อย.ย้ำอย่ากังวลประกาศคุมอาหารจากไขมันทรานส์ ผู้ประกอบการเตรียมตัว-ปรับสูตรหมด

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially hydrogenated oils, PHOs)       ซึ่งเป็นแหล่งของกรดไขมันทรานส์ และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ   เป็นอาหารห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย  ไขมันทรานส์เป็นไขมันไม่อิ่มตัว สามารถพบได้ทั้งในธรรมชาติ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง นม เนย ชีส และ เนื้อสัตว์ และจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนลงในน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ซึ่งจะพบไขมันทรานส์ได้ในอาหารสำเร็จรูปที่มีเนยเทียม  หรือเนยขาวเป็นส่วนประกอบ เช่น โดนัททอด พัพ พาย เพสตรี เค้ก คุกกี้ เวเฟอร์ เป็นต้น อันตรายจากไขมันทรานส์           คือ ทำให้ระดับโคเลสเตอรอลรวม โคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และไตรกลีเซอไรด์ เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีผล                         ให้ระดับโคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ลดลง ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

เลขาธิการ อย. กล่าวอีกว่า ปี 2559 อย. ได้ร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยใช้งบประมาณของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ดำเนินโครงการ “ประเทศไทยปลอดไขมันทรานส์” สำรวจข้อมูลปริมาณไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์น้ำมันและไขมัน และผลิตภัณฑ์อาหาร รวมทั้งจัดประชุมหารือร่วมกับผู้ประกอบการไขมันและน้ำมัน     และผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อหาแนวทางในการลดหรือพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ซึ่งไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งผู้ผลิตน้ำมันและไขมันยืนยันถึงความเป็นไปได้ในการปรับสูตรและกระบวนการผลิตน้ำมันและไขมัน โดยใช้กระบวนการผสมน้ำมัน (Oil blending) แทน และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารได้พัฒนาและปรับปรุงสูตรส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหาร โดยไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้ว ซึ่งประกาศควบคุมไขมันทรานส์ จะออกเป็น  “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย”      ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป

“สำหรับข้อกำหนด คือ ให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย รวมถึงการผลิตเพื่อการส่งออกด้วย ทั้งนี้ ไม่ได้ห้ามการตรวจพบไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์อาหาร เนื่องจากอาจมีการใช้วัตถุดิบที่มีไขมันทรานส์ตามธรรมชาติเป็นส่วนประกอบ และภายหลังจากที่ประกาศฯ มีผลใช้บังคับ               อย. จะดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวัง ณ สถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า หรือสถานที่จำหน่ายอย่างเข้มงวด หากพบการฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ในส่วนของผู้บริโภคไม่ต้องตื่นตระหนก เนื่องจากผลิตภัณฑ์อาหารที่จำหน่ายในปัจจุบันได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการไฮโดรเจนบางส่วนแล้ว” เลขาธิการ อย.กล่าว

น.ส.สุภัทรา บุญเสริม ผู้อำนวยการสำนักอาหาร อย. กล่าวว่า เราคุยกับผู้ประกอบการส่วนใหญ่เข้าใจและปรับตัวแล้ว จริงๆการใส่น้ำมันทรานส์ จะทำให้หืนน้อยลง ทำให้คงตัวมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีแทนที่มากมาย กลุ่มอุตสาหกรรมทราบกันดีอยู่แล้ว ซึ่งทั่วโลกก็ทราบและองค์การอนามัยโลกก็ออกประกาศเตือนว่า การใช้ไขมันทรานส์ในอาหารเสี่ยงก่อโรคหัวใจ จึงหยุดใช้กัน รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งได้มีการแจ้งเตือนและหารือร่วมกับภาคธุรกิจต่างๆทั้งเบเกอรี่ ขนม พัพ รวมทั้งผู้ผลิตน้ำมัน มา 2   ปีแล้ว และขณะนี้ก็ยังมีเวลาอีก 6 เดือนจึงจะบังคับใช้ ส่วนรายย่อยก็ไม่ต้องกังวล เพราะรายย่อยส่วนใหญ่ก็ต้องรับน้ำมันจากผู้ผลิตน้ำมัน ซึ่งปรับสูตรหมดแล้ว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวาถามว่าเทคโนโลยีอะไรมาแทนที่การผลิตที่เกิดไขมันทรานส์  น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า ปัจจุบันจะเป็นการเติมไฮโดรเจนบางส่วน แต่ขณะนี้มีเทคโนโลยีมากมาย เช่น น้ำมันธรรมชาติมาผสมกัน   ซึ่งผู้ประกอบการทั้งหลายทราบดี ปรับตัวกันหมด

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  ข้อมูลวิทยาศาสตร์ชัดเจนว่า กรดไขมันทรานส์ จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน   ส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งสอดคล้องกับองค์การอนามัยโลกที่รณรงค์ให้ลดและเลิกการใช้ไขมันทรานส์ ภายในปี  พ.ศ. 2566 เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของโรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะเชื่อว่าจะลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้ 500,000 รายต่อปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติประชาคมโลก ที่ได้ให้ความสำคัญกับการลดความตายก่อนวัยอันควรจาก 1 ใน 3 ของโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรังภายในปีพ.ศ.2573  ซึ่งการกำจัดไขมันทรานส์ที่ผลิตในอุตสาหกรรมเป็นส่วนหนึ่งจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้ เพราะไขมันทรานส์ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอัมพฤกษ์ อัมพาต เนื่องจากร่างกายกำจัดไขมันทรานซ์ได้ยาก ทำให้มีการอักเสบของผนังหลอดเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นอกจากนี้ยังส่งผลให้เสี่ยงต่อจอประสาทตาเสื่อม โรคนิ่วในถุงน้ำดี และยังเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์อีกด้วย

พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าวว่า FAO/WHO แนะนำว่า ควรรับประทานกรดไขมันอิ่มตัวน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ หรือน้อยกว่า 22 กรัมต่อวัน ยิ่งถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอยู่แล้ว ควรรับประทานไขมันอิ่มตัวน้อยกว่าร้อยละ 7 หรือน้อยกว่า 15.5 กรัมต่อวัน นอกจากขนมอบเบเกอรี่ ฟาสฟูดส์ อาหารทอดน้ำมันท่วม ที่กล่าวมาแล้วจะมีไขมันอิ่มตัวสูง อาหารอื่นที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ได้แก่ ไขมันที่มาจากสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ หนังไก่ สะโพกไก่ มันหมู เนื้อติดมัน เนย ชีส และไขมันที่มาจากพืช เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ครีมเทียม ลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว จึงควรเลือกรับประทาน เลี่ยงไขมันทรานซ์และไขมันอิ่มตัว โดยการลดอาหารทอด เลี่ยงฟาสฟูดส์ อาหารทอดน้ำมันท่วม คุมการกินขนมอบและเบเกอรี่ ใช้น้ำมันที่ปรุงอาหารให้หลากหลายในปริมาณที่พอเหมาะไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร และเพิ่มการกินผักและผลไม้หลากหลายชนิดเป็นประจำ เพื่อสุขภาพที่ดี ลดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 50 พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 โทษจำคุก 6 เดือน – 2 ปี จำคุก 5,000 – 20,000 บาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image