ระวัง! ดื่มเบียร์เหล้าเยอะจัด เสี่ยง ‘พิษสุราเรื้อรัง’

เมื่อวันที่ 11 กันยายน  นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงพฤติกรรมการดื่มสุราเป็นระยะเวลานาน ว่า การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นระยะเวลานาน มีโอกาสกลายเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังได้ ซึ่งการเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง จะพิจารณาจากพฤติกรรมการดื่ม คือ ดื่มเหล้าวันละแบน หรือเบียร์วันละ 5 ขวด ติดต่อกันทุกวันเป็นระยะเวลามากกว่า 5 ปี และไม่สามารถเลิกดื่มได้ นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์ส่งผลต่อทุกเซลล์ในร่างกาย เช่น เซลล์ประสาท หากติดเป้นเวลานานอาจทำให้เกิดอาการจิตหลอนได้ หรือเส้นเลือด ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง เส้นเลือดหัวใจตีบได้ หรือส่งผลให้เกิดตับแข็งได้ เป็นต้น

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนการเลิกเหล้านั้น จะต้องพิจารณาสุขภาพร่างกายว่าพร้อมหรือไม่ ซึ่งหากดื่มเหล้ามานานแต่สุขภาพร่างกายยังแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ก็สามารถหักดิบเลิกเหล้าด้วยตนเองได้ แต่หากเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังแล้ว คือ หากเลิกเหล้าจะมีอาการลงแดง ก็ต้องประเมินว่าอาการรุนแรงมากน้อยเพียงใด ซึ่งอาการลงแดงรุนแรงจะพบประมาณร้อยละ 5-10 เท่านั้น หากอาการไม่รุนแรงก็อาจรักษาแบบเป็นผู้ป่วยนอกได้ แต่หากมีภาวะรุนแรงอาจต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม แม้อาการลงแดงจะไม่รุนแรงแต่ก็ต้องเฝ้าระวัง เพราะช่วง 1-2 วันแรกมักจะมีอาการมาก คือ เริ่มจากเซื่องซึม เหงื่อออก พอผ่านไปจะมีอาการพลุ่งพล่าน กระสับกระส่าย หรือถึงขั้นชักได้ จึงต้องให้ยากันชักไว้ด้วย ซึ่งการรักษานั้นใช้ระยะเวลาทั่วไปไม่เกิน 7 วัน แต่ที่ต้องระวังคือ ต้องไม่กลับไปดื่มซ้ำ

ผู้สื่อข่าวถามว่า คนที่ติดสุราเรื้อรังมานานกว่า หลังรักษาแล้วสุขภาพจะต่างกับคนที่ติดสุราเรื้อรังเป็นเวลาน้อยกว่าหรือไม่  นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า คนที่ติดสุราเรื้อรังสั้นกว่า เมื่อรักษาแล้วย่อมมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็ว นั่นเพราะเมื่อติดสุราไปนานๆ ร่างกายอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงจนมีโรคประจำตัวต่างๆ หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ ขึ้นมาได้ แต่หากคนที่ติดสุราเรื้อรังมานาน แต่ยังไม่มีโรคประจำตัวเกิดขึ้น หลังรักษาแล้วสุขภาพก็จะไม่แตกต่างกับคนที่ติดมาสั้นกว่าแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า หากติดสุราแล้วและเลิกได้ไวกว่าย่อมดีที่สุด เพราะยิ่งดื่มนาน ติดสุรานานกว่า ย่อมมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ มากกว่า ส่วนที่ว่าหลังรักษาแล้วจะมีโอกาสเป็นโรคประจำตัวมากกว่าคนทั่วไปหรือไม่นั้น อย่างที่บอกว่า หากยังไม่มีโรคเกิดขึ้นก็กลับมามีสุขภาพที่ดีได้ แต่หากมีโรคเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องมาดูแลรักษาโรคเหล่านี้กันต่อ เพราะบางคนอาจเกิดความดัน หรือตับเริ่มมีปัญหาไปแล้ว

 

Advertisement

เมื่อถามว่ามีตัวเลขผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรังหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลปัจจุบันว่ามีมากน้อยแค่ไหน แต่ต้องยอมรับว่าอัตราการดื่มในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่จากข้อมูลเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีคนเข้ารับการรักษาโรคพิษสุราเรื้อรังในโรงพยาบาล โดยพบว่า เป็นอาการทางจิตราวๆ 5 หมื่นคน และอาการทางกายอีกประมาณ 5 หมื่นคน แต่ที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือ พิษอาการสุราเฉียบพลัน ซึ่งมักไม่ค่อยมีใครพูดถึง เพราะแม้จะนานๆ ดื่มที แต่หากดื่มปริมาณมากๆ ระดับดีกรีสูง เกิดอาการเมาจนหัวทิ่มก็มีความเสี่ยงสูงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนเจ็บตายได้ ซึ่งจากการประเมินของห้องฉุกเฉินตามโรงพยาบาลต่างๆ พบว่า ผู้ประสบอุบัติเหตุส่วนใหญ่ที่มา 50% มีสาเหตุมาจากการเมาสุราเป็นหลัก

 

 

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image