กทม.จ่อส่งหนังสือถามกลับ ‘ศาลปกครองสูงสุด’ กรณีแอชตันอโศก หลังคณะทำงานมีความเห็นไม่ตรงกัน ว่าต้องออกคำสั่งห้ามใช้อาคารหรือไม่
ภายหลัง ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง อาคารโครงการแอชตัน อโศก ซอยสุขุมวิท 21 ของบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด มูลค่า 6,481 ล้านบาท เนื่องจากที่ดินที่ใช้ก่อสร้างอาคารโครงการ ไม่เป็นไปตามที่กฎกระทรวงฉบับที่ 33 ตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กำหนด เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2566 ที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม รายงานข่าวจากสำนักการโยธา (สนย.) เปิดเผยว่า สนย.ได้ส่งหนังสือแจ้งกับบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่าศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ที่พิพากษาเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ทั้งหมด และให้ทางบริษัทพิจารณาดำเนินการให้ถูกต้อง ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารต่อไป
รวมทั้ง สนย.ได้ส่งหนังสือแจ้งกับสำนักงานเขตวัฒนา ตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค.เช่นเดียวกัน โดยให้สำนักงานเขตวัฒนาพิจารณาดำเนินการออกคำสั่ง ให้เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคาร ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 แล้วแต่กรณีเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่ง กทม.ที่ 522/2560 ลงวันที่ 10 ก.พ.2560 เรื่อง มอบอำนาจของผู้ว่าฯ กทม.ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
ทั้งนี้ รายงานข่าวยังระบุอีกว่า คณะทำงานที่ดำเนินการเรื่องนี้มีความเห็นที่แตกต่างกัน ในการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 โดยคณะทำงานด้านหนึ่งเห็นว่าต้องดำเนินการในลักษณะแบบแพคเกจ คือ ต้องดำเนินการตามมาตรา 40 ก่อน โดยให้สำนักงานเขตวัฒนาออกคำสั่งห้ามการใช้อาคารก่อน และดำเนินการตามมาตรา 41 ต่อเนื่อง
ส่วนคณะทำงานอีกด้าน เห็นว่าอาคารชุดดังกล่าวมีความแข็งแรงเป็นไปตามมาตรฐานวิศวกรรม โครงสร้างอาคารไม่ได้มีปัญหา และมีผู้อาศัยได้รับผลกระทบหลายคนหากออกคำสั่งห้ามใช้อาคาร จึงเห็นควรว่าไม่ต้องออกคำสั่งห้ามการใช้อาคาร แต่ให้ออกคำสั่งตามมาตรา 41 ให้บริษัทปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน หรือหากบริษัทต้องใช้เวลาปรับปรุงแก้ไขมากกว่านั้น ให้ทำหนังสือขอขยายระยะเวลาได้ตามเหตุสมควร
คณะทำงานจึงมีความเห็นให้ส่งหนังสือถามกลับไปยังศาลปกครองสูงสุด ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร โดยยังอยู่ระหว่างการร่างตัวหนังสือถามกลับ