ชัชชาติ สัญจรสำนักตรวจสอบภายใน ย้ำความโปร่งใส เข้าใจ ‘ภาระหนัก’ แนะใช้เทคโนโลยีช่วย

ชัชชาติ สัญจรสำนักงานตรวจสอบภายใน แนะเพิ่มมิติตรวจสอบการให้บริการประชาชน ป้องกันทุจริตเรื่องเวลา

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 27 มิถุนายน ที่ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร สำนักงานตรวจสอบภายใน สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร

นายชัชชาติเปิดเผยภายหลังการประชุมว่า สำนักงานตรวจสอบภายใน เป็นหน่วยงานที่สำคัญในการตรวจสอบ ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพในการดำเนินงานและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัด กทม.ว่ากระบวนการต่างๆ ครบถ้วนตามระเบียบปฏิบัติหรือไม่ โครงการต่างๆ ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าหรือไม่ โดยมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 60 คน มีหน่วยรับตรวจ 750 แห่ง ซึ่งถือเป็นภาระที่หนัก เพราะ กทม.มีหน่วยย่อยจำนวนมาก การทำงานตรวจสอบภายในจึงเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากเกี่ยวกับความเชื่อมั่นในความโปร่งใส

นายชัชชาติกล่าวว่า จึงได้มอบหมายนโยบายไปดังนี้ 1.ให้ใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น เพื่อให้เราตรวจสอบได้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบ โดยนำทราฟฟี่ฟองดูว์มาเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าแต่ละสำนักมีการบริการประชาชนเป็นอย่างไร โดยไม่ต้องไปดูเอกสาร

Advertisement

2.ต้องมีความพร้อม เพราะงานหลายอย่างของ กทม.เป็นเชิงเทคนิคสูง เช่น การตรวจสอบเรื่องอุโมงค์ระบายน้ำ เจ้าหน้าที่ก็ต้องมีความเข้าใจพื้นฐานในหลักวิศวกรรม ซึ่งสำนักงานตรวจสอบภายในได้ร้องขอให้มีผู้เชี่ยวชาญมาสนับสนุน ดังนั้น ทางส่วนกลางก็จะสนับสนุนเรื่องเจ้าหน้าที่ผู้มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้อย่างเข้มข้นมากขึ้น

3.หน่วยรับตรวจต้องมีความเข้าใจในเรื่องระบบบัญชี ฉะนั้น ทางส่วนกลางต้องมีการอบรมให้ความรู้แก่หน่วยรับตรวจ เพื่อให้เข้าใจวิธีการลงบัญชีทรัพย์สินต่างๆ และทำให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากขึ้น

4.ต้องเน้นเรื่องประสิทธิภาพในการให้บริการด้วย เพราะประชาชนคาดหวังประสิทธิภาพในการให้บริการว่าตอบสนองกับความต้องการได้เร็วแค่ไหน ดังนั้น ในการลงไปตรวจ นอกจากจะตรวจสอบเรื่องการเงินแล้ว ต้องตรวจสอบในมิติการให้บริการประชาชนว่าหน่วยงานของเราทุจริตเวลาให้บริการประชาชนหรือไม่ แต่ต้องดูด้วยว่าบุคคลากรเพียงพอหรือไม่ด้วย ซึ่งส่วนกลางคงต้องให้ความช่วยเหลือ

Advertisement

“ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเดินหน้า ประชาชนให้ความสนใจในเรื่องความโปร่งใสและประสิทธิภาพการให้บริการมาก คือหัวใจสำคัญที่ให้ความมั่นใจได้ว่าคนทั้ง 80,000 คน ของ กทม.ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชนได้” นายชัชชาติกล่าว

ด้าน พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัด กทม. กล่าวเสริมว่า การตรวจสอบภายในไม่ใช่การจับผิด เป็นการตรวจเพื่อให้คำแนะนำและป้องกัน ดังนั้น ความร่วมมือในการดำเนินการทั้งผู้รับตรวจและผู้ตรวจ ต้องเป็นความสัมพันธ์อย่างตรงไปตรงมา และเป็นไปอย่างถูกต้องตามที่ควรจะเป็น สิ่งที่ต้องแก้ไขปรับปรุงทางหน่วยตรวจก็จะแจ้งไปตามลำดับขั้น หน่วยรับตรวจก็จะต้องไปศึกษาแล้วดำเนินการแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้กระบวนการทั้งหมดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า แล้วก็สอดคล้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

นายชัชชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า บุคคลากรสำนักงานตรวจสอบภายใน ยังมีอัตราที่ขาดอีก 8 อัตรา มี 2 แนวต้องพิจารณา คือ กรอบอัตราที่เหมาะสม และบางส่วนอาจจะต้องใช้หน่วยงานภายนอก หรือ Outsource เพราะว่าเป็นเรื่องเทคนิค เช่น การตรวจโรงบำบัดน้ำเสีย ต้องมีเทคนิคหรือผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ เช่น วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ขณะเดียวกันพื้นฐานที่จำเป็นก็ต้องมีให้พอ จึงต้องเร่งบรรจุอัตราที่ยังขาดอยู่ แต่สิ่งสำคัญในอนาคต คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพ เพราะถ้าทุกส่วนสามารถเข้าสู่ระบบดิจิทัลได้ เช่น การบันทึกข้อมูลพื้นฐานเป็นดิจิทัลทั้งหมด การตรวจสอบจะทำได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องมานั่งดูเอกสารทีละแผ่น โดยใช้ระบบ AI มาช่วยตรวจสอบเอกสารก็จะช่วยคนในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“เชื่อว่าการแก้ปัญหาในระยะยาวไม่ใช่การเพิ่มคนแต่เป็นการเพิ่มเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งฝ่ายรับตรวจก็ต้องมีดิจิทัลด้วย เช่น การบันทึกทรัพย์สินให้อยู่ในระบบดิจิทัล สามารถแทร็กได้ การทำสัญญาเป็น Open Data ให้หมด อยู่ที่นี่ก็สามารถตรวจได้ การใช้เทคโนโลยีจะทำให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นายชัชชาติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image