ปลัดสธ.เผยตัวเลขพยาบาลขาดแคลนอีก 8,532 ตำแหน่ง เตรียมประชุมร่วม ‘วิษณุ’ หาข้อสรุปเย็นนี้

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 15 พฤษภาคม นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องอัตรากำลังกรณีพยาบาลวิชาชีพ มีนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัด สธ. นางกฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่ 2  น.ส.กาญจนา จันทร์ไทย ผู้อำนวยการสำนักการพยาบาล  และผู้บริหารสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ รวมทั้งกลุ่มบริหารงานบุคคล กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เพื่อหารือแนวทางแก้ปัญหาอัตรากำลังข้าราชการในส่วนพยาบาล

นพ.โสภณ กล่าวภายหลังการประชุม ว่า เบื้องต้นได้หารือกันว่า ในระบบมีความต้องการกำลังคนด้านพยาบาลจริงๆอีกเท่าไหร่  ซึ่งปัจจุบันยังขาดพยาบาลทำงานอีก 8,532  ตำแหน่งจากที่มีอยู่กว่า 100,000 คน เนื่องจากยึดจากภาระงาน ปริมาณงานที่มีว่า พยาบาล 1 คนควรทำงานเท่าไหร่ โดยจะนำข้อมูลดังกล่าวเสนอคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)  ว่า การใช้ประมาณการณ์ขององค์การอนามัยโลกอาจไม่จริง   ส่วนที่ก.พ.ระบุให้กระทรวงฯไปจัดสรรตำแหน่งว่างกว่า 11,000 ตำแหน่งนั้น คงไม่ได้ เพราะเป็นส่วนหลากหลายวิชาชีพ ทั้งตำแหน่งของแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร  ฯลฯ ซึ่งส่วนนี้จะมาจับสลากในเดือนพฤษภาคม 2560   ซึ่งเป็นตำแหน่งที่วางไว้แล้ว ขณะที่ส่วนพยาบาลที่มีการจัดสรรตำแหน่งว่างนั้น ที่ผ่านมาก็ได้ดำเนินการ ทั้งการเลื่อนระดับ ทั้งคนลาออก เลื่อนซี การเกษียณ ต่างๆ ก็คงเอามารวมกันไม่ได้เช่นกัน

“เบื้องต้นการจัดสรรตำแหน่งว่างต่างๆ ของพยาบาลนั้น ล่าสุดมี 1,200 ตำแหน่งที่จะได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ และอีก 1,000 ตำแหน่งที่น่าจะเคลียร์ได้ แต่ทั้งหมดก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้น สธ.ยังคงยืนยันตัวเลขเดิมว่า เราจำเป็นต้องขออัตราบรรจุข้าราชการพยาบาล 10,922 ตำแหน่งใน 3 ปี ส่วนตัวเลขอาจมีบวกลบ แต่ก็น่าจะประมาณหมื่นตำแหน่ง เพราะเรายังขาดกำลังคนอยู่อีก 8,532 ตำแหน่ง และคนที่อยู่ในระบบ 100,855 คนก็ยังลาออกอยู่ การจะดึงคนในระบบได้ก็ต้องให้อยู่ในระบบราชการ หรืออาจต้องจ้างงานแบบอื่นที่จูงใจมากๆ ซึ่งก็ต้องมาหารือกันอีกที” ปลัดสธ.กล่าว และว่า อัตราที่ สธ.เสนอไป 3 ปีนั้น ก็ได้ประมาณการณ์แล้วว่าจะเพียงพอ โดยในปี 2564 สธ.มองว่าจะสามารถบริหารจัดการให้พยาบาลอยู่ในระบบอย่างเพียงพอไปอีกนาน โดยอาจไม่ต้องขอตำแหน่งเพิ่มอีก

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีบางกลุ่ม เสนอว่าให้กระทรวงฯแยกตัวจาก ก.พ.เพื่อบริหารจัดการเอง นพ.โสภณ กล่าวว่า การจะอยู่ ก.พ.หรือไม่อยู่ก.พ.นั้นคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เป็นภาพใหญ่ของรัฐบาล เป็นผู้คุมทั้งหมด ไม่ได้อยู่ที่ ก.พ.

Advertisement

เมื่อถามว่าจะสร้างความเข้าใจกับพยาบาลอย่างไรเพราะยังยืนยันจะลาออก 30 กันยายนนี้ นพ.โสภณ กล่าวว่า จะมีการนำเสนอรัฐมนตรีฯเรื่องนี้ และในเวลา 16.00 น.ของวันที่ 15 พฤษภาคม  ท่านวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เชิญรัฐมนตรีฯ และกระทรวงให้ข้อมูล เพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องนี้   กระทรวงฯไม่ได้นิ่งนอนใจ เราทราบปัญหาว่า พยาบาลสมองไหล 3 ช่วง คือช่วงแรก พยาบาลรุ่นใหม่ที่มาทำงาน เพราะเขาอยู่เพื่อคิดจะบรรจุแต่พอไม่ได้ก็พลาดหวัง และลาออก   ช่วงที่ 2 อายุประมาณ 40 ปี ลาออกเพราะเงินเดือนน้อย และไม่สามารถเลื่อนชำนาญพิเศษได้ ตอนนี้ก.พ.ให้กติกามา  สธ.ก็กำลังดูอยู่และ และ 3.ช่วงใกล้เกษียณอายุประมาณ 50 กว่าปี ลาออกเพราะภาระงานเยอะ สธ.ก็แก้ไขโดยใช้ผู้ช่วยพยาบาล และมีธุรการตามหอผู้ป่วยอยู่ จริงๆเรื่องนี้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการสธ. ได้ให้เราทำระบบนี้ทุกเรื่องตั้งแต่สิงหาคม 2559 ส่วนเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่พยาบาลหวังจะได้ เขาจึงผิดหวัง แต่ด้วยเหตุผลทั้งหลาย ตนเชื่อว่า ก.พ. และคปร.และครม.จะฟังเหตุผลของสธ.

เมื่อถามว่าหากพยาบาลลาออกจริงๆจะกระทบระบบมากน้อยแค่ไหน นพ.โสภณ กล่าวว่า ย่อมต้องกระทบอยู่แล้ว เพราะขณะนี้การทำงานก็ขาดอยู่ในระบบอีก 8,500 คนเลย ตอนนี้เราก็ทำเรื่องปฏิรูประบบ เน้นการปฐมภูมิ หมอครอบครัว เพื่อเน้นส่งเสริมป้องกันโรค และลดป่วยให้มากที่สุด แต่กำลังคนในการทำตรงนี้ก็ยังขาดอยู่

น.ส.กาญจนา จันทร์ไทย ผอ.สำนักการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ทุกวันนี้ภาระงานของพยาบาลถือว่าหนักมากจริงๆ นอกจากงานในหน้าที่ซึ่งมากอยู่แล้วก็ยังต้องทำหน้าที่แทนคนอื่นๆ อีก อาทิ งานพัสดุ งานเครื่องมือ เจาะเลือด งานจ่ายยา การเงิน งานเอกสาร เป็นต้น

Advertisement

น.ส.ทิพวรรณ ทับผา ฝ่ายข่าวเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับการเคลื่อนไหวต่อกรณีดังกล่าวนั้นขอรอดูท่าทีของกระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาลว่าจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งขอยืนยันว่าต้องมีการบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการจำนวนหนึ่งหมื่นกว่าอัตราตามที่กระทรวงฯขอไว้  หากไม่ดำเนินการก็จะมีการเคลื่อนไหวต่อไป อย่างไรก็ตามตอนนี้มีข้อสรุปเรื่องการเคลื่อนไหวในเบื้องต้นคือพยาบาลแต่ละจังหวัดรวมตัวกัน เพื่อแสดงออกในพื้นที่จังหวัดของตัวเอง โดยมี  “น่านโมเดล” เป็นต้นแบบ ในเวลา 17.00 น.  วันที่ 15 พฤษภาคม  พยาบาลลูกจ้างในจังหวัดน่านจะมีการรวมตัวกันที่บริเวณ ข่วงเมืองน่าน จัดกิจกรรมจุดเทียนชัย ร้องเพลงมาร์ชพยาบาล และประกาศจุดยืนข้อเรียกร้องของพยาบาลลูกจ้างต่อไป และในวันที่ 18 พฤษภาคมก็จะมีการดำเนินกิจกรรมในรูปแบบเดียวกันนี้ที่ จ.บึงกาฬ

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image