‘พังงา’ เปิดศูนย์การแพทย์ฯ แก้ปัญหาส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินล่าช้า

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างเปิดศูนย์การแพทย์ทางการแพทย์เขาหลัก (Andaman Hub Medical Network) หรือศูนย์การแพทย์เขาหลัก จ.พังงา ว่า จ.พังงามีธรรมชาติที่สวยงามติดอันดับของโลก แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวประมาณ 2 ล้านคน และรัฐบาลก็ให้ความสำคัญในเรื่องการจัดระบบความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว เพื่อดึงเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจประเทศให้ดีขึ้น และรัฐมนตรีว่าการ สธ.ก็ให้ความสำคัญของการจัดระบบความปลอดภัยฉุกเฉินทางทะเลเพื่อดูแลนักท่องเที่ยวและพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะชาวประมง เพราะออกเรือนานเป็นเดือนๆ จึงมีการลงนามความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์การแพทย์เขาหลักแบบบูรณาการ 21 หน่วยงาน

IMG_8036

ด้าน นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) พังงา กล่าวว่า ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่จากข้อมมูลการสำรวจความคิดเห็นนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเมื่อปี 2558 กลับพบว่าประเทศไทยจัดเป็นเมืองน่าท่องเที่ยวอันดับที่ 35 ของโลก เนื่องจากพบว่ายังมีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นในความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ทั้งนี้ จ.พังงา เป็น 1 จังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอาทิ หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน และกำลังจะมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอีกหลายแหล่งทั้งเกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ จะมีการสร้างท่าเรือนานาชาติ สร้างสนามบินในอนาคตอันใกล้

ดังนั้นจังหวัดจึงมีแนวคิดในการให้พังงาเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมา ในด้านสาธารณสุขในปี 2558 มีนักท่องเที่ยวเจ็บป่วย บาดเจ็บ 882 ราย ในจำนวนนี้นักท่องเที่ยวจมน้ำ/เสียชีวิต 11 ราย ปี 2559 พบป่วย และบาดเจ็บ 892 ราย ในจำนวนนี้จมน้ำ/เสียชีวิต 12 ราย ทั้งนี้โดยภาพรวม ช่วงที่คนนิยมมาท่องเที่ยวตุลาคม-เมษายน มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตสูง บางเดือนเสียชีวิตถึง 3-4 ราย

Advertisement

“ปัญหามาจากความล่าช้า เพราะพื้นที่เข้าถึงยาก มีความเป็นเกาะ เช่น จมน้ำกลางทะเลกว่าจะได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธีจนถึงโรงพยาบาลก็ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งจากการประเมินความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวในปี 2558 สรุปว่าสิ่งที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวในการเดินทางมาประเทศไทยมากที่สุดคือ ความปลอดภัย และระบบการจัดการเมื่อเกิดภัยกับนักท่องเที่ยว จ.พังงา จึงมีโครงการจัดตั้งเครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการทางการแพทย์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางน้ำ และจัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์เขาหลัก (Andaman Hub Medical Network) หรือศูนย์แพทย์เขาหลัก โดยใช้งบประมาณ 247.4 ล้านบาท” นพ.สามารถ กล่าว

โครงการนี้แบ่งเป็น 6 กิจกรรมหลัก คือ 1.จัดตั้งหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเลในแหล่งท่องเที่ยว (Boat Ambulance) 49.204 ล้านบาท 2.จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินและบรรเทาสาธารณภัย (Marine Rescue) 48.04 ล้านบาท 3.จัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการแบบบูรณาการการแพทย์ฉุกเฉินเขาหลัก 42.01 ล้านบาท 4.จัดตั้งศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินเขาหลัก 49.065 ล้านบาท 5.พัฒนาศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินเขาหลักสู่ความเป็นเลิศ โดยมีอุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์สำคัญ คือ ซีทีสแกน (CT Scan) ช่วยให้การฟื้นคืนชีพและวินิจฉัยในการนำส่งต่อได้อย่างปลอดภัย และ 6.พัฒนาโครงสร้างในการจัดตั้งศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินเขาหลักที่ศูนย์ซัมซุง ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา

“เมื่อ จ.พังงามีการจัดตั้งระบบการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวแล้วคาดว่าจะช่วยร่นระยะเวลาการนำส่งผู้ป่วยจากกลางทะเลที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวมายังศูนย์แพทย์เขาหลักได้ภายใน 1 ชั่วโมง จากเดิมที่อาจจะใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมง โดยก่อนนำส่งที่ศูนย์ฯ จะมีการช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ประสบเหตุ ณ จุดเกิดเหตุ โดยจะมีการอบรม ให้ความรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลือเบื้องต้นกับเจ้าหย้าที่เรือที่ลอยลำอยู่ในท้องทะเลให้เป็นอาสาสมัครกู้ชีพทางทะเล จากนั้นจะมีเรือกู้ชีพฉุกเฉินที่มีการช่วยชีวิตชั้นสูงพร้อมให้การช่วยเหลือที่กลางทะเล ขณะนี้เรือขทหารเรือ 1 ลำ ตำรวจน้ำ 1 ลำ และ อบต.1 ลำ พร้อมให้การช่วยเหลือ” นพ.สามารถ กล่าว

Advertisement

นพ.ประกิจ สาระเทพ รอง นพ.สสจ.พังงา กล่าวว่า ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของจังหวัด แม้จะมีการวางเครือข่ายของตนเอง แต่ก็ยังเชื่อมโยงระบบกลางคือ 1669 โดยสามารถโทรฉุกเฉินได้เช่นเดิม ซึ่งเมื่อเกิดเหตุก็จะมีเครือข่ายช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้น และประสานไปยังเจ้าหน้าที่ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินฯ อย่างไรก็ตาม ปัญหาเครือข่ายหรือเจ้าหน้าที่กู้ภัยกู้ชีพแย่งกันนำส่งผู้ป่วย/บาดเจ็บไปโรงพยาบาลเอกชนนั้น ในพื้นที่ไม่มีปัญหาเหล่านี้ เพราะส่วนใหญ่เป็นเครือข่ายฯทำงานตามระบบที่วางไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image