั้น (อ่านข่าว ‘สมาคมสถาปนิกฯ-Docomomo Thai’ แนะ UOB ทบทวน ‘รีโนเวตตึกหุ่นยนต์’ อนาคตเป็นอาคารปวศ.)

เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ กลุ่มรักษ์ตึกหุ่นยนต์ ร่วมกับ สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE) และกลุ่ม Docomono Thai (คณะทำงานระหว่างประเทศว่าด้วยการเก็บข้อมูลและการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโมเดิร์นไทย) ร่วมกันแถลงถึงประเด็นดังกล่าว (อ่านข่าว สถาปนิกชื่อดังรวมตัวแถลงจี้หยุดทำร้าย ‘ตึกหุ่นยนต์’ ชี้ ขึ้นแท่นมรดกสถาปัตย์ระดับโลกยุค 80)

โดยในช่วงท้ายของการแถลง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เข้าร่วมรับฟังด้วย

Advertisement

นายชัชชาติ กล่าวว่า เป็นข้อมูลใหม่ยังไม่เคยทราบมาก่อน มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ถ้าเป็นไปได้ ในอนาคตอาจจะลองลิสต์ตึกที่มีคุณค่าเหล่านี้ไว้ก่อน

“หลายๆ ครั้งเมื่อเราไม่ได้ลิสต์ไว้ พอเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น บางทีมันช้า ถ้าเกิดเราลิสต์ว่าตึกไหนที่มองแล้วว่ามีคุณค่า ก็จะจัดการได้ ส่วนตอนนี้ผมก็ต้องดูไปตามกฎหมายก่อน” นายชัชชาติกล่าว

ด้าน นายวีระพันธุ์ ชินวัตร อุปนายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE) กล่าวว่า อยากอธิบายขยายความ Inventory list ที่ท่านผู้ว่าได้แนะนำให้ทำ ประเด็นของเรื่องคือ ตอนนี้หน่วยงานของรัฐมีกรอบในการทำอยู่แล้ว แผนแม่บทต่างๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์ก็ดี หรือเมืองเก่าต่างๆก็ดี แต่นิยามไม่ได้ครอบคลุมไปถึง

Advertisement

“แม้ว่าภาคเอกชน หรือทางสมาคมเองที่ทำขึ้นมา แต่ไม่ได้มีน้ำหนัก น้ำหนักมันอยู่ที่หน่วยงานรัฐที่จะต้องเป็นตัวรับรองตรงนี้ให้ หน่วยงานต่างๆ ที่ผมกล่าวถึง ก็ดูแลเฉพาะเรื่องของอาคารเก่า โบราณสถาณ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนที่จะดูแลในเรื่องของเอกชนเลย เราต้องรีบ ไม่อย่างนั้นมันจะสูญหายไปหมด” นายวีระพันธุ์ แจง

นายวีระพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า วานนี้ ตนได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการซึ่งจะมีการรื้อตึก 7 คูหา ทำทางขึ้นทางลงรถไฟฟ้าใต้ดิน 2-3 จุด ซึ่งก็ยังมีปัญหาอยู่ว่าในเมื่อประชาชนเขาไม่เห็นด้วย แต่ทำไมยังต้องดำเนินการอยู่

“เหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกวัน และในเรื่องของอาคารลักษณะอย่างนี้ ที่เป็นอาคารสมัยใหม่ ท่านสุเมธ ชุมสายฯ ได้เคยยื่นเสนอต่อ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรก่อนหน้านี้หลายคน ให้ช่วยทำ Inventory list ที่เป็นอาคารรุ่นใหม่ๆ ที่มีคุณค่า แต่ไม่เกิดผลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า รัฐเองไม่สนใจในเรื่องของการดูแลศิลปวัฒนธรรมของชาติ ของประชาชนในท้องถิ่นเท่าที่ควร” นายวีระพันธุ์กล่าว

ด้าน นางปองขวัญ ลาซูส ประธาน Docomomo Thai กล่าวว่า เรื่องที่นายชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. พูดถึงการทำ Inventory List ทาง กทม. ทางกลุ่มตนกำลังเริ่มทำ แต่มีประชุมในเรื่องมาตรการ TRD (transit right development) เป็นครั้งแรก

“ได้เสนอไปแล้ว ว่าขอให้ครอบคลุมถึงมรดกสถาปัตยกรรมรุ่นนี้ด้วย ซึ่งทางผู้ศึกษาเรื่องนี้ก็รับเรื่องไปแล้ว” นางปองขวัญกล่าว

ด้าน นายวิชัย ตันตราธิวุฒิ สถาปนิกผังเมืองชื่อดัง กล่าวว่า หากทางธนาคารยูโอบี ยินดีหยุดการทุบในขณะนี้ ยังทัน

“ต้องมีการมานั่งดูว่าจะมีการปรับแต่งอย่างไรบ้างเพราะว่าสิ่งที่จะถูกทำลาย เป็นสิ่งที่เราจะไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้อีก เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง สำหรับมรดกของชาติชิ้นนี้ ซึ่งในอนาคตมันจะเป็นส่วนหนึ่งของการบ่งบอกถึงสิ่งที่เรามีในกรุงเทพมหานคร 100 ปีข้างหน้า สิ่งนี้สำคัญมาก” นายวิชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image