‘หมอสมาน’รวบรวมหลักฐานเอาผิดร้านค้า’เบียร์แท่ง’เจ้าของพื้นที่ สัปดาห์นี้

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีผู้ประกอบการร้านค้ามีการแปรรูปเบียร์ด้วยการทำเป็นแท่งคล้ายไอศกรีม ย่านสวนลุมพินี ว่า กรณีนี้มีความผิด พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 เรื่องการปรับเปลี่ยนสินค้า หรือ ภาชนะบรรจุ ตามมาตรา 23 ที่จะไม่อนุญาตให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจำหน่ายสุรา หรือ เบียร์ ได้ เพราะจะมีผลต่อการที่กรมสรรพสามิตจะเรียกเก็บภาษี ที่ทำให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ยาก รวมทั้งในด้านของความปลอดภัยของผู้บริโภค เพราะผู้ประกอบการบางรายอาจจะมีการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เถื่อน เข้ามาดัดแปลง และจำหน่าย ซึ่งผิดไปจากสุรา หรือเบียร์ ที่จำหน่ายตามลักษณะที่ได้ขออนุญาตตามกฎหมาย มีทั้งฉลาก คำเตือนไว้ให้ผู้บริโภคได้ตรวจสอบก่อนบริโภคเข้าไป

“จึงอยากเตือนผู้ประกอบการ หากต้องการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรปฏิบัติตามหลักของกฎหมาย ไม่ดัดแปลงตัวผลิตภัณฑ์ ยกเว้นกรณี ที่ผู้บริโภค มีการร้องขอ เป็นครั้งๆ ไป เช่น เครื่องดื่มประเภท ค็อกเทล ที่กระทำได้ แต่หากดัดแปลงและผลิตไว้สำเร็จรูป จะมีโทษตามกฎหมายสรรพสามิตทันที โดยจะเสียค่าปรับจำนวน 500 บาท ต่อเบียร์ 1 แท่ง” นพ.สมาน กล่าวและว่า นอกจากนี้ ยังพบผู้ประกอบการจำหน่ายเบียร์แท่ง จำหน่ายโดยไม่มีใบอนุญาตจำหน่ายสุรา ตามที่กรมสรรพสามิตกำหนด อีกทั้งยังมีพฤติกรรมกระทำผิดด้านโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยการจัดทำป้ายโฆษณา ลดแลกแจกแถม เช่น ซื้อ 4 แถม 1 ซึ่งตรงนี้ถือว่าผิดมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มีโทษปรับ 500,000 บาท และปรับรายวันอีก 50,000 บาท จนกว่าจะปรับปรุงให้ถูกต้อง และยังมีความผิดในมาตรา 30 ในเรื่องการลดแลก แจกถาม มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วย

นพ.สมาน กล่าวอีกว่า เร็วๆ นี้จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ที่มีผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นประธาน ในการที่จะร่วมกันหามาตรการสกัดไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขยายตัวออกไปในพื้นที่อื่นๆ อีก ส่วนการดำเนินคดีนั้น ขณะนี้ทางนิติกรกำลังรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อส่งให้ทางเจ้าพนักงานตามกฎหมายก่อนส่งฟ้องศาลต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้

ขณะเดียวกันในส่วนการดำเนินคดีกับเจ้าของพื้นที่นั้น ถือว่ามีส่วนในการสนับสนุน จึงต้องมีการดำเนินคดีด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานเช่นกัน เบื้องต้นมีความผิดไม่ต่างจากผู้จำหน่าย อาทิ ผิดมาตรา 30 และมาตรา 32 ของพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image