กทม.เล็งปรับ ‘บีทีเอส’ 1.8 ล้าน เหตุเจ๊งซ้ำซาก แต่ไม่ถึงขั้นเลิกสัมปทาน

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์รถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้องต่อเนื่อง ซึ่งพบว่าตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันที่ 25 มิถุนายน พบรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้องแล้ว 27 ครั้ง สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้โดยสาร ถือเป็นความผิดพลาด และอาจเข้าข่ายไม่เป็นไปตามมาตรฐานงานบริการ จึงทำหนังสือด่วนขอให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงสาเหตุการเดินรถขัดข้อง รวมถึงแนวทางแก้ไข และหามาตรการเยียวยาให้กับผู้ใช้บริการ โดยวันที่ 28 มิถุนายนนี้ ผู้บริหารสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที ซึ่งเป็นวิสาหกิจในสังกัด กทม. ที่ดูแลรถไฟฟ้าบีทีเอส จะเชิญผู้แทนบีทีเอสมาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน

“ผมได้มอบหมายให้ผู้บริการสำนักการจราจรฯ และเคที ไปพิจารณาในรายละเอียดด้วยว่ารถไฟฟ้าบีทีเอสที่ขัดข้องต่อเนื่องนี้ เข้าข่ายการทำผิดสัญญาการจ้างเดินรถไฟฟ้าที่ กทม.จ้างเดือนละประมาณ 300 ล้านบาท หรือไม่ ซึ่งหากพบว่าไม่เป็นไปตามสัญญา กทม.มีสิทธิปรับเป็นเงินได้ร้อยละ 0.6 ของค่าจ้าง หรือคิดเป็นเงินประมาณ 1.8 ล้านบาท ซึ่งรายละเอียดในเรื่องนี้ จะมีการสรุปกันอีกครั้ง” นายสกลธี กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะถึงขั้นพิจารณายกเลิกสัมปทานเดินรถกับบริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ หรือไม่ ในกรณีเกิดข้อผิดพลาดซ้ำซาก นายสกลธี กล่าวว่า กทม.ไม่สามารถยกเลิกสัญญาสัมปทานได้ จนกว่าจะสิ้นสุดสัญญาการเดินรถ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ยังไม่เคยเกิดปัญหาการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้องบ่อยขนาดนี้

ด้านนายสุรเชษฐ์ แสงชโยสวัสดิ์ ผู้อำนวยการวางแผนกลยุทธิ์ กล่าวว่า สำหรับคลื่นสัญญาณที่เข้ามาเป็นคลื่นที่อยู่คนละช่องสัญญาณ การแก้ไขปัญหาระยะยาว ทางบีทีเอสจะขยับคลื่นวิทยุออกไป ถือว่าช่วยแก้ไขได้ในระดับหนึ่ง แต่ต้องดูปัจจัยอื่นๆ รวมถึงได้เตรียมสั่งอุปกรณ์กรองคลื่น ซึ่งจะติดตั้งเสร็จภายใน 1 เดือน ยืนยันว่าการสั่งอุปกรณ์นี้ไม่กระทบกับค่าโดยสารของประชาชน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image