แล้งพ่นพิษ! ทุเรียนยักษ์ลับแลใกล้ยืนต้นตาย – ชาวสวนสูญกว่า 3,000 ล้านบาท

แล้งพ่นพิษ ทุเรียนยักษ์อายุกว่า 200 ปี กำลังยืนต้นตาย ชาวสวนทุเรียนลับแลเศร้า หลง-หลินและหมอนทอง พืชเศรษฐกิจสร้างชื่อให้จังหวัด ผลและดอกร่วงตกพื้นเกลื่อนเกือบ 30,000 ไร่ สูญกว่า 3,000 ล้านบาท เจ้าของสวนไม่กล้าเข้าพื้นที่กลัวทำใจไม่ได้เห็นทุเรียนตาย

เมื่อวันที่ 7 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.นงนุช จิตรจง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 บ้านมหาราช ต.แม่พูล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ออกสำรวจความเสียหายพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์หลง-หลิน และหมอนทอง พืชเศรษฐกิจหลักที่สร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน สร้างชื่อเสียงให้กับอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ รวมถึงเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่อำเภอลับแลด้วย โดยตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงปัจจุบันกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและภัยแล้ง ทำให้ทุเรียนที่ชาวสวนปลูกเอาไว้ทั้งตำบลเกือบ 30,000 ไร่ ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะทุเรียนที่ออกผลแล้ว และมีอายุได้ประมาณ 1-2 เดือน ซึ่งเตรียมออกสู่ตลาดในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้เป็นรุ่นแรกร่วงหล่นจากต้นเป็นจำนวนมาก และยังพบว่าดอกที่ออกแล้ว กำลังจะเป็นผลทุเรียนในรุ่นที่สอง เพื่อออกสู่ตลาดประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม ร่วงหล่นเต็มพื้นดิน ส่งผลทำให้ปีนี้จังหวัดอุตรดิตถ์ มีผลไม้ทุเรียนหลง-หลิน และหมอนทอง ออกสู่ตลาดน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา ไม่พอส่งไปยังต่างประเทศ และทำให้ราคาทุเรียนจะแพงกว่าทุกปี โดยหลงลับแลจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 200-300 บาท หลินลับแล 400-600 บาท และหมอนทองลับแล 80-150 บาท

น.ส.นงนุช กล่าวว่า จากการสำรวจความเสียหายของทุเรียน เกิดจากภัยแล้งมาเยือนและอากาศที่ร้อนจัดไม่มีน้ำไปหล่อเลี้ยงใบ ดอก ผลและต้นทุเรียน ทำให้พบผลทุเรียนรวมถึงดอกและใบร่วงหล่นเป็นจำนวนมาก ดูจากสภาพต้นทุเรียนแต่ละต้น ใบตกและเหี่ยวเฉา บางพื้นที่ทุเรียนถึงกับยืนต้นตาย เบื้องต้นพบความเสียหายมีมากกว่า 50% และหากภัยแล้งยังยืดเยื้อไปถึงปลายเดือนเมษายน โดยที่ไม่มีฝนตกลงมาเลย จะส่งผลเสียหายทำให้ทุเรียนต้องยืนต้นตายมากยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งนี้ ได้รายงานให้ทางเกษตรอำเภอรับทราบถึงความเสียหายแล้ว

สำหรับความเสียหายที่ชาวสวนทุเรียนทั้งตำบลได้รับในครั้งนี้คาดว่ามีมากกว่า 3,000 ล้านบาท ชาวสวนหลายคนไม่กล้าเข้าสวนทุเรียนของตนเอง เพราะกลัวทำใจไม่ได้ หลายคนต้องกู้หนี้ยืมสินทั้งจาก ธ.ก.ส.และนอกระบบมาลงทุน ไม่รู้จะหาเงินจากที่ไหนมาลงทุนเพิ่มอีก การปรับสภาพพักฟื้นต้นทุเรียนต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะคืนสภาพปกติให้ดอกและผลเหมือนเดิม

Advertisement

น.ส.นงนุช กล่าวด้วยว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะทุเรียนพันธุ์หลง-หลิน และหมอนทองเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อต้นทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง ขนาด 3 คนโอบ สูงกว่า 100 เมตร มีอายุกว่า 200 ปี ของนางอำนวย จันไท อายุ 51 ปี บ้านเลขที่ 7/1 ซึ่งเคยให้ผลมากถึง 1,000 ลูกต่อครั้ง ผลที่ออกมามีกลิ่นหอมและเนื้อเนียนเหนียวนุ่ม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของทุเรียนพันธุ์หลงลับแล ปัจจุบันไม่ออกดอกและให้ผลทุเรียนแล้ว และกำลังจะยืนต้นตายเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและภัยแล้งมาเยือน รวมถึงฝนทิ้งช่วงไม่ตกมานานเกือบ 2 ปี ทำให้ใบร่วงหล่นลงพื้นเกือบหมดต้น เป็นที่น่าเสียดายอย่างมาก ที่ไม่อาจรักษาต้นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองนี้เอาไว้ให้ลูกหลานได้ดูต่อไปในอนาคตได้ จึงเตรียมรายงานให้ทางเกษตรอำเภอรับทราบและหาทางช่วยเหลือต่อไป

ทุเรียนลับแล ยืนต้นตาย

ทุเรียนลับแล ยืนต้นตาย

Advertisement

ทุเรียนลับแล ยืนต้นตาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image