เด็กเกิดน้อย 5 แสนคน/ปี พม.ชี้มีมติจัดสวัสดิการเด็กถ้วนหน้า เสนอค่าเทอมลูก ลดหย่อนภาษีได้

เด็กไทยเกิดน้อย 5 แสนคน/ปี พม.ชี้มีมติจัดสวัสดิการเด็กถ้วนหน้า นพ.โอฬาริก เสนอค่าเทอมลูก ลดหย่อนภาษีได้ 100% 

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 15 กันยายน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีสนทนานโยลายสาธารณะ (Policy Dialogue) ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “เมื่อไทยเข้าสู่สังคมเด็กเกิดน้อย ปัญหาและทางออก” เพื่อให้ทุกภาคส่วน และประชาชน ร่วมวิเคราะห์ และเสนอทางออกรับมือกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป ณ หอประชุมศุกรีย์ แก้วเจริญ ชั้น 3 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ในสังคมปัจจุบัน ต้องใช้คำว่าเด็กเกิดน้อย และด้อยคุณภาพ เนื่องจากส่วนใหญ่เด็กเกิดในสภาวะครอบครัวที่ไม่พร้อมต่อการเลี้ยงดู ประกอบกับอัตราการเกิดมีเพียง 500,000 คนต่อปี  ลดลงปีละ 5 หมื่นคน ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อแรงงาน ไปจนถึงระบบเศรษฐกิจ

“การหาทางออกสำหรับปัญหาเด็กเกิดน้อย ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง ต้องมีการร่วมมือกัน เนื่องจากทุกคนล้วนได้รับผลกระทบจากทุกสิ่งที่เกิดขึ้น บทบาทพม. เรามีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ และคณะกรรมการพัฒนาเด็กและยาวชนแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบในเรื่องการจัดสวัสดิการเด็กแรกเกิดแบบถ้วนหน้า สร้างแรงจูงใจในการทำให้ผู้คนอยากมีลูกเพิ่มขึ้น แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ต้องทำ” นางอภิญญากล่าว

Advertisement
อภิญญา ชมภูมาศ

ด้าน นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ ผู้อำนวยการกองมารดา และทารก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในด้านของสุขภาพ ปัญหาเรื่องเด็กเกิดน้อย มาจากปัญหาหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา แรงงาน เศรษฐกิจ ไปจนถึงภาวะการมีบุตรยาก โดยปัจจุบันต้องยอมรับว่า สังคมไทยมีการจัดแจงอย่างชัดเจนระดับหนึ่งว่าเมื่อให้กำเนิดมา เด็กต้องใช้ชีวิตอย่างไร เข้าเรียน ทำงาน และอื่นๆ โดยปัญหานี้อาจจะเป็นปัญหาของคนกลุ่มน้อยเท่านั้น เพราะคนกลุ่มใหญ่อาจคิดเพียงว่าวันนี้จะกินอะไร จะมีเงินจ่ายค่าเช่าบ้านหรือไม่ นั่นคือสิ่งที่เขากังวลมากกว่าเรื่องปัญหาเด็กเกิดน้อย

“ปัญหาเด็กเกิดน้อยสามารถแบ่งคนได้ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ กลุ่มคนไม่อยากมีลูก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดได้ กลุ่มถัดมาคือ กลุ่มมีบุตรยาก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้มีการกำหนดสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาได้ ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการพูดคุย อาจจะมีการผสานกับโรงพยาบาลระดับตำบล ไปจนถึงสถานอนามัยต่างๆ เพื่อให้ครอบคลุมต่อการดูแล และกลุ่มที่ 3 กลุ่มที่ก้ำกึ่ง ซึ่งกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ และควรจะมีตัวช่วยสามอย่าง คือ เวลา เงิน และคน” นพ.โอฬาริกกล่าว และว่า

“คนกลุ่มนี้ 600 บาท ไม่พอในการเลี้ยงลูก ยาคุมที่ดีที่สุดคือค่าคลอดลูก ถ้าเราเปลี่ยนค่าเหล่านั้น นำมาลดหย่อนภาษีได้ร้อยเปอร์เซ็น ลดหย่อนทุกอย่าง ลดหย่อนค่าเทอม ช่วยเรื่องเวลา ในหลายประเทศลาได้หนึ่งปี โดยยังได้รับค่าจ้างตามปกติ ซึ่งอาจจะมีการหารือกันว่า รัฐบาลครึ่งหนึ่งสถานประกอบการครึ่งหนึ่ง และสุดท้าย สร้างเดย์แคร์คุณภาพ ซึ่งทั้งหมด ต้องเป็นการร่วมมือกันทุกภาคส่วน ถ้าหากทำได้ กระแสสังคมจะเปลี่ยนไป” นพ.โอฬาริกกล่าว

Advertisement
นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์

ด้านในภาคของแรงงาน นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง กระทรวงแรงงาน ในส่วนของกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในช่วงนี้ที่รัฐมนตรีชุดใหม่กำลังเข้ามา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการหารือกันในประเด็นนี้ ตนพยายามเรียกร้องให้ผู้ใช้แรงงานพยายามมีบุตร โดยการผลักดันเรื่องการสมทบทุนต่างๆ นอกจากเรื่องวันลา ซึ่งขณะนี้ ขยับเป็น 98 วันจาก 90 วัน ส่วนสามีจะสามารถลาได้หรือไม่ ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงหารือ

“ในมุมมองของแรงงาน คนทำงานเลี้ยงตัวเองก็ลำบาก เริ่มต้นก็คงอยากมีบ้าน รถ เรื่องลูกไว้ทีหลัง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐต้องมีส่วนร่วมด้วย ผมมองว่าข้อกำหนดต่างๆ ควรจะเริ่มจากรัฐก่อน ในส่วนของสุขภาพภาวะมีบุตรยาก สามารถไปใช้สิทธิกับโรงพยาบาลได้ก็จริง แต่ต้องใช้เงินเยอะ ตรงนี้น่าจะยกเว้นให้มีการรักษาตรงนี้ได้ รัฐต้องทำจริงจังว่าต้องมีศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้าน ให้คนสามารถใช้ได้ ไม่ต้องดิ้นรนขับรถไปรับลูกไกลๆ และควรจะเพิ่มรัฐสวัสดิการต่างๆ ให้มากขึ้น” นายนันทชัยกล่าว

นันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์

ด้าน นางสาวสุภัค วิรุฬหาการุญ ผู้อำนวยการฝ่ายห้องปฏิบัติการนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า ภาคอุดมการศึกษา จำนวนประชากรเป็นจำนวนของเยาวชนที่เข้ามาอยู่ในระดับอุดมศึกษามากกว่าในระดับมหาวิทยาลัย

“เนื่องจากทัศนคติของเด็กในยุคนี้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าสู่ระบบ รวมไปถึงปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ เป็นปัญหาที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเยอะเช่นเดียวกัน ทำให้อนาคตอาจจะมีปัญหาของเรื่องแรงงานทักษะสูง หรือวัยแรงงานที่จะเพิ่มผลผลิตให้กับประเทศน้อย หรือปัญหารื่องของคุณแม่วัยใส ที่เราต้องมีการให้ความรู้ตั้งแต่เริ่มต้น เราจะต้องเข้าไปเริ่มให้ความรู้เรื่องของอนามัยเจริญพันธุ์ตั้งแต่แรก ว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง” นางสาวสุภัคกล่าว

กับประเด็นเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาน้อย เท่ากับสามารถสอบเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้ง่ายขึ้นหรือไม่ นางสาวสุภัค ระบุว่า ไม่ได้ง่ายถึงระดับนั้น หากแต่ส่งผลกระทบต่อสถานศึกษาบางแห่งที่อาจจะมีจำนวนผู้เรียนน้อย จนนำไปสู่การปิดหลักสูตร ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวอาจจะเป็นหลักสูตรที่ตรงต่อความต้องการของตลาด ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาต้องมีการหารือกันต่อไป

“ขอเสนอให้นำข้อมูลจากงานวิจัย มาประกอบการตัดสินใจ และนำมาถอดบทเรียนปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และสภาวะของสังคมไทย และมุ่งผลิตมนุษย์ให้กลายเป็นทุนสังคมอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเยาวชนวัยเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาจะลดน้อยลง และอุดมศึกษาต้องเพิ่มความสำคัญกับคุณภาพการศึกษาทุกระดับ ถัดมา อุดมศึกษาต้องพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการ คือ คุณภาพและระยะเวลาที่ได้รับการศึกษา, การฝึกอบรมและพัฒณาอย่างต่อเนื่อง และสุขภาพอนามัย นอกจากนี้ จะต้องคำนึงถึงกลุ่มประชากรวัยแรงงานนอกเหนือจากการผลิตบัณฑิต อุดมศึกษาจะต้องจัดกระบวนการการศึกษา จัดวิธีให้การศึกษาที่รักษาการจ้างงานของคนทำงาน โดยต้องไม่ดึงคนออกจากงานเพื่อมาเรียนหนังสือ” นางสาวสุภัคกล่าว

สุภัค วิรุฬหาการุญ

ในส่วนของภาคเอกชน ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17-18 กล่าวว่า ประเด็นแรกขณะนี้กลุ่มแรงงานส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดเดียวกับสถานประกอบการ หรือการทำงานที่ไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการเจริญพันธุ์ ทั้งหมดส่งผลให้การเกิดน้อยลง ประเด็นที่สองคือ ความเครียด ซึ่งวาระเด็กเกิดน้อยอยู่ในตารางของเราแน่นอน เตรียมขึ้นร่าง โดยเริ่มมกราคม

“ทางออกที่ดีที่สุดคือการรวมทุกภาคส่วนเข้ามาทำเรื่องนี้ร่วมกัน โดยการทำวิจัยอย่างชัดเจน ให้ครอบคลุมทุกปัญหา หากคิดแค่ว่าให้เพียงกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งจัดการ คงจะเกิดขึ้นยาก โดยต้องทำภายใน 3-5 ปี มีหลายโรงงานอนุญาตให้แม่หยุดได้มากกว่า 90 วัน รัฐบาลที่เกาหลีเรียกพ่อไปอบรม เพราะเขารู้ว่าพ่อมีบทบาท เราควรมองปัญหาแบบองค์รวม เราเห็นตัวเลขที่ชัดเจนแล้ว และอีก 20 ปีต่อจากนี้ ประเทศไทยแย่แน่ถ้าเด็กยังเกิดน้อย” นายสัมพันธ์กล่าว

ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ

ทั้งนี้ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงแรงจูงใจที่จะทำให้ผู้คนอยากมีบุตร ว่า หลายประเทศเริ่มมีนโยบายด้านนี้ ตัวอย่างเช่นประเทศสิงคโปร์ ที่มีนโยบายและสวัสดิการต่างๆ โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น รัฐบาลก็ควรจะมีนโยบายและมาตรการต่างๆ ในการสนับสนุนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลา หรือเศรษฐกิจ

“ที่สำคัญมากคือระบบที่จะรองรับเมื่อมีลูกแล้ว เราจะมีการจัดระบบดูแลอย่างไร รวมไปถึงแรงงาน ถ้าหากเรามีระบบ และสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการมีลูก ให้คนรู้สึกว่าการมีลูกไม่ใช่ภาระ เราจะต้องมีระบบรองรับที่มีคุณภาพมากเพียงพอ ให้คนรู้สึกว่าลูกของเขาจะปลอดภัย อีกทั้งรัฐบาลมีการประกาศนโยบายว่าเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจะมีการดำเนินการอย่างเต็มที่” นพ.ประทีปกล่าว

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image