จิสด้า ผนึกพันธมิตร ร่วมลงนามประกันภัยพืชผลการเกษตร

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (จิสด้า) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยเรื่อง การพัฒนาระบบการประกันภัยพืชผลการเกษตรของประเทศไทย ณ ห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายอานนท์ สนิทวงษ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า การบูรณาการข้อมูลภาคเกษตร โดยการเชื่อมโยงฐานข้อมูลต่างๆ และนำข้อมูลวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกล Remote sensing จากภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา หรือการเก็บข้อมูลรายแปลงด้วย Mobile Technology มาประยุกต์ใช้ จะสามารถสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระบบตลาดประกันภัยพืชผลและสินเชื่อเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน ช่วยลดอุปสรรคทั้งในการตรวจสอบ ประเมินความเสียหายของพื้นที่เพาะปลูกจากภัยธรรมชาติได้ ตลอดจนก่อให้เกิดการพัฒนาระบบฐานข้อมูลภาคเกษตร ไปพร้อม ๆ กับการเข้าถึงข้อมูล เทคโนโลยี อย่างยั่งยืนของเกษตรกรไทย

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันศึกษาและพัฒนาระบบการประกันภัยพืชผลการเกษตรที่เหมาะสมและครอบคลุมเกษตรกรส่วนใหญ่ทั่วประเทศไทย ตลอดจนศึกษาบทบาทที่เหมาะสมของภาครัฐในการผลักดันการพัฒนาตลาดประกันภัยพืชผลที่ยั่งยืนของประเทศ และร่วมกันนำระบบประกันภัยพืชผลทางการเกษตรที่พัฒนาไว้ไปทดลองใช้จริงในพื้นที่นาร่องกับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะนำมาซึ่งองค์ความรู้และงานวิจัยเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ และเพื่อนามาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมในการนำไปใช้จริงในวงกว้างทั่วประเทศต่อไป

นายปิติ ดิษยทัต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า ครัวเรือนเกษตรกรไทยต้องประสบปัญหาและความเสี่ยงต่าง ๆ มากมาย ซึ่งล้วนแต่จะทวีความรุนแรงขึ้น ก่อให้เกิดความเปราะบาง และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของครัวเรือนเกษตรไทย การพัฒนาระบบประกันภัยพืชผลเพื่อเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีประกันภัยข้าวนาปีมาตั้งแต่ปี 2554 แต่อาจยังมีอุปสรรคเพราะขาดแคลนข้อมูลความเสี่ยงที่ถูกต้องของเกษตรกรรายย่อย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องวิจัยและพัฒนาในด้านนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image