อภ.ไม่ฟ้องกรมทรัพย์สินฯ ขอทำหนังสือถาม ย้ำเดินหน้าสร้างรง.สารสกัดกัญชาต่อ!!

ป.ป.ส.ร่วมอย.จัดอภิปรายกัญชาประโยชน์ทางการแพทย์ ด้าน ประธานบอร์ด อภ.ลั่นไม่อยากถึงขั้นฟ้องกรมทรัพย์สินทางปัญญา ขอทำหนังสือทางการก่อน  ขณะที่เลขาป.ป.ส.  แจง ยังไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปปลูกกัญชาได้ เพราะยังเป็นยาเสพติด    

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น “ผ่อนปรนกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)      โดย นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ขอย้ำว่ากัญชา ไม่ใช่ยาวิเศษ  แต่จะนำสารสำคัญในกัญชา ทั้งทีเอชซี (THC) และซีบีดี (CBD) มาใช้ประโยชน์ และยังไม่ได้อนุญาตให้ใช้เพื่อสันทนาการ และไม่ได้ให้อิสระในการปลูกในพื้นที่ไหนก็ได้ ฉะนั้นประชาชนทั่วไปไม่สามารถปลูกได้ กัญชายังคงเป็นยาเสพติดอยู่ ทั้งนี้การปลดล็อกจะต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน ค่อยเป็นค่อยไป ส่วนเรื่องของกรมทรัพย์สินทางปัญญารับคำขอสิทธิบัตรจากบริษัทต่างชาติ 11 รายการนั้นอยากให้ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญานำรายการคำขอสิทธิบัตรมากางว่ามีกี่ตัว ตัวไหนอยู่ในขั้นตอนไหน และจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อให้เกิดความชัดเจน

ผู้สื่อข่าวสอบถามภายหลังการอภิปรายว่า องค์การเภสัชกรรม(อภ.)  จะฟ้องกรมทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ เพราะหลายฝ่ายเห็นว่าอภ.เป็นผู้เสียหาย นพ.โสภณ กล่าวว่า ได้ให้ทีมกฎหมายของอภ.ดูกฎหมายต่างๆ เพราะเชื่อมั่นว่าไม่สามารถจดสิทธิบัตรสารสกัดจากพืชได้ เนื่องจากเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้สอบถามอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ยังระบุเองว่าไม่สามารถจดได้ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นหน่วยงานภาครัฐด้วยกันคงไม่ได้ถึงขั้นต้องฟ้องร้อง แต่ก็จะมีกระบวนการอยู่ว่าหากเกิดความขัดแย้ง หรือมีความเสียหายระหว่างหน่วยงานรัฐกับหน่วยงานรัฐด้วยกันว่าจะต้องทำอย่างไร เช่น มีการนำเรื่องเข้าครม. ต่างๆ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้ให้ทีมกฎหมายของอภ.ทำหนังสือไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่าเรื่องคำขอสิทธิบัตรกัญชานั้นสรุปแล้วมีผลอย่างไร หากกรมทรัพย์สินทางปัญญายืนยันว่าไม่มีผลกระทบก็จะได้ยึดตามนั้น เพราะถ้าการที่อภ.ลงทุนไป 120 ล้านบาท สุดท้ายหากเกิดปัญหาขึ้นแล้ว สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ตรวจสอบมาก็จะมีคำตอบให้ว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญายืนยันมาอย่างนี้

“ตอนนี้ทางอภ.ยังไม่ได้ถึงขั้นยุติการดำเนินการวิจัย สกัด รวมถึงการตั้งโรงงาน เพราะเรามีการชั่งน้ำหนัก 2 เรื่อง คือ 1.ถ้าเราชะลอเรื่องนี้ผลเสียคือเราจะไม่มีน้ำมันกัญชาใช้เลย กับ 2.ถ้าเราเดินหน้าต่อแล้วจะคุ้มหรือไม่ถ้าถูกบริษัทต่างชาติยื่นหนังสือตักเตือน หรือฟ้องเรา ก็คิดว่าเดินหน้าตามข้อ 1 ดีกว่าเพราะอย่างน้อยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมาที่ไปพบอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็บอกเองว่าไม่สามารถจดได้ แต่ก็ต้องทำหนังสือสอบถามอย่างเป็นทางการอีกครั้ง” นพ.โสภณ กล่าว และว่าเรื่องนี้ทางบอร์ด อภ.ยังไม่ได้มีการประชุมกัน แต่ว่าในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ทางอภ.จะมีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องสมุนไพร โดยมี 1 ห้องประชุมเล็กที่คุยกันเรื่องกัญชาก็จะนำเรื่องนี้มาพูดคุยด้วย

ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา  กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (13 พ.ย.) ครม. ได้รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติด ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แนวทางการปลดล็อกกัญชาก็จะนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ กัญชายังคงอยู่ในบัญชียาเสพติดประเภท 5 เหมือนเดิม  แต่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ โดยผู้ดำเนินการ ต้องเป็นหน่วยงานรัฐ และมีกำหนดระยะเวลาในการใช้ 5 ปี แต่ต้องมีกฎหมายลูกรองรับ ซึ่งอย.จะเร่งดำเนินการต่อไป

Advertisement

นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า  การควบคุมกัญชาใช้ในทางการแพทย์ ตามกรอบวางไว้ ว่า ผู้ดำเนินการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ครอบคลุมตั้งแต่การปลูก สายพันธุ์ พื้นที่เพาะปลูก เพื่อให้ได้กัญชาคุณภาพ นำสารสำคัญใช้ประโยชน์ทางการแพทย์  เพราะกัญชา เป็นพืชที่ดูดซึมธาตุเหล็ก ดังนั้น ต้องควบคุมการปลูกให้ดี และ ผู้ขออนุญาตปลูก ต้องเป็นนิติบุคคล หน่วยงานของรัฐ  มีโรงเรือนปิด ปลอดภัย  และมีการกำหนดปริมาณในการปลูก เพื่อให้พอกับความต้องการ แต่บุคคลทั่วไปไม่สามารถปลูกได้ เพราะกัญชายังถือเป็นยาเสพติด การขออนุมัติปลูกยังต้องผ่านคณะกรรมการยาเสพติดด้วย  ซึ่งขณะนี้ผู้ขออนุญาต และใช้ประโยชน์จากกัญชา ของกลางยาเสพติด มีมหาวิทยาลัยรังสิต และองค์การเภสัชกรรม

ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิณ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องของกัญชายังเป็นการต่อสู้ทางความคิดของแต่ละกลุ่มยังไม่มีใครพูดถึงภาพรวมของกัญชาทั้งหมด ยังคงพูดแต่เรื่องการใช้ การเข้าถึงว่าจะเป็นวิถีพื้นบ้านหรือใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ภายใต้การกำกับของแพทย์ หรือการใช้เพื่อรักษาตัวเอง ซึ่งประโยชน์ของกัญชาจะใช้เพื่อเป็นยาเสริม หรือเพิ่มคุณภาพชีวิตเราต้องเป็นคนตัดสินใจร่วมกัน โดยประมวลกฎหมายยาเสพติด ของป.ป.ส. และร่างพ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับสนช. มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือลดความผิดของผู้เสพ ให้เป็นผู้ป่วย แต่จะต้องควบคุมแค่ไหนต้องดูกรอบกฎหมาย ส่วนในเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่มาจากสารสกัดต้องดูเรื่องการรับรองกำกับว่าจะทำอย่างไร เป็นแบบแพทย์แผนไทย หรือแผนปัจจุบัน การวิจัย ตำรับยาที่ไม่ได้วิจัยแต่ใช้เป็นทางเลือก ทุกอย่างต้องใช้ให้สมดลและปลอดภัย

Advertisement

อ่านเพิ่มเติม

ภาค ปชช.ร้อง ‘บิ๊กตู่’ ช่วยประเทศชาติ ปม ‘สิทธิบัตรกัญชา’ จี้ ‘อภ.-ม.รังสิต’ ฟ้อง!!

11 คำขอสิทธิบัตรกัญชา ที่บริษัทต่างชาติยื่นขอกรมทรัพย์สินทางปัญญาในไทย

สนช.เลื่อนพิจารณากม.กัญชาหวั่นสิทธิ

ไบโอไทยจี้ทีมศก. แก้ปม ‘สิทธิบัตรกัญชา’ พร้อมแถลงเคลื่อนไหว 14 พ.ย.

นักวิชาการอิสระชี้ไม่ถูก! แนะผู้ป่วยฟ้องศาลร้องสิทธิบัตรกัญชา เอาผิดกรมทรัพย์สินฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image