สกัด”หัวใจเต้นพลิ้ว” ลดความเสี่ยงสโตรก

โรคหลอดเลือดหัวใจ (Cardiovascular disease) จัดเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่ทั่วโลกรวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ของไทยให้ความสำคัญ เนื่องจากอุบัติการณ์ของโรคนี้พบเพิ่มขึ้นทุกปี จากข้อมูลของ สธ.ในช่วงปี 2554-2556 พบว่าอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2556 มีผู้เสียชีวิต 54,530 คน เฉลี่ยเสียชีวิตวันละ 150 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน

ที่น่ากังวลคือ องค์การอนามัยโลกรายงานว่า เมื่อปี 2555 พบว่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีจำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจมากถึงร้อยละ 46 ที่เสียชีวิตจากการมีภาวะหลอดเลือดสมองตีบ หรือที่เรียกกันว่าสโตรก (Stroke) และยังพบว่าประชากรในแถบนี้มีอัตราการป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองตีบเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นั่นเพราะประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นด้วย ปัญหาดังกล่าว ทำให้วงการแพทย์ด้านโรคหัวใจทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ซึ่งล่าสุดแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดหัวใจได้เข้าร่วมประชุมและฟังบรรยายการจัดการปัญหาโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ที่ประเทศสิงคโปร์ และได้มีการพูดถึงปัญหาการเสียชีวิตจากสโตรกที่มาจากโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันด้วย

นายอมิท แบคลิวาล์   รองประธานฝ่ายเทคโนโลยีและบริการ ไอเอ็มเอสเฮทธ์ ประจำประเทศจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกว่า ทุกๆ ปี ทั่วโลกจะพบผู้ป่วยที่มีภาวะสโตรกประมาณ 15 ล้านคน ในจำนวนนี้เสียชีวิตประมาณ 6.7 ล้านคน ส่วนที่เหลืออีก 5 ล้านคน จะมีภาวะพิการ โดยสาเหตุสำคัญของการเกิดสโตรก คือ ปัญหาจากการอุดตันของลิ่มเลือด ทั้งนี้ สาเหตุของปัญหาส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อ้วน ไม่เคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น ล้วนทำให้เกิดภาวะสโตรก หรือภาวะอื่นๆ ที่นำมาสู่การเกิดสโตรกที่เป็นอันตรายต่อชีวิต อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจมองข้าม คือ ในผู้ป่วยสโตรก หรือโรคหลอดเลือดสมองตีบนั้น พบว่าร้อยละ 20 จะเกิดจากการที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือมีภาวะหัวใจเต้นสั่นพลิ้ว (Atrial fibrillation: AF)

เกิดคำถามว่า แล้วหัวใจเต้นพลิ้วเกี่ยวข้องอย่างไรกับโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และเกิดภาวะสโตรกได้อย่างไร…

Advertisement

ผศ.ตัน รู สัน  ที่ปรึกษาอาวุโสด้านโรคหัวใจ ศูนย์โรคหัวใจแห่งสิงคโปร์ ให้ข้อมูลว่า ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น พบว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน หรือขาดเลือดไปเลี้ยง โดยส่วนใหญ่จะมีอัตราการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ ทำให้เกิดความแปรปรวนของการไหลของโลหิต ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดลิ่มเลือด และลิ่มเลือดเหล่านี้เองที่ทำให้เกิดการอุดตันในสมองและอวัยวะอื่นๆ เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดในสมองตีบ และในผู้ป่วยที่มีภาวะการเต้นของหัวใจผิดจังหวัด และไม่ได้รับการรักษามักจะมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดสมองตีบจากการที่มีลิ่มเลือดไปอุดกั้นมากกว่าผู้ป่วยทั่วไปกว่า 5 เท่า

ที่ผ่านมาการรักษานั้นจะใช้ยาละลายลิ่มเลือดชนิดเม็ด ส่วนใหญ่จะเป็นยากลุ่มที่มีชื่อสามัญว่า Warfarin เพื่อลดความเสี่ยงที่เลือดจะจับตัวเป็นลิ่ม แต่การกินยาดังกล่าวจะต้องมีการเจาะเลือดเพื่อดูค่าเลือด และปรับขนาดยาตามความเหมาะสม แต่ที่อันตราย คือ หากไม่ได้ตรวจอย่างสม่ำเสมอ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมดูแลภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยา บางรายอาจมีภาวะเลือดออกในสมองได้ จึงต้องมีการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนอย่างมาก ปัจจุบันมีอีกทางเลือก ซึ่งเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดใหม่ ที่รับประทานวันละครั้ง

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคนต่างย้ำว่า ทางที่ดีที่สุดป้องกันก่อนเกิดโรคดีกว่า โดยปรับเปลี่ยนที่ตัวเอง เช่น อย่าให้ไขมันในร่างกายสูงเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายให้เพียงพอและสม่ำเสมอ พักผ่อนนอนหลับอย่างพอเพียง ปฏิบัติตามหลักโภชนาการ เพราะหากลดปัจจัยเสี่ยงได้ ก็ห่างไกลโรคหัวใจและสมองได้

Advertisement

lif08300359p2

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image