กทม.บรรจุ ‘ผู้พิการ’ เป็น ขรก.ครั้งแรกใน ปวศ. ชัชชาติ เผย จัดห้องสอบพิเศษ ชื่นชมไม่ยอมแพ้โชคชะตา

ชัชชาติ ยินดีคนพิการบรรจุเป็นข้าราชการ กทม.ครั้งแรก ย้ำสร้างกรุงเทพฯให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 26 พฤษภาคม ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม. นายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯกทม. นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัด กทม. และคณะ ร่วมต้อนรับข้าราชการบรรจุใหม่ ซึ่งเป็นคนพิการที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ครั้งที่ 1/2565

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน ก.ก.) ได้ดำเนินการคัดเลือกคนพิการเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการ กทม.สามัญเป็นครั้งแรก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่ 213 ของผู้ว่าฯกทม. เรื่องการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการในหน่วยงาน โดยการดำเนินการคัดเลือกในครั้งนี้ มีผู้สมัครมากถึง 585 คน สอบผ่าน 141 คน และได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญทั้งสิ้นจำนวน 9 คน ใน 4 ตำแหน่ง ได้แก่ ตำแหน่งเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี จำนวน 2 คน ตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการ จำนวน 4 คน ตำแหน่งนักจัดการงานทั่วไป จำนวน 2 คน และตำแหน่งนักวิชาการพัสดุ จำนวน 1 คน โดยแบ่งตามหน่วยงาน ดังนี้ สำนักงาน ก.ก. 3 คน สำนักการแพทย์ 2 คน สำนักการศึกษา 1 คน สำนักพัฒนาสังคม 1 คน สำนักอนามัย 1 คน และสำนักงานการเจ้าหน้าที่ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 1 คน

นายชัชชาติกล่าวว่า เป็นการทำตามนโยบายให้กรุงเทพฯเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน จะมีเพื่อนๆ ที่มีความหลากหลายทางเพศ สติปัญญา การเคลื่อนไหว ถ้าเราดูแลเขาเหล่านี้ได้ ก็จะทำให้เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ผู้ที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในวันนี้ไม่ใช่ติดว่าเป็นคนพิการ แต่เขาเป็นคนมีความสามารถจริง ซึ่งอาจจะใช้มากกว่าปกติด้วย เพราะเขาเคลื่อนที่ยาก หรือฟังไม่ได้ยิน แต่สุดท้ายทุกคนก็สอบผ่านได้ เป็นบทเรียนสำคัญเมืองมีหน้าที่สำคัญในการดูแลทุกคน ทั้งนี้ กทม.มีการจัดห้องสอบพิเศษให้ เช่น ใช้ภาษามือสำหรับคนพิการทางการได้ยิน มีจอพิเศษให้ดูสำหรับผู้พิการทางสายตา ซึ่งคนพิการที่เข้ามาสอบไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา จึงเป็นหน้าที่ กทม.ที่ต้องดูแลให้อย่างดี

Advertisement

“เมืองบางเมืองทำให้คนพิการมากขึ้น เพราะทำให้เขาอยู่ลำบาก ถ้าเกิดเมืองที่ดีทำให้คนพิการรู้สึกพิการน้อยลง เพราะสามารถอยู่ได้อิสระมากขึ้น” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวว่า กทม.ได้ดูแลผู้พิการอย่างน้อย 4 ด้าน คือ 1.การเดินทาง มีความพยายามปรับทางเดินเท้า ห้องน้ำให้เป็นอารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design ซึ่งจะเริ่มเห็นได้ชัด 2.การฝึกอาชีพ มีการฝึกอาชีพให้คนพิการในกลุ่มต่างๆ 3.การบรรจุเข้าทำงาน ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัคร ลูกจ้าง ข้าราชการ เพื่อให้เป็นแรงบันดาลใจ แล้วทำให้ข้าราชการอื่นเห็นถึงความแตกต่าง อย่างน้อย กทม.ต้องเป็นต้นแบบที่ดี ในการดูแลคนของเรา ดูแลทางเข้าออกอาคารให้ดี และ 4.การให้บริการสาธารณสุข การให้คำปรึกษา กับคนพิการอย่างทั่วถึง

“คนพิการไม่ได้ต้องการทางลาดที่สโลปแค่นั้น แต่หมายถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมทุกมิติให้ได้ เชื่อว่าถ้าเราดูแลน้องๆ คนที่พิการได้ เราดูแลทุกคนได้ดี” นายชัชชาติกล่าว

Advertisement

นายภาณุมาศ กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าดีใจที่ข้าราชการ กทม.ปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ถูกต้อง เพราะเดิมหลายคนกลัวว่าจะร่วมทำงานกันอย่างไร ต้องขอขอบคุณผู้ว่าฯชัชชาติ ที่ให้กับความสำคัญและพูดย้ำเรื่องนี้เสมอ โดยในวาระการทำงานของผู้บริหารชุดนี้ ก็จะเห็นคนพิการเข้ามาทำงานมากขึ้น

“ที่สำคัญอยากให้หน่วยงานราชการอื่นที่ยังรับคนพิการเข้าทำงานน้อยอยู่ ถ้าอยากได้ข้อมูลใด ทาง กทม.ยินดีให้ข้อมูล พร้อมสนับสนุน” นายภาณุมาศกล่าว

น.ส.ทวิดากล่าวว่า กทม.มีความตั้งใจที่จะรับคนพิการเข้ามาทำงานมากขึ้น โดยทางสำนักงาน ก.ก. มีการกำหนดสัดส่วนคนพิการเข้ามาทำงานให้เหมาะสม รวมถึงช่วยอำนวยความสะดวกทางกายภาพและสภาพในการทำงาน และในอนาคตจะมีการเปิดรับคนพิการเข้าบรรจุเป็นคุณครู เพื่อให้คนสอนได้เข้าใจมากขึ้น ซึ่งเมื่อมีความเข้าใจแล้วก็จะทำให้สามารถไปดูแลน้องๆ นักเรียนได้ดีขึ้นด้วย

สำหรับการรับคนพิการเข้าทำงาน เป็นการส่งเสริมให้คนพิการที่มีความรู้ ความสามารถ และมีความเหมาะสมกับลักษณะงานของ กทม.ได้มีโอกาสเข้าทำงานมากขึ้น และเป็นการเพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพให้กับคนพิการให้มีรายได้มั่นคง สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและมีศักดิ์ศรี ประกอบกับเป็นการสนับสนุนให้ กทม.สามารถรับคนพิการเข้าทำงานตามจำนวนที่มาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่ม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556

นายภาณุวัฒน์ ผลาเลิศ นักวิชาการพัสดุปฏิบัติการ ฝ่ายพัสดุ กลุ่มภารกิจด้านอำนวยการ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สำนักการแพทย์ เป็นตัวแทนข้าราชการบรรจุใหม่ กล่าวกับผู้ว่าฯกทม.และผู้บริหาร กทม.ว่า ในฐานะตัวแทนของคนพิการ ขอกราบขอบคุณท่านผู้ว่าฯ ท่านรองผู้ว่าฯ ท่านที่ปรึกษา ท่านปลัด ท่านรองปลัด คณะผู้บริหารทุกท่าน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทุกท่าน

“พวกเรารู้สึกอบอุ่นตั้งแต่วันแรกที่ลงสนามสอบ ซึ่งพวกเราได้รับการดูแลตามประเภทความพิการอย่างดี ขอบคุณที่เล็งเห็นศักยภาพของคนพิการว่าพวกเรามีศักยภาพที่จะสามารถทำงานได้และมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานต่อไป ในฐานะของคนพิการที่ได้รับโอกาสวันนี้ก็ขอให้สัญญาว่าพวกเราจะมุ่งมั่นและตั้งใจทำงานเพื่อประชาชนต่อไป” นายภาณุวัฒน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image